หินสโตนเฮนจ์ส่วนหนึ่งมาจากสกอตแลนด์ การศึกษาใหม่ชี้มาไกล 750 กม.

สโตนเฮนจ์
สโตนเฮนจ์

เป็นปริศนามายาวนานหลายพันปี ว่ากลุ่มแท่งหินขนาดใหญ่ที่เรียกว่า “สโตนเฮนจ์” (Stonehenge) ซึ่งตั้งอยู่กลางทุ่งบนที่ราบซอลส์บิวรี (Salisbury Plain) ในเมืองวิลต์เชียร์ (Wiltshire) ทางตอนใต้ของประเทศอังกฤษนั้นมาจากไหน มนุษย์ในยุคสมัยที่ยังไม่มีเครื่องจักรเครื่องยนต์ช่วยทุ่นแรงเขาขนลากกันมาอย่างไร แล้วยกขึ้นไปวางซ้อนทับกันด้วยวิธีไหน 

เชื่อกันว่าสโตนเฮนจ์ถูกสร้างขึ้นหลายครั้งในช่วงระหว่าง 3,100 ปี-1,600 ปีก่อนคริสต์ศักราช ส่วนจุดประสงค์ดั้งเดิมของหินกลุ่มนี้ยังคงเป็นประเด็นถกเถียง และในโลกวิชาการมีหลายการศึกษาวิจัยเกี่ยวกับสโตนเฮนจ์ที่ยังคงดำเนินอยู่ในปัจจุบัน 

ก่อนนี้ เมื่อปี 1923 เฮนรี่ เฮอร์เบิร์ต โธมัส (Henry Herbert Thomas) นักธรณีวิทยาชาวเวลส์ ระบุว่า แท่นหินสโตนเฮนจ์มาจากเนินเขาพรีเซลี (Preseli Hills) ในเพมโบรกเชียร์ (Pembrokeshire) ทางตอนใต้ของประเทศเวลส์ แม้ว่าสโตนเฮนจ์ประกอบด้วยหินหลายชนิด แต่เชื่อกันมาโดยตลอดว่าหินเหล่านั้นมาจากพื้นที่เดียวกัน จนกระทั่งเมื่อ 20 ปีก่อน นักวิทยาศาสตร์เริ่มตั้งคำถามถึงที่มาของหินเหล่านั้นเป็นครั้งแรก 

และเมื่อปี 2023 คณะนักวิจัย ซึ่งรวมถึงศาสตราจารย์ นิก เพียร์ซ (Nick Pearce) จากเมืองอาเบอริสวิธ (Aberystwyth) ในประเทศเวลส์ สรุปว่าหินแท่นบูชา (Atlar Stone) ไม่น่าจะมาจากเวลส์ แต่แหล่งที่มาของหินก็ยังคงเป็นปริศนา

จนกระทั่งล่าสุดมีข้อมูลจากงานวิจัยชิ้นใหม่ชี้ว่า หนึ่งในหินแท่นบูชาก้อนใหญ่ที่อยู่ใจกลางสโตนเฮนจ์นั้นมาจากตอนเหนือของประเทศสกอตแลนด์ ไม่ใช่มาจากเวลส์อย่างทั้งหมดอย่างที่คาดการณ์กันไว้ก่อนหน้านี้ ข้อค้นพบนี้ยิ่งเป็นเรื่องน่าทึ่งกว่าเดิม เนื่องจากระยะทางระหว่างพื้นที่ที่ถูกระบุว่าเป็นที่มาของหินในสกอตแลนด์กับสโตนเฮนจ์นั้นไกลเกือบ 3 เท่าของระยะทางระหว่างเพมโบรกเชียร์ในเวลส์กับสโตนเฮนจ์ 

สโตนเฮนจ์
ภาพจำแนกแหล่งที่มาของหิน สีเขียวมาจากสกอตแลนด์ (ภาพจาก BBC)

การศึกษาของทีมนักวิจัยนานาชาติซึ่งนำโดยนักวิจัยจากมหาวิทยาลัยเคอร์ติน (Curtin University) ประเทศออสเตรเลีย ที่เผยแพร่เมื่อวันที่ 15 สิงหาคมที่ผ่านมา ระบุข้อค้นพบของการศึกษาว่า หินแท่นบูชา (Altar Stone) น้ำหนัก 6 ตัน ซึ่งเป็นหินทรายยาว 5 เมตรที่ตั้งอยู่ตรงใจกลางของสโตนเฮนจ์ มีต้นกำเนิดมาจากสกอตแลนด์ 

Advertisment

นักวิจัยกล่าวว่า การค้นพบครั้งนี้สะท้อนถึงวิธีการขนส่งขั้นสูงและการจัดระเบียบทางสังคมในช่วงเวลาที่หินก้อนนี้ถูกขนย้ายมาถึงตอนใต้ของอังกฤษเมื่อประมาณ 5,000 ปีก่อน

แอนโธนี คลาร์ก (Anthony Clarke) นักศึกษาปริญญาเอกผู้เกิดในเพมโบรกเชียร์ ประเทศเวลส์ ซึ่งปัจจุบันทำงานที่คณะวิทยาศาสตร์โลกและดาวเคราะห์ของมหาวิทยาลัยเคอร์ติน ในออสเตรเลีย เผยว่า การวิเคราะห์อายุและองค์ประกอบทางเคมีของแร่ธาตุภายในชิ้นส่วนของหินแท่นบูชา พบว่าสอดคล้องกับหินจากแถบตะวันออกเฉียงเหนือของสกอตแลนด์ และแตกต่างจากชั้นหินแข็งของเวลส์อย่างชัดเจน

Advertisment

คลาร์กบอกเพิ่มเติมว่า การค้นพบนี้บ่งชี้ลักษณะทางเคมีอันชัดเจนว่า หินก้อนนี้มาจากหินในแอ่งออร์คาเดียนในสกอตแลนด์ ซึ่งอยู่ห่างจากสโตนเฮนจ์ไปอย่างน้อย 750 กิโลเมตร

เมื่อพิจารณาถึงข้อจำกัดทางเทคโนโลยีในยุคหินใหม่แล้ว ต้นกำเนิดของหินที่มาจากสกอตแลนด์ยิ่งนำไปสู่คำถามที่น่าสนใจว่า เมื่อประมาณ 2,600 ปีก่อนคริสตกาล หินก้อนใหญ่มหึมาขนาดนี้ถูกเคลื่อนย้ายมาเป็นระยะทางไกลขนาดนี้ได้อย่างไร

ทั้งนี้ การศึกษาดังกล่าว ซึ่งได้รับทุนจากสภาวิจัยแห่งออสเตรเลียของรัฐบาลกลาง (ARC) เป็นความร่วมมือระหว่างนักวิจัยจากมหาวิทยาลัยเคอร์ติน ในรัฐเวสเทิร์นออสเตรเลีย มหาวิทยาลัยแอดิเลด (University of Adelaide) ในรัฐเซาท์ออสเตรเลีย ยูนิเวอร์ซิตี้ คอลเลจ ลอนดอน (University College London) ในอังกฤษ และมหาวิทยาลัยอาเบอริสต์วิธ (Aberystwyth University) ในเวลส์

อ้างอิง :