เวิลด์แบงก์เตือน หลายชาติขึ้นดอกเบี้ย ยิ่งกดศก.โลกถดถอย – เงินเฟ้อก็อยู่

REUTERS/Johannes P. Christo/File Photo

หลายประเทศ รวมถึงชาติมหาอำนาจทางเศรษฐกิจพากันใช้ยาแรงคุมเงินเฟ้อ ด้วยการขึ้นดอกเบี้ยอัตราสูงอย่างต่อเนื่อง ล่าสุด เวิลด์แบงก์ออกโรงเตือนแล้ว ว่ารังแต่จะทำให้เศรษฐกิจโลกถดถอย และเสี่ยงว่าเงินเฟ้อจะไม่ลดด้วย

วันที่ 16 กันยายน 2565 เดอะการ์เดียน รายงานว่า ธนาคารโลก เผยแพร่รายงานการศึกษาและประเมินสถานการณ์เศรษฐกิจโลกในปี 2566 ในหัวข้อ “เศรษฐกิจถดถอยทั่วโลกใกล้มาถึงหรือยัง” หรือ Is a Global Recession Imminent? ระบุว่า ประเทศที่มีเศรษฐกิจขนาดใหญ่ที่สุดในโลก ได้แก่ สหรัฐอเมริกา จีน และกลุ่มยูโรโซน ค่อยๆ มีอัตราการขยายตัวทางเศรษฐกิจดิ่งลง ซึ่งแม้ส่งผลกระทบระดับกลางก็อาจทำให้เศรษฐกิจโลกในปีหน้าเข้าสู่ภาวะถดถอยได้

(FILES) the World Bank headquarters in Washington, DC. (Photo by Stefani Reynolds / AFP)

เมื่อประเมินว่า เศรษฐกิจโลกในขณะนี้ชะลอตัวอย่างฮวบฮาบที่สุดนับจากช่วงหลังเศรษฐกิจถดถอยที่โลกเริ่มฟื้นตัวในปี 1970 ความเชื่อมั่นของผู้บริโภคดิ่งพรวดลงไปแล้วมากกว่าช่วงเศรษฐกิจโลกถดถอยครั้งใด ๆ ก่อนหน้านี้

“การขยายตัวของเศรษฐกิจชะลอตัวชัดเจน และมีแนวโน้มจะชะลอต่อไป อีกหลายประเทศจะเข้าสู่ภาวะเศรษฐกิจถดถอย” นายเดวิด มัลพาสส์ ประธานเวิลด์แบงก์กล่าว และแสดงความวิตกกังวลว่า แนวโน้มนี้จะเกิดผลลบต่อผู้คนในตลาดเกิดใหม่และประเทศกำลังพัฒนา

ธนาคารโลกทราบดีว่า ที่ธนาคารกลางของชาติต่าง ๆ พากันขึ้นดอกเบี้ย เพราะต้องการฉุดเงินเฟ้อลงในระดับเท่ากับช่วงก่อนเกิดโรคระบาดโควิด จึงบวกดอกเบี้ยเข้าไปอีก 2% แต่ภาวะเงินเฟ้ออาจจะอยู่ในอัตราสูง 5% ต่อไปในปี 2566 หรือคิดเป็นสองเท่าจากค่าเฉลี่ย 5 ปีก่อนเกิดโรคระบาด

กลุ่มเปราะบางในสเปน REUTERS/Nacho Doce

แต่การขึ้นดอกเบี้ยเช่นนั้น จะไปเพิ่มแรงกดดันต่อตลาดการเงิน ให้ชะลอตัว และฉุดอัตราการเจริญเติบโตของผลิตภัณฑ์มวลรวมในประเทศลงเหลือ 0.5% หรืออาจหดตัว 0.4% ตามการวัดอัตราต่อคน ซึ่งจะถือว่าไปแตะระดับที่เข้าสู่ภาวะถดถอยทั่วโลกแล้ว

มัลพาสส์ ประธานเวิลด์แบงก์กล่าวว่า เวิลด์แบงก์ขอเรียกร้องให้ผู้กำหนดนโยบายเปลี่ยนการมุ่งเน้นการลดการบริโภคไปเป็นการส่งเสริมการผลิต

สำหรับภาวะถดถอยก่อนหน้านี้แสดงถึงความเสี่ยงที่จะเปิดทางให้เงินเฟ้อคงอยู่ต่อไปยาว ส่วนการขยายตัวก็อ่อนแอ ดังที่จะเห็นได้จากช่วงสถานการณ์ถดถอยปี 2525 (ค.ศ.1982) ทำให้เกิดวิกฤตหนี้มากกว่า 40 ครั้ง และยังสร้างทศวรรษที่การเจริญเติบโตทางเศรษฐกิจสูญหายไปในกลุ่มประเทศกำลังพัฒนาด้วย

A trader looks over his cell phone outside the New York Stock Exchange, Wednesday, Sept. 14, 2022 (AP Photo/Mary Altaffer)

ไอย์แฮน โคเซ รองประธานเวิลด์แบงก์ กล่าวว่า การใช้นโยบายตรึงเข้มทางการเงินและการคลังอาจช่วยลดเงินเฟ้อลงได้ แต่สิ่งที่จะเกิดขึ้นในเวลาเดียวกันโดยธรรมชาติของมาตรการนี้คือ จะไปกดการขยายตัวของเศรษฐกิจโลก

รายงานแนะนำให้ธนาคารกลางของประเทศต่าง ๆ ต่อสู้กับภาวะเงินฟ้อด้วยการสื่อสารการตัดสินใจทางนโยบายอย่างชัดเจน และบรรดาผู้บัญญัตินโยบายควรวางแผนระยะกลางที่จะผ่อนคลายให้กับกลุ่มครัวเรือนที่มีความเปราะบาง

การเผยแพร่รายงานของเวิลด์แบงก์ในช่วงเวลานี้มีขึ้นหลังจากธนาคารกลางยุโรปเพิ่งขึ้นอัตราดอกเบี้ยรอบใหม่ที่ 0.75% และธนาคารกลางสหรัฐมีกำหนดประชุมวันที่ 21 ก.ย. ท่ามกลางการคาดหมายว่าจะขึ้นอีก 0.75% อย่างต่อเนื่องเป็นครั้งที่สาม

…..