ครบรอบปี “เบร็กซิต” 1 ปีที่สูญเปล่า ?

เมื่อ 29 มีนาคมที่ผ่านมา ถือเป็นวันครบรอบ 1 ปีของเจตนารมณ์ของอังกฤษ ว่าจะแยกตัวออกจากสหภาพยุโรป (อียู) โดยตัวแทนของรัฐบาลอังกฤษกับอียู เปิดการเจรจากันหลายรอบเพื่อหา “กรอบ” ที่ชัดเจนของสิ่งที่จะเกิดขึ้นในอีก 365 วัน ซึ่งถูกเรียกขานจนเป็นที่รู้จักกันทั่วไปว่า “เบร็กซิต”

แต่จนถึงขณะนี้ แทนที่ทุกอย่างจะชัดเจนขึ้น กลับเป็นไปในทางตรงกันข้าม ยิ่งไม่แน่นอนและสับสนมากยิ่งขึ้น จนแทบเรียกได้ว่าเป็นภาวะโกลาหลตลอดปีที่ผ่านมา ดูเหมือนมีเพียงสิ่งเดียวเท่านั้นที่อังกฤษกับอียูตกลงกันได้ชัดเจน นั่นคือ การยินยอมให้มีช่วง “เปลี่ยนผ่าน” หมายความว่าเบร็กซิตอาจชะลอช้าไปอีกนิด เป็นจนถึงเดือนธันวาคมปี 2020 เพื่อต่อเวลาให้ทีมเจรจาของอังกฤษ

แต่ความตกลงให้มีระยะ “เปลี่ยนผ่าน” ดังกล่าวก็ยังอยู่ภายใต้เงื่อนไขอียู ที่ระบุว่าทั้ง 2 ฝ่ายสามารถตกลงกันได้ว่า กำหนดเวลาที่จะหลุดพ้นจากอียูจริง ๆ ของอังกฤษ เป็นวันใด เวลาไหนซึ่งถึงตอนนี้ยังไม่มีความชัดเจนและยังห่างไกลจากกำหนดเวลาที่ตกลงกันทั้ง 2 ฝ่ายอยู่มากมายทีเดียวปัญหาสำคัญที่สุดในการเจรจาเบร็กซิต

ที่ผ่านมาก็คือ อังกฤษเองไม่สามารถกำหนดชัดเจนได้ในแต่ละเรื่อง แต่ละประเด็น ว่าตนเองต้องการอะไร และคาดหวังว่าจะบรรลุถึงผลลัพธ์อะไร นายกรัฐมนตรี เทเรซ่า เมย์ หรือแม้แต่ตัวตั้งตัวตีเบร็กซิตคนสำคัญอย่าง บอริส จอห์นสัน รัฐมนตรีต่างประเทศอังกฤษเอง ได้แต่พูดถึง “โอกาสใหม่ที่ยิ่งใหญ่” จากการหลุดพ้นจากอียู แต่ไม่สามารถบอกได้ว่า โอกาสที่ว่านั้นจะมาถึงได้อย่างไร ในรูปแบบไหนกัน

ความแตกแยกของความคิดเห็นในเรื่องนี้เกิดขึ้นทั้งในระหว่างพรรคการเมือง และแม้แต่ภายในพรรครัฐบาลอังกฤษด้วยกันเอง ยิ่งทำให้แต่ละประเด็นในเรื่องนี้ยากที่จะมีข้อสรุปได้

ในอีกทางหนึ่ง ผู้เชี่ยวชาญทั้งในทางกฎหมาย, ผู้เชี่ยวชาญกิจการอียู เรื่อยไปจนถึงสมาคมการค้า สมาคมเชิงพาณิชย์ต่าง ๆ ในอังกฤษและไอร์แลนด์เหนือ ต่างประเมินสถานการณ์ออกมาตรงกันว่า อังกฤษและไอร์แลนด์เหนือ ไม่น่าจะดีขึ้นกว่าเมื่อครั้งที่เป็นส่วนหนึ่งของสหภาพยุโรป การพ้นจากการเป็นสมาชิกอียู ทำให้อังกฤษเปลี่ยนแปลงไปก็จริง แต่ไม่น่าจะเปลี่ยนแล้วดีกว่าเดิม

การพ้นจากการเป็นสมาชิกอียู ทำให้อังกฤษจำเป็นต้องหลุดออกจาก “สหภาพศุลกากร” หรือ “คัสตอมยูเนี่ยน” และพ้นจากความเป็นส่วนหนึ่งของ “ตลาดร่วม” ยุโรปด้วยเช่นกัน หากอังกฤษยังต้องการค้าขายกับอียูอยู่ต่อไป ก็ไม่มีทางเลือกอื่นอีก นอกจากการเจรจาทำความตกลงการค้าเสรีที่ครอบคลุมในทุก ๆ เรื่อง ตั้งแต่พิกัดอัตราภาษีศุลกากร ไปจนถึงประเด็นด้านการเงินกับอียู 1 ปีผ่านไป การเจรจาที่ว่านั้นยังไม่เริ่มต้นขึ้นด้วยซ้ำไป

ตามข้อกำหนดของอียู อังกฤษยังมีเวลาเหลืออีก 1 ปี และหากทั้ง 2 ฝ่ายตกลงกันเรื่องระยะเปลี่ยนผ่านได้ ก็จะมีเวลาเพิ่มรวมเป็น 3 ปี เพื่อเจรจาให้บรรลุผลถึงความตกลงการค้าระหว่างกันดังกล่าว ระยะเวลาที่จำกัดเพียงแค่นั้น เป็นไปไม่ได้ที่ใครต่อใครจะมองเห็นว่า ความตกลงที่จะเกิดขึ้นจะส่งผลดี และทำให้อังกฤษได้เปรียบทางการค้ามากกว่าอียูแน่นอน เมื่อกลางเดือนมีนาคมที่ผ่านมา

โอลิเวอร์ ไวแมน บริษัทที่ปรึกษาด้านการบริหารจัดการระดับโลก ร่วมกับคลิฟฟอร์ด แชนซ์ บริษัทที่ปรึกษากฎหมายชั้นนำ ร่วมกันศึกษาวิจัยเพื่อประเมินผลกระทบที่จะเกิดขึ้นต่อบริษัทธุรกิจต่าง ๆ ทั้งในอียู 27 ประเทศ และในอังกฤษ ในกรณีที่ความตกลงการค้าดังกล่าวไม่อาจเกิดขึ้นได้ และอังกฤษกับอียูจำเป็นต้องค้าขายซึ่งกันและกัน ภายใต้มาตรฐานของกฎเกณฑ์การค้าขององค์การการค้าโลก (ดับเบิลยูทีโอ)

การศึกษาวิจัยดังกล่าวระบุว่า ในกรณีนี้จะเกิดอุปสรรคทางการค้าทั้งที่เป็นพิกัดอัตราภาษีและที่ไม่ได้เป็นพิกัดอัตราภาษี ส่งผลให้เกิดการสูญเสียต่อการส่งออกสินค้าของชาติสมาชิกอียู 27 ประเทศ ราว 43,000 ล้านดอลลาร์ และจะก่อให้เกิดผลเสียต่อการส่งออกของอังกฤษอีกราว 37,400 ล้านดอลลาร์

ผลกระทบดังกล่าวประเมินจากส่วนที่เป็นผลกระทบโดยตรงเท่านั้น โดยไม่ได้นำเอาผลเสียหายอื่น ๆ มาร่วมคำนวณด้วย เช่น ผลกระทบจากการจำกัดการเคลื่อนย้ายแรงงานจากอียู, ผลกระทบจากการเปลี่ยนแปลงด้านราคา และผล
กระทบจากการที่มีความตกลงการค้าเสรีอยู่กับประเทศที่สาม เป็นต้น

ดังนั้นผลเสียหายที่ว่านั้นต้องถือว่าเป็นผลเสียหายที่ประเมินในระดับต่ำที่สุด ผลเสียหายจริง ๆ สามารถเพิ่มสูงกว่านี้ได้มาก

ตามรายงานดังกล่าวบ่งชี้ว่า ในส่วนของอียู ภาคอุตสาหกรรมที่จะได้รับผลกระทบสูงสุด คือ ภาคอุตสาหกรรมรถยนต์ ซึ่งทำให้เยอรมนีกลายเป็นประเทศที่ได้รับผลกระทบโดยตรงสูงสุด คิดเป็นสัดส่วนสูงถึง 70 เปอร์เซ็นต์ของผลกระทบที่มีทั้งหมด เนื่องจากความเป็นผู้นำในอุตสาหกรรมรถยนต์และอุตสาหกรรมการผลิตของเยอรมนี

ในส่วนของอังกฤษ ภาคบริการทางการเงินจะได้รับผลกระทบโดยตรงสูงที่สุด เพราะจำเป็นต้องเพิ่มค่าใช้จ่ายมากขึ้นกว่าเดิมในแง่ของกระบวนการดำเนินการถึง 1 ใน 3 ของต้นทุนด้านนี้แต่เดิม นอกจากนั้น ในส่วนของอุตสาหกรรมและบริษัทธุรกิจอื่นที่จำเป็นต้องพึ่งพาอาศัยห่วงโซ่วัตถุดิบ หรือซัพพลายเชน จากอียูมากเท่าใด ก็จะยิ่งได้รับผลกระทบ
มากเท่านั้น

ข้อเสนอแนะในรายงานวิจัยดังกล่าวก็คือ บริษัทธุรกิจแต่ละแห่งทั้งในอียูและในอังกฤษ จำเป็นต้องเตรียมการให้พร้อมเพื่อรองรับผลกระทบในหลายระดับ ตั้งแต่ผลกระทบในระดับการปฏิบัติงาน, ซัพพลายเชน, ผู้บริโภค และในระดับของการแข่งขัน

แต่ข้อเสนอแนะดังกล่าวใช้ไม่ได้เลยกับการดำเนินการของรัฐบาลอังกฤษ เพราะแม้แต่ในวันครบรอบปีเบร็กซิต สิ่งที่เทเรซ่า เมย์ ทำ ก็คือตระเวนเรียกร้องให้ชาวอังกฤษทั่วประเทศรวมกันเป็นหนึ่งเดียว เพื่อให้เกิดความชัดเจนในการต่อรองกับอียูเท่านั้นเอง

คำเตือนสำคัญของ เจสซิก้า แกลดสโตน แห่งคลิฟฟอร์ด แชนซ์ก็คือ “ความล้มเหลวที่จะเตรียมตัว ก็คือการเตรียมตัวที่จะล้มเหลว”

ดูเหมือนเมื่อ 1 ปีผ่านไปและหลงเหลือเวลาอีกไม่มากมายนัก การเตรียมพร้อมของอังกฤษก็ยังไม่เป็นรูปเป็นร่าง และผลสะเทือนของเบร็กซิตก็ยิ่งดูหนักหนาสาหัสขึ้นทุกวัน