Pussy Riot วงพังก์รัสเซีย ปล่อยเพลงใหม่ เรียกร้องดำเนินคดี “ปูติน”

Pussy Riot ดนตรีพังก์
แฟ้มภาพ Photo by DENIS LOVROVIC / AFP

Pussy Riot ปล่อยเพลงใหม่ ชื่อ “Mama, Don’t Watch TV” ประท้วงสงครามรัสเซียรุกรานยูเครน พร้อมเรียกร้องลงโทษปูตินและเจ้าหน้าที่ที่เกี่ยวข้อง

วันที่ 26 ธันวาคม 2565 บลูมเบิร์ก รายงานว่า วงดนตรีพังก์สัญชาติรัสเซีย Pussy Riot (พุชชี ไรออต)  ปล่อยเพลงใหม่เมื่อวันที่ 24 ธ.ค.ที่ผ่านมา มีเนื้อหาประท้วงสงครามที่รัสเซียเข้ารุกรานยูเครน พร้อมเรียกร้องให้ประธานาธิบดีวลาดิมีร์ ปูติน ต้องถูกดำเนินคดีทางกฎหมาย ในฐานะผู้ก่ออาชญากรรมสงคราม

ในถ้อยแถลงที่เผยแพร่พร้อมกับเพลงที่มีชื่อว่า Mama, Don’t Watch TV ระบุว่า รัฐบาลของปูตินเป็น “ระบอบการปกครองของผู้ก่อการร้าย” และประธานาธิบดีปูติน รวมถึงเจ้าหน้าที่ นายพล และผู้โฆษณาชวนเชื่อทั้งหลายในรัสเซียเป็น “อาชญากรสงคราม”

ในแถลงการณ์มีข้อความว่า “เพลงนี้เป็นแถลงการณ์ของเรา เพื่อต่อต้านสงครามที่ปูตินเริ่มขึ้นในยูเครน

“ในวันที่ 24 กุมภาพันธ์ 2565 รัสเซียเริ่มโจมตียูเครนเป็นวงกว้าง

“ระเบิดและจรวดของรัสเซียทำลายบ้าน โรงเรียน โรงพยาบาล ทำลายเมืองและทำลายชีวิตชาวยูเครน”

“เราเชื่อว่าระบอบการปกครองของปูตินเป็นระบอบก่อการร้าย และปูติน เจ้าหน้าที่ นายพล และผู้โฆษณาชวนเชื่อของเขาล้วนเป็นอาชญากรสงคราม”

ส่วนคอรัสของเพลงมาจากคำพูดของทหารเกณฑ์ชาวรัสเซียที่ถูกจับ ซึ่งมีรายงานว่า เขาบอกกับแม่ของเขาทางโทรศัพท์ว่า “แม่ ที่นี่ไม่มีพวกนาซี อย่าดูทีวี”

มิวสิกวิดีโอของเพลงนำเสนอฉากจากสงครามที่กำลังดำเนินอยู่ควบคู่ไปกับการแร็ปเนื้อเพลงขณะที่สวมไหมพรมสีสันสดใสอันเป็นเอกลักษณ์ของพวกเขา

ในถ้อยแถลงของวง มี 3 ข้อเรียกร้อง คือ ให้ประเทศต่างๆ หยุดการซื้อก๊าซและน้ำมันของรัสเซีย ยุติการขายอาวุธและกระสุนแก่ตำรวจรัสเซีย และขอให้ยึดบัญชีธนาคารและทรัพย์สินของเจ้าหน้าที่รัสเซียและผู้มีอำนาจและการลงโทษบุคคล

รวมถึงร้องต่อศาลระหว่างประเทศว่า “ปูติน และเจ้าหน้าที่โฆษณาชวนเชื่อของรัฐรัสเซีย เจ้าหน้าที่กองทัพและทุกคนต้องรับผิดชอบต่อการฆ่าล้างเผ่าพันธุ์ในยูเครน”

ทั้งนี้ Pussy Riot  เป็นวงพังก์ที่รู้จักจากการจัดเวทีประท้วงต่อต้านการกระทำของรัฐบาลและเจ้าหน้าที่ของรัสเซีย ในปี 2564 กระทรวงยุติธรรมของรัสเซียกำหนดให้นาเดซดา ทอโลกอนิโกวา (Nadezhda Tolokonnikova) หนึ่งในสมาชิกของกลุ่มเป็น “ตัวแทนจากต่างชาติ” ซึ่งเป็นส่วนหนึ่งของความพยายามยับยั้งผู้เห็นต่างจากรัฐบาล

การแปะป้ายว่าสมาชิกวงเป็น “ตัวแทนจากชาติ” สื่อถึงการตรวจสอบเพิ่มเติมของรัฐบาลและมีความหมายเชิงดูถูกที่รุนแรง ซึ่งอาจทำให้เสียชื่อเสียงผู้รับได้

ก่อนหน้านี้ นาเดซดา ทอโลกอนิโกวา เป็นที่รู้จักจากการเข้าร่วมการประท้วงในปี 2555 ภายในวิหาร Christ The Saviour ในมอสโก หลังจากนั้นเธอต้องโทษจำคุกเกือบ 2 ปี

มาเรีย อัลโยคีนา สมาชิกร่วมวงอีกคนถูกควบคุมตัวในมอสโกในปี 2564 หลังจากการประท้วงเรียกร้องให้ปล่อยตัวอเล็กเซ นาวาลนี ผู้นำฝ่ายค้านของรัสเซีย

่ส่วนในปี 2561 สมาชิก 4 คนของกลุ่มบุกเข้าไปในสนามระหว่างการแข่งขันฟุตบอลโลกรอบสุดท้ายที่จัดขึ้นในกรุงมอสโก เพื่อประท้วงความโหดร้ายของตำรวจ จากเหตุการณ์นั้นพวกเขาจึงต้องรับโทษจำคุก 15 วัน