
อินเดียและสิงคโปร์ลงนามข้อตกลงด้านชิป พัฒนาบุคลากรและส่งเสริมการลงทุนด้านเซมิคอนดักเตอร์ในอินเดีย
วันที่ 5 กันยายน 2024 บลูมเบิร์ก (Bloomberg) รายงานว่า อินเดียและสิงคโปร์ยกระดับความร่วมมือด้านเซมิคอนดักเตอร์และเทคโนโลยีดิจิทัล มุ่งเพิ่มบทบาทในห่วงโซ่อุปทานชิประดับโลกที่กำลังก่อร่างขึ้นใหม่ จากความตึงเครียดระหว่างสหรัฐและจีน โดยนเรนทรา โมดี นายกรัฐมนตรีอินเดีย พบกับลอว์เรนซ์ หว่อง (Lawrence Wong) นายกรัฐมนตรีสิงคโปร์ ในระหว่างการเยือนสิงคโปร์เป็นเวลา 2 วัน
ตามแถลงการณ์ของรัฐบาลอินเดีย สองประเทศได้ลงนามในข้อตกลงเพื่อปลูกฝังบุคลากรให้มีความสามารถด้านการออกแบบและการผลิตชิป ทั้งยังอำนวยความสะดวกให้กับการลงทุนด้านเทคโนโลยีในอินเดียของสิงคโปร์
นอกจากนี้ สองประเทศจะทำงานร่วมกันอย่างใกล้ชิดมากขึ้น ในด้านความปลอดภัยทางไซเบอร์ เครือข่ายมือถือ 5G ซูเปอร์คอมพิวเตอร์ และปัญญาประดิษฐ์
สิงคโปร์ อินเดีย และมาเลเซีย เป็นกลุ่มประเทศในเอเชียที่ได้รับประโยชน์ทางเศรษฐกิจ จากสงครามชิประหว่างสหรัฐและจีนที่สั่นคลอนตลาดไปทั่วโลก โดยคาดว่ายอดขายในปี 2024 จะแตะระดับ 588,000 ล้านดอลลาร์ (ราว 19.9 ล้านล้านบาท) ทั้งจีนและบรรดาชาติตะวันตกต่างแข่งกันสร้างห่วงโซ่อุปทานเป็นของตัวเอง เพื่อหลีกเลี่ยงความเสี่ยงทางภูมิรัฐศาสตร์ และสร้างโอกาสทางธุรกิจให้กับประเทศ
แม้ว่าอุตสาหกรรมเซมิคอนดักเตอร์ของอินเดียจะยังอยู่ในช่วงเริ่มต้น แต่ไม่ใช่กับสิงคโปร์ที่มีบทบาทโดดเด่นมาหลายทศวรรษ จากการเป็นที่ตั้งของโรงงานผลิตชิปที่ใหญ่ที่สุดในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ ของบริษัทระดับสากล ตั้งแต่เอ็นเอ็กซ์พี เซมิคอนดักเตอร์ เอ็นพี (NXP Semiconductors NV) ไปจนถึง ไมครอน เทคโนโลยี (Micron Technology Inc.) ทำให้สิงคโปร์เปี่ยมไปด้วยบุคลากรที่มีความสามารถด้านการวิจัยและวิศวกรรมชิป ตลอดจนธุรกิจร่วมทุน (Venture Capital) จำนวนมากให้กับบริษัทสตาร์ตอัพด้านชิป
ความร่วมมือครั้งนี้ยังแสดงให้เห็นถึงความทะเยอทะยานของโมดี ที่ต้องการเปลี่ยนอินเดียให้กลายเป็นมหาอำนาจด้านเทคโนโลยี ซึ่งระบบนิเวศเซมิคอนดักเตอร์ที่เข้มแข็งจำเป็นอย่างมาก นอกจากนี้ ทั้งสองประเทศยังลงนามในข้อตกลงด้านสุขภาพ การแพทย์ และการพัฒนาทักษะอีกด้วย
วิเวียน บาลากริชนัน (Vivian Balakrishnan) รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการต่างประเทศสิงคโปร์ กล่าวกับผู้สื่อข่าวเมื่อเดือนสิงหาคมว่า การมีความสัมพันธ์ที่ใกล้ชิดกับอินเดียในด้านเซมิคอนดักเตอร์จะช่วยให้บริษัทต่าง ๆ ของสิงคโปร์สามารถเจาะตลาดในเอเชียใต้ที่กำลังเติบโตอย่างรวดเร็วได้ ซึ่งทางอินเดียเองก็กำลังศึกษาระบบนิเวศทางเซมิคอนดักเตอร์ของสิงคโปร์อยู่เช่นกัน
รัฐบาลของโมดีกำหนดแผนงานมูลค่า 21,000 ล้านดอลลาร์ (ราว 7.07 แสนล้านบาท) เพื่อเสริมศักยภาพด้านเซมิคอนดักเตอร์ทั่วประเทศ โดยประกาศลงทุนสร้างโรงงานผลิตชิปเมื่อต้นปี 2024 มูลค่ารวม 15,000 ล้านดอลลาร์ (ราว 5.05 แสนล้านบาท)
สิงคโปร์เชี่ยวชาญในด้านชิปหน่วยความจำ (memory chip) และหน่วยประมวลผลกลาง (Matured Logic Processors) ส่วนใหญ่ใช้ในอุปกรณ์อิเล็กทรอนิกส์และรถยนต์ ซึ่งอาจช่วยให้อุตสาหกรรมชิปของอินเดียเติบโตเร็วขึ้นได้