ต่อต้าน “ท่องเที่ยวถึงจุดพีก” บทเรียน Overtourism จากยุโรป

overtourism
การประท้วงต่อต้านนักท่องเที่ยวในเมืองปัลมา ประเทศสเปน เมื่อวันที่ 21 กรกฎาคม 2024 (ภาพโดย REUTERS)
คอลัมน์ : ชีพจรเศรษฐกิจโลก
ผู้เขียน : นงนุช สิงหเดชะ

ฤดูร้อนปีนี้ เกิดปรากฏการณ์คนท้องถิ่นประท้วงต่อต้านนักท่องเที่ยวในหลายประเทศของยุโรป ทั้งในเนเธอร์แลนด์ กรีซ และสเปน โดยเฉพาะที่สเปนนั้นครึกโครมที่สุด

เพราะผู้ประท้วงในเมืองท่องเที่ยวอย่างบาร์เซโลนา รวมตัวกันเกือบ 3,000 คน ทำการประท้วงนักท่องเที่ยวค่อนข้างรุนแรง มีการคุกคามนักท่องเที่ยวด้วยการตะโกนขับไล่ ฉีดน้ำใส่ ปาสิ่งของใส่ บุกเข้าไปในโรงแรมและร้านอาหาร ทำให้นักท่องเที่ยวบางคนที่กำลังรับประทานอาหารอยู่ต้องลุกหนีกลางคัน กลายเป็นข่าวโด่งดังไปทั่วโลก

นอกจากการประท้วงในบาร์โซโลนาแล้ว อีกหลายเมืองของสเปนที่เป็นจุดหมายปลายทางยอดนิยมของนักท่องเที่ยวก็มีการประท้วงในลักษณะเดียวกัน โดยเหตุผลหลักก็คือการท่องเที่ยวที่มากเกินไป (Overtourism) ทำให้คนท้องถิ่นประสบปัญหาค่าครองชีพสูงขึ้น ทั้งค่าอาหาร ค่าเช่า ราคาบ้าน จนทำให้พวกเขาลำบากอย่างหนัก

กระทั่งอาจทำให้พวกเขาไม่มีปัญญาซื้อบ้านเป็นของตัวเอง หรือแม้แต่ไม่สามารถหาที่อยู่อาศัยในลักษณะใดลักษณะหนึ่งได้เลย ซึ่งความไม่พอใจนี้ก่อตัวมานานหลายปี จนปะทุออกมารุนแรงในฤดูร้อนของปีนี้

คาร์ลอส รามิเรซ คุณครูวัย 26 ปี ในบาร์เซโลนา บอกว่า เขาออมเงินมาหลายปีเพื่อหวังจะซื้อบ้านเป็นของตัวเอง แต่ราคาบ้านพุ่งขึ้นจนเขาเกรงว่าจะถูกขับไล่ออกจากที่พักเพราะจ่ายไม่ไหว “ทุกคนที่ผมรู้จัก อาศัยอยู่ที่นี่ แต่ตอนนี้วิธีเดียวที่จะสามารถจ่ายค่าที่พักอาศัยได้ก็คือต้องแชร์กับเพื่อนอีก 2-3 คน หรือแม้กระทั่ง 4 คน มันยากขึ้นทุกทีสำหรับคนท้องถิ่น โดยเฉพาะคนหนุ่มสาวที่จะมีที่อยู่อาศัยของตัวเอง ยิ่งเวลาผ่านไป นักท่องเที่ยวก็ยิ่งมากขึ้น ดันให้ค่าครองชีพสูงขึ้น”

รามิเรซยอมรับว่า เขาพอใจที่เห็นคนในท้องถิ่นรวมตัวกันนับพันคนเพื่อประท้วง ตนคิดว่าได้ผลเพราะตอนนี้หลายบริษัทได้ออกมาเตือนนักท่องเที่ยวให้หลีกเลี่ยงมาบาร์เซโลนา ซึ่งจริง ๆ แล้วพวกเราไม่ได้ต้องการตำหนินักท่องเที่ยวโดยตรง แต่ต้องการสร้างแรงกดดันรัฐบาลให้แก้ปัญหาและเปลี่ยนนโยบาย

Advertisment

แอนต์เจ มาร์ตินส์ ผู้เชี่ยวชาญด้านการท่องเที่ยวที่ยั่งยืนแห่งมหาวิทยาลัยควีนส์แลนด์ ออสเตรเลีย ชี้ว่า ตอนนี้บาร์เซโลนา มีชื่อเสียงด้านลบสำหรับนักท่องเที่ยว การประท้วงทำให้นักท่องเที่ยวกลัว ขณะเดียวกันการประท้วงที่เกิดขึ้นไม่ใช่เพียงเรื่องการปะทะกันระหว่างนักท่องเที่ยวและคนท้องถิ่น แต่มันเป็นภาพสะท้อนการท่องเที่ยวที่ไม่ได้รับการบริหารจัดการอย่างยั่งยืน และคนท้องถิ่นไม่ได้รับประโยชน์จากการท่องเที่ยวนั้น ทางออกคือต้องแก้ปัญหาในระดับโครงสร้าง

อย่างไรก็ตาม เอดูอาร์โด แซนแทนเดอร์ ประธานบริหารของคณะกรรมาธิการท่องเที่ยวแห่งยุโรป ซึ่งทำหน้าที่ส่งเสริมการท่องเที่ยวยุโรป แย้งว่า การประท้วงอย่างที่เกิดขึ้นในบาร์เซโลนา เป็นเหตุการณ์ “เฉพาะตัว” และไม่ได้สะท้อนความเป็นจริงทั้งหมดของสเปน หรือยุโรป

Advertisment

เจาเม คอลบินิ นายกเทศมนตรีบาร์เซโลนา ระบุว่าในช่วง 10 ปีที่ผ่านมา ค่าเช่าบ้านในบาร์เซโลนาเพิ่มขึ้นถึง 68% ซึ่งเป็นสภาพที่เกิดขึ้นทั่วเมืองต่าง ๆ ในยุโรป เพื่อแก้ปัญหานี้ นายกเทศมนตรีบาร์เซโลนาประกาศจะเก็บภาษีนักท่องเที่ยวในสถานที่ยอดนิยมบางแห่ง เช่น โบสถ์ซากราดา ฟามิเลีย และจะยุติการออกใบอนุญาตให้กับอพาร์ตเมนต์ประมาณ 10,000 แห่ง ที่ปัจจุบันปล่อยเช่าระยะสั้นให้กับนักท่องเที่ยว

“เวนิส” ของอิตาลี เป็นอีกเมืองหนึ่งพยายามจะลดจำนวนนักท่องเที่ยวด้วยการเก็บค่าเข้าคนละ 5 ยูโร แต่ ซูซานนา ปอลโลนี กลุ่มเครือข่ายที่อยู่อาศัยเพื่อภราดรภาพ ในเวนิส บอกว่า การเก็บเงินไม่เพียง “ไร้ประโยชน์” แต่ยังอันตรายอีกด้วย เพราะมันทำให้นักท่องเที่ยวจินตนาการว่า นี่คือ “เวนิสแลนด์” ซึ่งต้องซื้อตั๋วเข้าชม การท่องเที่ยวแบบ Mass Tourism ทำให้สถานรักษาพยาบาลที่ให้บริการประชาชนต้องปิดตัว ร้านคนท้องถิ่นถูกแทนที่ด้วยร้านขายของที่ระลึก ราคาบ้านพุ่งขึ้น

“เรากำลังจะไปถึงจุดที่ไม่หวนกลับ เราคิดว่าเสียงร้องของเราเพื่อขอความช่วยเหลือ เสียงร้องจากเมืองที่กำลังจะตายเพื่อประโยชน์ของคนเพียงหยิบมือ จะไปถึงหูคนทั่วโลก”

ไม่ใช่เรื่องค่าครองชีพเท่านั้น ที่ทำให้เกิดการต่อต้านนักท่องเที่ยวในหลายเมืองของยุโรป แต่พฤติกรรมที่ไม่เคารพสถานที่ คืออีกสาเหตุหนึ่งที่ทำให้คนท้องถิ่นไม่พอใจ เช่น กรณีนักท่องเที่ยวทำท่าทางอนาจารกับรูปปั้นสำคัญในเมืองฟลอเรนซ์ ของอิตาลี