มช.จับมือ ม.มัณฑะเลย์ จัดเวที “พม่าศึกษา” ถกสถานการณ์การเมือง-โควิด-เศรษฐกิจ

วันนี้ (5 มีนาคม 2564) มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ โดยศูนย์ภูมิภาคด้านสังคมศาสตร์และการพัฒนาอย่างยั่งยืน คณะสังคมศาสตร์ กำหนดจัดการประชุมวิชาการนานาชาติ “พม่าศึกษา” ครั้งที่ 3 (ICBMS 3) ในหัวข้อ “Myanmar/Burma in the Changing Southeast Asian Context ร่วมกับ มหาวิทยาลัยมัณฑะเลย์ ระหว่างวันที่ 5 – 7 มีนาคม 2564 ณ สำนักบริการวิชาการ มหาวิทยาลัยเชียงใหม่

สำหรับมีวัตถุประสงค์ของการจัดประชุม เพื่อสร้างความรู้ความเข้าใจเกี่ยวกับการเปลี่ยนแปลงทางเศรษฐกิจ สังคม การเมือง วัฒนธรรม และสิ่งแวดล้อมของสหภาพเมียนมา ตลอดจนสร้างความเข้มแข็งทางวิชาการให้นักวิชาการชาวเมียนมารุ่นใหม่ ส่งเสริมให้มีเวทีสำหรับการแลกเปลี่ยนทางวิชาการระหว่างนักวิชาการเมียนมา นักวิชาการไทยและภูมิภาคอื่น ๆ ที่มีความสนใจในประเด็นพม่าศึกษา ได้พบปะแลกเปลี่ยนความรู้และประสบการณ์ร่วมกัน

การประชุม “พม่าศึกษา” ครั้งนี้ ได้รับเกียรติจากคุณสุพัตรา ศรีไมตรีพิทักษ์ เอกอัครราชทูตไทยประจำกรุงย่างกุ้ง และ Professor Dr. Thein Win, Acting Rector of Univesity of Mandalay and Director General, Department of Higher Education, Ministry of Education ร่วมเป็นประธานเปิดการประชุม ผ่านระบบ ZOOM โดยมีศาสตราจารย์พิเศษ ดร. สุรเกียรติ์ เสถียรไทย อดีตรองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการต่างประเทศ ประธานคณะมนตรีเพื่อสันติภาพและความปรองดองแห่งเอเชีย Asian Peace Reconciliation Council (APRC) เป็นองค์ปาฐกแสดงปาฐกถาพิเศษ เรื่อง “Economic Development and Myanmar in the New Geopolitical Landscape” ผ่านระบบ ZOOM

ดร.ชยันต์ วรรธนะภูติ หัวหน้าศูนย์ศึกษาชาติพันธุ์และการพัฒนา คณะสังคมศาสตร์ มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ เปิดเผยว่า การประชุม “พม่าศึกษา” กำหนดจัดประชุมเป็นประจำทุกๆ 2 ปี สำหรับการประชุมในครั้งนี้ นับเป็นการจัดประชุมครั้งที่ 3 มีการนำเสนอบทความ 57 บทความ และการจัดเวทีเสวนาโต๊ะกลม 7 เวที นอกจากนี้ ภายในงานยังมีการจัดกิจกรรมอื่นๆ ที่สร้างสีสัน อาทิเช่น การแสดงนิทรรศการและการเปิดตัวหนังสือของสำนักพิมพ์ เป็นต้น

อย่างไรก็ตาม การประชุมครั้งนี้มีประเด็นสำคัญที่ต้องให้ความสำคัญภายใต้สถานการณ์ปัจจุบันในประเทศเมียนมาคือ การต่อต้าน และการเรียกร้องประชาธิปไตย โดยเฉพาะคนรุ่นใหม่ในกลุ่ม Gen Z ซึ่งเป็นที่น่าสังเกตว่ากลุ่มผู้หญิงมีความตื่นตัวและได้ออกมาเคลื่อนไหวทางการเมืองกันมากขึ้น โดยในแต่ละประเด็นของการประชุมครั้งนี้นับว่าสำคัญมากทั้งด้านเศรษฐกิจ สังคม การเมือง ประชาธิปไตย ความสงบ รวมถึงสถานการณ์โควิด-19 ซึ่งจะนำไปสู่กระบวนการสร้างความเข้มแข็งทางวิชาการระหว่างไทยและเมียนมา รวมถึงภูมิภาคอื่นๆ ที่จะมีความเข้าใจต่อสถานการณ์ของเมียนมาได้ยิ่งขึ้นทั้งในสถานการณ์ปัจจุบัน และแนวโน้มในอนาคต