“โรคพิการทางหู” ปัญหาใหญ่เด็กรุ่นใหม่ “ออสซี่” ชูธง “ฮับนวัตกรรม”

การสูญเสียการได้ยิน หรือ “โรคพิการทางหู” อาจไม่ใช่ประเด็นปัญหาใหม่ของโลก หากแต่ปัจจุบันมีไม่กี่ประเทศที่ยกให้เป็นประเด็นสำคัญและนำมาวิเคราะห์ พร้อมหาวิธีแก้ไขอย่างจริงจัง “ออสเตรเลีย” เป็นหนึ่งในประเทศพันธมิตรของประเทศไทย และภูมิภาคเอเชียที่ผลักดันด้านการวิจัยและพัฒนา (R&D)เพื่อเพิ่มคุณภาพชีวิตของประชากร และบรรเทาผลกระทบทางเศรษฐกิจในทางอ้อมจากความพิการทางหู

ในการประชุมสุดยอด “ออสเตรเลีย-อาเซียน” ที่จะจัดขึ้น 13 มีนาคมนี้ที่เมืองซิดนีย์ หนึ่งในประเด็นที่รัฐบาลออสเตรเลียให้ความสำคัญที่จะพัฒนาความร่วมมือในภูมิภาค คือ การผลักดันให้ออสเตรเลียเป็นศูนย์กลางที่มีความเชี่ยวชาญด้าน “เทคโนโลยีและนวัตกรรม” ปัญหาความบกพร่องทางหู เพื่อช่วยเหลือและถ่ายทอดความรู้ความเชี่ยวชาญไปสู่ประเทศพันธมิตรอาเซียน

โดยจะเป็นความร่วมมือระหว่าง”ศูนย์กลางการได้ยินแห่งออสเตรเลีย” มหาวิทยาลัยแมคควอรี่ในซิดนีย์ และบริษัท Cochlear ผู้เชี่ยวชาญด้านระบบประสาทหูเทียมจากออสเตรเลีย เพื่อพัฒนาอุตสาหกรรมด้านสุขภาพภายใต้ผลิตภัณฑ์ที่มีเทคโนโลยีขั้นสูง

ก่อนหน้านี้ องค์การอนามัยโลก (WHO) เคยประมาณการเกี่ยวกับปัญหาการสูญเสียการได้ยินที่เกิดขึ้นทั่วโลกว่าอยู่ใน “ระดับพิการ” ทั้งยังมีแนวโน้มว่าจะเพิ่มมากขึ้นเรื่อย ๆ ในอนาคต

โดยผลการวิเคราะห์จากงานวิจัยในช่วง 5 ปีที่ผ่านมา พบว่า มีประชากรประมาณ 360 ล้านคน หรือ 5.3% จากประชากรโลก 7,300 ล้านคน มีปัญหาสูญเสียการได้ยินในระดับพิการ ซึ่งถือเป็นระดับที่รุนแรงที่สุด

สอดคล้องกับงานวิจัยของ “Cochlear” พบว่าปัจจุบันปัญหา “โรคพิการทางหู” มีมากกว่า 5% ของประชากรโลก ทั้งยังมีแนวโน้มเพิ่มขึ้นต่อเนื่อง โดยเฉพาะในภูมิภาคเอเชีย-แปซิฟิกที่ประเมินว่าในปี 2020 จะเพิ่มขึ้นเป็น 64 ล้านคน จาก 47 ล้านคนในปัจจุบัน และจะเพิ่มขึ้นถึง 95 ล้านคนในปี 2050

ความน่าสนใจคือ ปัจจุบันกลุ่มผู้พิการทางหูที่พบใน “วัยผู้ใหญ่” ส่วนใหญ่เกิดขึ้นในกลุ่มประเทศพัฒนาแล้ว เช่น สหรัฐอเมริกา ออสเตรเลีย นิวซีแลนด์ และสหราชอาณาจักร โดยกลุ่มอายุที่พบมากที่สุดคือ ระหว่าง 65-79 ปี

ขณะที่กลุ่มผู้พิการใน “วัยเด็ก” กลับพบมากที่สุดในกลุ่มประเทศกำลังพัฒนา โดยมีอายุระหว่าง 3-17 ปี ซึ่งส่วนใหญ่เกิดขึ้นในภูมิภาคเอเชีย-แปซิฟิกสูงที่สุด อันดับหนึ่ง ได้แก่ ศรีลังกา ตามด้วยอินโดนีเซีย และจีน เป็นต้น

แม้แต่ “สิงคโปร์” ที่ขึ้นชื่อว่าเป็นประเทศพัฒนาแล้วก็พบว่ากลุ่มผู้พิการทางหูส่วนใหญ่อยู่ในกลุ่มอายุระหว่าง 3-17 ปี

นอกจากนี้พบว่าผู้พิการทางหูยังพบมากในเด็กที่อายุต่ำกว่า 3 ปี โดยประเทศที่พบมากที่สุดคือ “อินโดนีเซีย” เกือบ 20% ของประชากร

สาเหตุสำคัญมาจากการขาดความรู้ความเข้าใจในการมีบุตร รวมไปถึงขาดความพร้อมและศักยภาพของกลุ่มแพทย์ในประเทศด้วย

นัยสำคัญของข้อมูลเหล่านี้คือ “ความพิการทางหูในกลุ่มวัยเด็ก พบว่ามีความเสี่ยงและส่งผลกระทบกับทางเศรษฐกิจของประเทศ มากกว่ากลุ่มผู้พิการทางหูในวัยสูงอายุ”

ผู้แทนจากฝ่ายวิจัยของ Cochlear อธิบายว่า ผลกระทบที่เกิดจากความพิการทางหูในทางตรง ก็คือค่าใช้จ่ายด้านปัญหาสุขภาพของแต่ละครอบครัว

สำหรับกลุ่มประเทศกำลังพัฒนาและยากจนเป็นไปได้ว่าค่าใช้จ่ายเหล่านี้จะถูกผลักให้เป็นภาระของภาครัฐ ด้วยการเพิ่มสวัสดิการรองรับผู้พิการและครอบครัวมากขึ้น รวมถึงการให้ความช่วยเหลือด้านการศึกษาแก่ผู้บกพร่องทางหู และการอัดงบฯลงทุนด้านทรัพยากรบุคคลที่มีคุณภาพในระดับ “high-skill” ซึ่งอาจมีค่าใช้จ่ายที่สูงกว่ากลุ่มคนปกติ เมื่อบวกกับบริการพิเศษอื่น ๆ เช่น การที่ต้องเรียนภาษามือเพื่อการสื่อสาร ก่อนที่จะเริ่มเข้าสู่หลักสูตรด้านนวัตกรรม เป็นต้น

สิ่งเหล่านี้ล้วนนำไปสู่ผลกระทบทางอ้อมต่อเศรษฐกิจของประเทศ โดยเฉพาะเอเชีย-แปซิฟิกที่ถือว่าเป็นภูมิภาคที่มีความได้เปรียบในเรื่องประชากรวัยเด็ก แต่หากทรัพยากรขาดคุณภาพก็ไม่สามารถยกระดับเศรษฐกิจได้ตามเป้าหมาย โดย Cochlear ประเมินว่า ผลกระทบจากความไม่สมดุลระหว่างรายจ่ายของภาครัฐ กับรายรับที่ขาดคุณภาพอาจทำให้ GDP ของประเทศลดลงได้สูงสุดถึง 1.4%


เป้าหมายของออสเตรเลียก็คือ การเพิ่มความร่วมมือในทุกระดับ ตั้งแต่การถ่ายทอดความรู้เพิ่มทักษะเฉพาะด้านในแต่ละประเทศ รวมถึงการผลิตเครื่องมือที่มีนวัตกรรมและเทคโนโลยีขั้นสูงร่วมกัน และวาดฝันจะขยายความร่วมมือในทุกประเทศเอเชีย-แปซิฟิก ภายใน 25 ปี