
การยกทัพทหารรัสเซียบุกรุกรานก่อสงครามในยูเครนดำเนินมาครบ 1 ปีในวันนี้ โดยยังไม่มีสัญญาณให้เห็นว่าสงครามจะจบลงในเวลาอันใกล้
หลังวันที่ 24 กุมภาพันธ์ 2022 ชีวิตของผู้ยูเครนก็ไม่เหมือนเดิม เช่นกันกับพื้นที่ ทรัพย์สิน และทรัพยากรที่ถูกทำลายโดยอาวุธยุทโธปกรณ์ และประเทศต่าง ๆ ทั่วโลกก็ได้รับผลกระทบจากราคาสินค้าที่เพิ่มสูง ประสบภาวะข้าวยากหมากแพง ค่าครองชีพสูงจนใช้ชีวิตลำบาก
- มหาดไทยประกาศ ขอสละสัญชาติไทย 75 ราย แห่ไปขอถือสัญชาติสิงคโปร์
- ปลื้ม 4 มหาวิทยาลัยไทยติด TOP 100 ของโลกด้านความยั่งยืน
- บัตรสวัสดิการแห่งรัฐ 1 มิ.ย.นี้ ใครมีสิทธิรับวงเงินค่าซื้อสินค้า 900 บาท
“ประชาชาติธุรกิจ” ชวนสำรวจข้อมูลที่ระบุความเสียหายหลายด้านที่เกิดขึ้นในยูเครนในเวลา 1 ปีที่ผ่านมา
ผู้คนมากมายเสียชีวิต หรือต้องหนีตายจากบ้าน
ระหว่างการสู้รบตลอด 1 ปีที่ผ่านมา มีข่าวออกมาเป็นระยะ ๆ ว่าทหารของแต่ละฝ่ายได้ทำลายทหารฝ่ายตรงข้ามไปได้กี่คน เป็นนัยประกาศความแข็งแกร่งของตนเอง อย่างไรก็ตาม ทั้งฝ่ายรัสเซียและยูเครนปกปิดจำนวนกำลังพลที่เสียชีวิต ดังนั้น จึงไม่สามารถระบุได้ชัดเจนว่าทหารทั้งสองฝ่ายเสียชีวิตไปแล้วจำนวนเท่าไรแน่ มีเพียงตัวเลขคาดการณ์เท่านั้น ซึ่งสื่อหลายสำนักรายงานตัวเลขคาดการณ์จำนวนทหารที่เสียชีวิตของทั้งสองฝ่ายรวมกันอยู่ในช่วงระหว่าง 200,000–300,000 ราย
ส่วนพลเรือนหรือประชาชนทั่วไปที่เสียชีวิตจากการเข้าร่วมรบ มีตัวเลขจำนวนผู้เสียชีวิตจาก คณะมนตรีสิทธิมนุษยชนแห่งสหประชาชาติ (United Nations High Commissioner for Human Rights : OHCHR) ระบุว่า พลเรือนชาวยูเครนเสียชีวิตไปแล้วอย่างน้อย 8,006 ราย และบาดเจ็บ 13,287 คน ซึ่งพลเรือนช่วงวัยผู้ใหญ่ที่เสียชีวิตเป็นเพศชาย 61.1% เพศหญิง 39.9% และเด็ก (ไม่แยกเพศ) เสียชีวิตอย่างน้อย 487 คน บาดเจ็บ 954 คน

“ตัวเลขเหล่านี้ซึ่งเราเผยแพร่ในวันนี้ แสดงให้เห็นความสูญเสียและความทุกข์ทรมานที่เกิดขึ้นกับผู้คน นับตั้งแต่การโจมตีด้วยอาวุธของรัสเซียเริ่มขึ้นเมื่อวันที่ 24 กุมภาพันธ์ปีที่แล้ว ผมเห็นความทุกข์ทรมานนั้นด้วยตัวเองเมื่อตอนที่ผมไปเยือนยูเครนในเดือนธันวาคม ข้อมูลของเราเป็นเพียงยอดของภูเขาน้ำแข็งเท่านั้น พลเรือนไม่สามารถทานทนได้กับการขาดแคลนไฟฟ้าและน้ำในช่วงฤดูหนาว ผู้คนเกือบ 18 ล้านคนกำลังลำบากแสนสาหัสและต้องการความช่วยเหลือด้านมนุษยธรรมอย่างมาก ประชาชนประมาณ 14 ล้านคนต้องพลัดถิ่นจากบ้านของพวกเขา” โวลเกอร์ เติร์ก (Volker Türk) ข้าหลวงใหญ่สิทธิมนุษยชนแห่งสหประชาชาติ กล่าว
ระบบสาธารณสุขถูกพุ่งเป้าทำลาย
เมื่อวันที่ 21 กุมภาพันธ์ที่ผ่านมา Physicians for Human Rights (PHR) องค์กรไม่แสวงผลกำไรที่ใช้ข้อมูลทางการแพทย์ วิทยาศาสตร์ และกฎหมาย เพื่อการป้องสิทธิมนุษยชน ร่วมกับพันธมิตรอีก 4 องค์กร ได้ เผยแพร่รายงาน การโจมตีของรัสเซียที่ทำลายระบบสาธารณสุขของยูเครน
รายงานระบุว่า ระหว่างวันที่ 24 กุมภาพันธ์ ถึง 31 ธันวาคม 2022 ทีมวิจัยมีการบันทึกข้อมูลการโจมตีระบบสาธารณสุขของยูเครนทั้งหมด 707 ครั้ง
ในจำนวนนี้มีการโจมตี 292 ครั้งที่สร้างความเสียหายหรือทำลายโรงพยาบาลและคลินิกจำนวน 218 แห่ง มีการโจมตีรถพยาบาล 65 ครั้ง การโจมตีโครงสร้างพื้นฐานด้านสุขภาพอื่น ๆ เช่น ร้านขายยา ศูนย์โลหิต คลินิกทันตกรรม ศูนย์วิจัย ฯลฯ 181 ครั้ง และการโจมตีเจ้าหน้าที่สาธารณสุข 86 ครั้ง โดยมีเจ้าหน้าที่สาธารณสุขเสียชีวิต 62 คน บาดเจ็บ 52 คน ขณะที่อีกหลายคนถูกคุกคาม กักขัง จับเป็นตัวประกัน และถูกบังคับให้ทำงานให้รัสเซีย
เศรษฐกิจยูเครนเสียหาย จีดีพีลด 30%
ปี 2021 ยูเครนมีมูลค่าผลิตภัณฑ์มวลรวมในประเทศ (จีดีพี) 200,100 ล้านดอลลาร์สหรัฐ แต่เมื่อโดนรัสเซียรุกราน เศรษฐกิจของรัสเซียก็เสียหาย ในปี 2022 มูลค่าจีดีพีของรัสเซียลดลงประมาณ 30% หรือสูญเสียไปประมาณ 60,030 ล้านดอลลาร์สหรัฐ
ยูเลีย ซีฟรีเดนโก (Yulia Svyrydenko) รัฐมนตรีกระทรวงเศรษฐกิจของยูเครน กล่าวในการแถลงข่าว เมื่อต้นเดือนมกราคม 2023 ว่า “ในปี 2022 เศรษฐกิจยูเครนสูญเสียและเสียหายครั้งใหญ่ที่สุดในประวัติศาสตร์นับตั้งแต่มีเอกราช (เมื่อปี 1991)”
ถึงอย่างนั้น จีดีพีที่หดตัว 30% ถือว่าไม่แย่มากเท่าที่มีคาดการณ์กันไว้ว่าจะหดตัวราว 40-50% และแม้จะอยู่ท่ามกลางเพลิงสงครามแต่รัฐบาลยูเครน เก็บภาษี ได้ถึง 36% ของจีดีพี ซึ่งกองทุนการเงินระหว่างประเทศ (International Monnetary Fund : IMF) บอกว่าการเก็บภาษีได้ขนาดนี้เป็นสิ่งที่ “น่าอัศจรรย์” สำหรับประเทศที่กำลังเผชิญสงคราม
สำหรับในปี 2023 ที่สงครามยังดำเนินต่อไป IMF ประเมิน ว่า เศรษฐกิจยูเครนจะเข้าสู่การฟื้นตัวอย่างค่อยเป็นค่อยไป เนื่องจากยูเครนกำลังปรับตัวกับภาวะปกติใหม่ท่ามกลางการรุกรานของยูเครน

สิ่งแวดล้อมแวดล้อมเสียหาย ต้องใช้เงินและเวลาฟื้นฟูระยะยาว
สงครามในยูเครนได้ทำลายสิ่งแวดล้อม และเป็นเหตุให้เกิดผลกระทบทางสิ่งแวดล้อมเป็นวงกว้าง
สำนักข่าว Politico ในเยอรมนี รายงานเมื่อวันที่ 21 กุมภาพันธ์ 2023 ว่า การสู้รบในรัสเซียได้ทำลายพื้นที่การเกษตรเป็นวงกว้าง ทำลายป่าไม้ รวมถึงอุทยานแห่งชาติ และสร้างความเสียหายต่อโรงงานอุตสาหกรรมเป็นเหตุให้เกิดมลพิษปนเปื้อนทางอากาศ น้ำ และดินอย่างหนัก ประชาชนผู้อยู่อาศัยในพื้นที่ใกล้เคียงต้องรับสารเคมีที่เป็นพิษและต้องใช้น้ำที่ปนเปื้อนสารเคมี และการทิ้งระเบิดรอบโรงไฟฟ้านิวเคลียร์ซาโปริชเชีย (Zaporizhzhia) ซึ่งเป็นโรงไฟฟ้าที่ใหญ่ที่สุดในยุโรปอยู่เป็นประจำ ทำให้มีความเสี่ยงมากที่จะเกิดเหตุโรงไฟฟ้านิวเคลียร์ระเบิด
รัสลัน สตริเลตส์ (Ruslan Strilets) รัฐมนตรีกระทรวงสิ่งแวดล้อมของยูเครน บอกกับ Politico ผ่านทางอีเมล์ว่า จำนวนกรณีความเสียหายต่อสิ่งแวดล้อมทั้งหมดอยู่ที่ 2,300 กรณี ซึ่งกระทรวงสิ่งแวดล้อมยูเครนประเมินมูลค่าความเสียหายและผลกระทบทั้งหมดไว้ที่ 51,450 ล้านดอลลาร์สหรัฐ คิดเป็นประมาณ 1.8 ล้านล้านบาท
กรณีความเสียหายที่เกิดขึ้นจำนวน 1,078 กรณี มีการส่งมอบเอกสารให้หน่วยงานบังคับใช้กฎหมายแล้ว ซึ่งเป็นส่วนหนึ่งของความพยายามของยูเครนที่จะดำเนินคดีในศาลเพื่อให้รัฐบาลรัสเซียรับผิดชอบความเสียหาย
องค์การเพื่อความร่วมมือทางเศรษฐกิจและการพัฒนา (Organisation for Economic Co-operation and Development : OECD) ประเมินไว้ตั้งแต่ปีที่แล้วว่า ความเสียหายที่เกิดกับป่าไม้ ระบบนิเวศทางบกและทางทะเล โรงงานอุตสาหกรรม โครงสร้างพื้นฐานด้านการขนส่ง อาคารบ้านเรือน ตลอดจนโครงสร้างพื้นฐานด้านการจัดการน้ำ สุขาภิบาล และการจัดการของเสีย จะมีผลกระทบต่อเนื่องระยะยาวต่อสุขภาพของมนุษย์และระบบนิเวศ เช่น ความเสี่ยงที่มนุษย์จะป่วยเป็นมะเร็งและโรคระบบทางเดินหายใจ ซึ่งไม่ใช่เพียงแค่ประชาชนในยูเครนเท่านั้นที่จะได้รับผลกระทบ แต่ยังเป็นความเสี่ยงของประชาชนในประเทศใกล้เคียง ซึ่งรวมถึงรัสเซียเองด้วย
- 1 ปี สงครามยูเครน : สหประชาชาติมีมติท่วมท้นประณามรัสเซียรุกราน
- รัสเซีย ยูเครน : 5 ภาพถ่ายก่อนสงคราม การรุกรานที่ทำลายสันติสุขพลเรือน
- รัสเซีย ยูเครน : 1 ปี แห่งสงคราม ความแหลกลาญที่ยังไม่จบ
- เศรษฐกิจรัสเซีย 2565 หดตัว 2.1% ส่งออกน้ำมัน-ก๊าซช่วยเจ็บน้อยกว่าคาด