ธุรกิจยัน “บริษัททัวร์” เครื่องมือกระตุ้นท่องเที่ยวดีที่สุด

รัฐบาลโดยกระทรวงการท่องเที่ยวฯประกาศชัดแล้วว่า ได้เจรจาคืนสิทธิ์โครงการ “ทัวร์เที่ยวไทย” จำนวน 800,000 สิทธิ์ พร้อมคืนงบฯ 4,000 ล้านบาท ให้สภาพัฒน์เรียบร้อยแล้ว คงเหลือไว้ให้บริษัทนำเที่ยวดำเนินการต่อ 200,000 สิทธิ์ ภายใต้กรอบงบประมาณ 1,000 ล้านบาท สิ้นสุดโครงการ 30 เมษายน 2565 นี้

ทั้งนี้ เนื่องจากประเมินแล้วว่า ด้วยสถานการณ์ของไวรัสโควิดที่ยังแพร่ระบาดต่อเนื่อง ทำให้คนไม่นิยมเดินทางท่องเที่ยวเป็นหมู่คณะ หรือเดินทางท่องเที่ยวผ่านบริษัทนำเที่ยว (บริษัททัวร์) โดยจะให้น้ำหนักกับโครงการ “เราเที่ยวด้วยกัน” เฟส 4 ภายใต้กรอบงบประมาณ 13,200 ล้านบาท ซึ่งคาดว่าจะเริ่มดำเนินการได้ในเดือนกุมภาพันธ์นี้

เอกชนตบเท้าพบ รมว.พิพัฒน์

ประเด็นดังกล่าวทำให้ภาคเอกชนท่องเที่ยวไม่ค่อยพอใจนัก เพราะโครงการ “ทัวร์เที่ยวไทย” เป็นโครงการเดียวที่ออกมาเพื่อวัตถุประสงค์ช่วยเหลือผู้ประกอบการบริษัทนำเที่ยว นับตั้งแต่อุตสาหกรรมท่องเที่ยวเจอวิกฤตโควิด หรือ 2 ปีเต็ม ๆ

ทันทีที่มีกระแสข่าวตัดลดสิทธิ์โครงการ “ทัวร์เที่ยวไทย” สมาคมธุรกิจท่องเที่ยวภายในประเทศ (สทน.) นำโดย “ธนพล ชีวรัตนพร” สมาคมไทยธุรกิจการท่องเที่ยว (ATTA) ที่นำโดย “ศิษฎิวัชร ชีวรัตนพร” และสมาคมโรงแรมไทย (THA) นำโดย “มาริสา สุโกศล หนุนภักดี” ได้นัดหมายขอเข้าพบ “พิพัฒน์ รัชกิจประการ” รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการท่องเที่ยวฯ ทันทีเมื่อสัปดาห์ที่ผ่านมา พร้อมทั้งขอขยายเวลาโครงการ “ทัวร์เที่ยวไทย” เพื่อช่วยเหลือผู้ประกอบการนำเที่ยว

เปิดทาง “ทัวร์เที่ยวไทย” เฟส 2

“ดร.อดิษฐ์ ชัยรัตนานนท์” เลขาธิการสมาคม ATTA กล่าวกับ “ประชาชาติธุรกิจ” ว่า การหารือดังกล่าวรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการท่องเที่ยวฯ ได้แจ้งให้ตัวแทนทั้ง 3 สมาคมรับทราบว่าจำเป็นต้องตัดงบประมาณคืนให้กับกระทรวงการคลัง และเพื่อให้เหมาะสมกับสถานการณ์ปัจจุบันและเป็นไปตามเงื่อนไขของการปิดบัญชีงบประมาณ

และเปิดทางให้นำเสนอโครงการใหม่ที่มีวัตถุประสงค์เพื่อช่วยเหลือบริษัทนำเที่ยว หรือ “ทัวร์เที่ยวไทย” เฟส 2 โดยถอดบทเรียนจาก “ทัวร์เที่ยวไทย” เฟส 1 ที่ไม่บรรลุเป้าหมาย แล้วเสนอเข้ามาใหม่ เพื่อให้เป็นโครงการที่สามารถขับเคลื่อนได้อย่างแท้จริงต่อไป

“ประเด็นดังกล่าวนี้ภาคเอกชนท่องเที่ยวต้องกลับมาร่วมประชุมหารือกัน และถอดบทเรียนความล้มเหลวของทัวร์เที่ยวไทย เฟส 1 และนำเสนอโครงการภายใต้เงื่อนไขใหม่ต่อไป” ดร.อดิษฐ์ย้ำ

“กฎ-กติกา” บล็อกจนเดินไม่ได้

“ชำนาญ ศรีสวัสดิ์” ประธานสภาอุตสาหกรรมท่องเที่ยวแห่งประเทศไทย (สทท.) กล่าวกับ “ประชาชาติธุรกิจ” ว่า ประเด็นสำคัญที่ทำให้โครงการ “ทัวร์เที่ยวไทย” เดินไม่ได้คือ กฎ กติกา ที่รัฐบาลกำหนดไว้นั้นไม่เอื้ออำนวย แถมยังเป็นอุปสรรคสุด ๆ ต่างจากโครงการ “เราเที่ยวด้วยกัน” ที่กฎ กติกาง่ายกว่า แถมยังแจกเงินสำหรับเป็นค่าอาหาร และสนับสนุนค่าตั๋วเครื่องบิน

“ต้องเข้าใจว่ากติกาที่ตั้งขึ้นมาแบบไม่เข้าใจกลไกที่แท้จริงของธุรกิจท่องเที่ยว ทำให้ไม่สามารถเดินต่อได้ ดันต่อก็ไม่เกิด ซึ่งที่ผ่านมาผมได้สะท้อนและนำเสนอเพื่อการปรับปรุงแก้ไขไปหลายครั้ง แต่ก็ไม่มีการเปลี่ยนแปลง สุดท้ายก็ไม่สำเร็จ เปิดโครงการมา 3-4 เดือนมีคนใช้บริการไม่ถึง 3 หมื่นสิทธิ์ จึงไม่แปลกที่รัฐบาลประเมินว่าตลอดโครงการ 1 ล้านสิทธิ์ไม่หมดแน่นอน”

“ชำนาญ” ยังบอกด้วยว่า สำหรับผู้ประกอบการในภาคอุตสาหกรรมท่องเที่ยวนั้น ตลอดเวลา 2 ปีที่ผ่านมาต้องบอกว่าการเปิด ๆ ปิด ๆ ให้บริการ และการกำหนดกฎ กติกา แบบไม่เข้าใจกลไกของธุรกิจท่องเที่ยวนั้น ทำให้ทุกคนเจ็บ เรียกว่า เจ็บแล้วเจ็บอีก

แนะทางออก 3 ซีนาริโอ

โดยเสนอด้วยว่า ทางรอดของ “ทัวร์เที่ยวไทย” ในเวลานี้มีแค่ 3 ซีนาริโอประกอบด้วย 1.กรณีรัฐคืนงบประมาณและคืนสิทธิ์ ควรนำเอางบประมาณไปรวมในโครงการ “เราเที่ยวด้วยกัน” เฟส 4 โดยเอาทุกสาขาอาชีพขึ้นไปอยู่ในเทียร์ 1 ไม่ว่าจะเป็นแพ็กเกจทัวร์ เช่น วันเดย์ทริป เป็นต้น รถนำเที่ยว เรือนำเที่ยว สปา ฯลฯ ไม่ใช่ให้สิทธิ์เฉพาะธุรกิจโรงแรมเท่านั้น

กล่าวคือไม่ต้องจองโรงแรมก็สามารถได้ส่วนลดซื้อตั๋วเครื่องบิน แพ็กเกจทัวร์ รถ เรือ สปา ฯลฯ ได้ เนื่องจากทุกบริการนั้นผ่านบริษัทนำเที่ยวอยู่แล้ว (ยกเว้นตั๋วเครื่องบิน) และปฏิบัติตามกฎหมายอยู่แล้ว

2.กรณีเดินหน้า “ทัวร์เที่ยวไทย” ต่อ ต้องตั้งคณะอนุกรรมการขับเคลื่อน โดยมีเอกชนโดยสภาอุตสาหกรรมท่องเที่ยวฯ (สทท.) เข้าไปมีส่วนร่วมในการคิดกลไกการขับเคลื่อน ตั้งกฎ กติกากันใหม่ให้เหมาะกับบริบทของธุรกิจท่องเที่ยว

และ 3.กรณีเปลี่ยนชื่อโครงการ อยากให้ใช้ชื่อโครงการ “เที่ยวคนละครึ่ง” ซึ่งเป็นโมเดลที่นายกรัฐมนตรี (พลเอกประยุทธ์ จันทร์โอชา) ทำให้ประสบความสำเร็จนั้นมาใช้กับสินค้าด้านการท่องเที่ยวทุก ๆ เซ็กเตอร์ด้วย

“ประเด็นสำคัญที่สุดคือ รัฐบาลควรเปิดทางให้เอกชนเข้าไปมีส่วนร่วมในการกำหนดเงื่อนไข รูปแบบ เพราะที่ผ่านมา ผมไม่เคยได้มีส่วนร่วมเลย”

“บริษัททัวร์” ทางออกที่ดีที่สุด

นอกจากนี้ ยังอยากเสนอให้รัฐบาลทำความเข้าใจ หรือเปลี่ยน perception ของคำว่า “ทัวร์เที่ยวไทย” และ “เที่ยวผ่านทัวร์” ใหม่ และเลิกคิดว่าคนไม่เที่ยวกับบริษัททัวร์ได้แล้ว เพราะประเด็นที่เข้าใจว่าเที่ยวผ่านทัวร์ไม่เวิร์กนั้นไม่เป็นความจริง หากยังเข้าใจแบบนี้แสดงว่าไม่เข้าใจกลไกของธุรกิจท่องเที่ยว

“ผมยืนยันว่าการเที่ยวผ่านบริษัทนำเที่ยว หรือบริษัททัวร์นั้น ยังดีและได้รับความนิยม”

พร้อมยืนยันว่า บริษัททัวร์คือ เครื่องมือที่ดีที่สุดสำหรับการกระตุ้นเศรษฐกิจและการท่องเที่ยว เพียงแต่ที่ผ่านมาคนใช้ไม่เป็น เหตุผลคือ 1.การเปิดตลาดใหม่ ๆ จำเป็นต้องใช้บริษัทนำเที่ยวในการนำร่องไปทดลองโปรดักต์และบริการ และจัดทัวร์ลงไป

ยกตัวอย่าง เช่น กระกระตุ้นท่องเที่ยวชุมชน ทำโฆษณา ประชาสัมพันธ์แค่ไหนคนก็ไม่ไป เพราะการเดินทางเข้าถึงแหล่งท่องเที่ยวซับซ้อน รวมถึงความเชื่อมั่นในเรื่องความปลอดภัยด้วย

2.ไม่มีนักท่องเที่ยวคนไหนไปเที่ยวได้เอง หมายความว่าทุกคนที่ไปเที่ยวภูเก็ต หรือเที่ยวกระบี่ พังงา หากต้องการออกไปล่องเรือ ก็จะต้องซื้อทัวร์ เช่น โปรแกรมเที่ยวหลีเป๊ะ 3 วัน 2 คืน เที่ยวกระบี่ 2 วัน 1 คืน ฯลฯ เป็นต้น บริการต่าง ๆ เหล่านี้ไม่ใช่บริษัททัวร์ไม่มีสิทธิ์ทำอยู่แล้ว

“คำว่าเที่ยวผ่านทัวร์ ไม่ได้หมายความว่านั่งรถบัส มีไกด์พาไปเที่ยว แต่บริบทในวันนี้ทุกคนสามารถซื้อตั๋วเครื่องบินไปเที่ยวภูเก็ต กระบี่ พังงา สมุย ฯลฯ จากนั้นไปซื้อบริการท่องเที่ยวในพื้นที่ เช่น เดย์ทริปไป 4 เกาะ, เดย์ทริปพายเรือคยัก เดย์ทริปปีนผา หรือฮาล์ฟเดย์ทริปล่องทะเลดูพระอาทิตย์ตก เป็นต้น ซึ่งประเด็นต่าง ๆ เหล่านี้หลายคนในบ้านเมืองเรายังไม่เข้าใจ”

และระบุด้วยว่า แม้ว่าจะยังมีการแพร่ระบาดของไวรัสโควิดอยู่ต่อเนื่อง แต่ยืนยันว่าดีมานด์การเดินทางท่องเที่ยวของคนไทยยังมีสูง เพียงแต่ต้องออกแบบรูปแบบการกระตุ้นให้สอดรับกับการเดินทางบริบทใหม่ และเข้ากลไกใจของธุรกิจเท่านั้น