กระทรวงการต่างประเทศ งัดสนธิสัญญาสยาม-ฝรั่งเศสการันตี ‘เกาะกูด’ เป็นของไทย ยืนยัน MOU 44 ไม่ทำไทยเสียดินแดน เดินหน้าใช้เป็นแนวทางแก้ปัญหาข้อพิพาทอ่าวไทย ไทย-กัมพูชา
นางสุพรรณวษา โชติกญาณ อธิบดีกรมสนธิสัญญาและกฎหมาย กระทรวงการต่างประเทศ แถลงชี้แจง พร้อมให้ข้อมูลต่อประเด็นพื้นที่ที่ไทยและกัมพูชา อ้างสิทธิในไหล่ทวีปทับซ้อนกัน หรือ OCA: Overlapping Claim Area ซึ่งเกี่ยวข้องกับ MOU 44 และในโซเชียลมีเดีย ได้มีการกล่าวถึงและเกิดความเข้าใจผิด เกิดความคลาดเคลื่อนในหลายประเด็นว่า โดยยืนยันว่า MOU 44 ไม่ได้ทำให้ประเทศไทยเสียดินแดนใด ๆ
โดยเฉพาะพื้นที่เกาะกูด เพราะตามสนธิสัญญาที่สยามได้ลงนามร่วมกับฝรั่งเศสนั้น บัญญัติชัดเจนว่า “เกาะกูดเป็นของไทย” ซึ่งมีความชัดเจนอยู่แล้ว และตั้งแต่อดีตจนถึงปัจจุบัน ประเทศไทยได้ใช้อำนาจอธิปไตยไทยเหนือเกาะกูด 100% และ MOU 44 ก็สอดคล้องกับพระบรมราชโองการประกาศเขตไหล่ทวีปของประเทศไทยด้านอ่าวไทย ปี 2516 เพราะมีการระบุพิกัดต่าง ๆ ตามแนวทางการประกาศเขตไหล่ทวีป
ซึ่งไทยก็ยึดหลักการประกาศตามสนธิสัญญาเจนีวา ที่ทุกประเทศมีสิทธิที่จะประกาศการอ้างสิทธิพื้นที่ทับซ้อน และเมื่อเกิดการทับซ้อนก็จะต้องไปเจรจา และ MOU 44 ก็เป็นความตกลงร่วมกัน เพื่อให้มีการเจรจาซึ่งเป็นไปตามแนวทางสากล โดยที่ประเทศไทยไม่ได้ใช้หลักการเจรจาที่แตกต่างจากประเทศอื่น ๆ เพราะต่างฝ่ายต่างมีสิทธิอ้างพื้นที่ และผูกพันเฉพาะผู้อ้างเท่านั้น เมื่อมีการทับซ้อนพื้นที่ก็จะต้องมีการเจรจา
ดังนั้น ใน MOU ข้อ 5 จึงระบุว่า การเจรจาจะไม่กระทบต่อการอ้างสิทธิของแต่ละฝ่ายผู้ทำสัญญา เมื่อมีข้อพิพาทจะต้องมีการพูดคุย และไม่ว่าการพูดคุยจะเป็นอย่างไร แต่เส้นการอ้างสิทธิของไทยยังคงมีอยู่ และไทยก็ไม่ได้ยอมรับการอ้างสิทธิของกัมพูชาเช่นเดียวกัน
“มีการกำหนดไว้ในข้อ 5 ของ MOU ว่าภายใต้เงื่อนไขการมีผลบังคับใช้ของการแบ่งเขต สำหรับการอ้างสิทธิทางทะเลของภาคีผู้ทำสัญญาในพื้นที่ที่ต้องมีการแบ่งเขต บันทึกความเข้าใจนี้จะไม่มีผลกระทบต่อการอ้างสิทธิทางทะเลแต่ละภาคีของผู้ทำสัญญา หมายความว่า การอ้างสิทธิของแต่ละฝ่ายก็จะยังคงอยู่ตามกฎหมาย ผลสำเร็จของการเจรจาจะเป็นอย่างไร จะไม่เป็นการทำลายการอ้างสิทธิ
ไทยจึงต้องรักษาสิทธิการอ้างสิทธินี้ ไทยไม่ต้องตกลงอะไรทั้งนั้น จนกว่าจะมั่นใจได้ว่าสิ่งที่ไทยได้ ได้สมประโยชน์ของไทย ดังนั้น ไทยจึงไม่เป็นการยอมรับการอ้างสิทธิของกัมพูชา และกัมพูชาเองก็ไม่ได้ยอมรับการอ้างสิทธิของไทย” อธิบดีกรมสนธิสัญญาและกฎหมายฯ ยืนยัน
ส่วนที่หลายฝ่ายมองควรมีการยกเลิก MOU 44 นั้น อธิบดีกรมสนธิสัญญาและกฎหมายฯ อธิบายว่า ในปี 2552 รัฐบาลนายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ อดีตนายกรัฐมนตรี เคยมีมติให้ยกเลิกไปแล้ว เพราะไม่มีความคืบหน้า และความสัมพันธ์ระหว่างไทย-กัมพูชา ที่ท้าทายทั้งการขึ้นทะเบียนเขาพระวิหาร สถานการณ์ความตึงเครียดในพื้นที่ชายแดน กรเจรจาช่วงนั้นจึงยังลุ่ม ๆ ดอน ๆ ซึ่งการเจรจาให้สำเร็จก็จะต้องขึ้นอยู่กับความคืบหน้าในความสัมพันธ์ระหว่างประเทศด้วย แต่หน่วยงานที่เกี่ยวข้องทั้งกระทรวงการต่างประเทศ ได้หารือฝ่ายที่เกี่ยวข้องและคณะกรรมการพิเศษ
รวมถึงหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง ทั้งสภาความมั่นคงแห่งชาติ หรือ สมช., กระทรวงพลังงาน และคณกรรมการกฤษฎีกา ซึ่งได้ใช้เวลาศึกษาทบทวน 5 ปี จึงได้ข้อสรุปว่า MOU 44 ยังคงมีข้อดีมากกว่าข้อเสีย เพื่อนำไปสู่การเจรจาให้ประสบความสำเร็จ ในปี 2557 จึงได้เสนอให้คณะรัฐมนตรีทบทวน และยกเลิกมติคณะรัฐมนตรีในปี 2552 และกระทรวงการต่างประเทศสนับสนุนให้ทุกรัฐบาลใช้กรอบ MOU 44 เป็นกรอบพื้นฐานในการเจรจา เพราะเป็นที่ยอมรับทั้ง 2 ฝ่าย และเคยผ่านการหารือผ่านกรอบ MOU นี้มาแล้ว
จึงน่าจะเป็นกลไกที่เหมาะสมที่สุด เพื่อรักษาผลประโยชน์สูงสุดของประเทศ และใช้คณะกรรมการร่วมด้านเทคนิค (Joint Technical Committee) หรือ JTC และคณะทำงานต่าง ๆ (SOM) Senior Officials’ Meeting ในการเจรจาต่อไป ซึ่งสุดท้ายไม่ว่าผลการเจรจาจะเป็นอย่างไร แต่ MOU 44 ได้ให้แนวทางและความโปร่งใสในการดำเนินการไว้แล้ว และมีการรายงานความคืบหน้าให้คณะรัฐมนตรีทราบเป็นระยะ จึงถือเป็นเอกสารที่ให้ได้จริง
อธิบดีกรมสนธิสัญญาและกฎหมายฯ ยังเปิดเผยความคืบหน้าในการเจรจาแก้ไขปัญหาข้อพิพาทดังกล่าวว่า MOU 44 ถือเป็นตัวกำหนดกฎเกณฑ์ที่ไทยจะใช้ในการเจรจา เพราะมีการกำหนดกรอบพื้นที่ทับซ้อน 26,000 ตารางกิโลเมตร แบ่งเป็น 2 พื้นที่หลัก ได้แก่ พื้นที่เหนือเส้นละติจูด 11 องศาเหนือ เพื่อคุยพื้นที่แบ่งเขตทางทะเล และพื้นที่ใต้เส้นละติจูด 11 องศาเหนือให้คุยเรื่องการพัฒนาพื้นที่ร่วมกัน โดยมีเงื่อนไขว่า จะต้องเจรจาทั้ง 2 เรื่องไปพร้อมกันไม่สามารถแบ่งแยกได้ เพราะเส้นอ้างสิทธิเป็นเส้นเดียวกัน
จึงต้องคุยเขตทางทะเลเพื่อให้เกิดความชัดเจน และเป็น 2 ผลประโยชน์ที่จะต้องรักษา และสร้างกลไกการเจรจาที่ให้มี JTC ที่มีความละเอียดอ่อน และซับซ้อน จึงได้ใช้หน่วยงานเฉพาะ และจะมีคณะกรรมการย่อย ๆ ลงไปอีกด้วย ซึ่ง MOU 44 นี้ เป็นโอกาสที่ทำให้ไทยได้รักษาสิทธิตามกฎหมายระหว่างประเทศ ทั้งสิทธิการแบ่งเขต และการพัฒนาร่วม ซึ่งวิธีตาม MOU 44 เป็นวิธีเดียวที่จะทำให้ประเทศไทยบรรลุผลประโยชน์สูงสุดของประเทศได้
ส่วนทางกัมพูชาเองนั้น อธิบดีกรมสนธิสัญญาและกฎหมายฯ ระบุว่า ก็ให้การยอมรับ MOU 44 ที่เป็นพื้นฐานที่ดีที่จะสามารถดำเนินการเจรจาต่อไป และกลไกที่มีการตั้ง JTC ที่จะเป็นตัวกำหนดนโยบายใหญ่ จะขับเคลื่อนได้ เพราะมีองค์ประกอบส่วนราชการที่ครบถ้วน ทั้งกระทรวงการต่างประเทศ กระทรวงพลังงาน กองทัพ และ สมช. และยังมีองค์ประกอบย่อยซึ่งมีความคล่องตัวคล้ายกับ SOM สามารถประชุมบ่อยครั้งได้
เมื่อมีความคืบหน้าก็รายงานให้ JTC ทราบได้ และในการเจรจาผลประโยชน์พื้นที่ทางทะเล และการเจรจาผลประโยชน์ทางทรัพยากร ก็มีคณะทำงานแยก โดยในการเจรจาผลประโยชน์พื้นที่ทางทะเลนั้น ตนเองเป็นประธานคณะทำงาน และการเจรจาผลประโยชน์ทรัพยากรจะมีอธิบดีกรมเชื้อเพลิงธรรมชาติเป็นประธาน โดยจะทำงานร่วมกัน และรายงานให้ JTC ทราบเป็นระยะ
อธิบดีกรมสนธิสัญญาและกฎหมายฯ ยังเปิดเผยด้วยว่า กระทรวงการต่างประเทศจะมีการเสนอคณะทำงานต่าง ๆ ใน JTC นี้ ให้คณะรัฐมนตรีพิจารณาเร็ว ๆ นี้ เมื่อคณะรัฐมนตรีอนุมัติองค์ประกอบแล้ว ก็จะมีการจัดการประชุมฝ่ายไทย และทาบทามทางการกัมพูชาให้จัดองค์ประกอบที่ใกล้เคียงกัน เพื่อเปิดการเจรจาต่อไป
“หลักการของกระทรวงการต่างประเทศที่จะเจรจานั้น ประชาชนทั้ง 2 ฝ่ายจะต้องยอมรับข้อตกลงนี้ และผลที่ได้จากการเจรจา จะต้องได้รับความเห็นชอบจากรัฐสภา และสอดคล้อง เป็นไปตามกฎหมายระหว่างประเทศ และกฎหมายอื่น ๆ ที่เกี่ยวข้อง” อธิบดีกรมสนธิสัญญาและกฎหมายฯ ยืนยัน
อธิบดีกรมสนธิสัญญาและกฎหมายฯ ยังระบุอีกว่า ที่ผ่านมาเคยเกิดปัญหาการอ้างสิทธิในพื้นที่ทับซ้อนลักษณะดังกล่าวกับประเทศมาเลเซีย และก็ได้มีกรอบความร่วมมือร่วมกัน จากการทะเลาะและประวิงการใช้เวลาทรัพยากรร่วมกัน จึงเป็นพื้นที่ในการแบ่งผลประโยชน์ร่วมกัน 50:50 ซึ่งเป็นแนวทางที่ประเทศไทยทำสำเร็จมาแล้ว และจะใช้แนวทางนี้ได้กับประเทศกัมพูชา
ทั้งนี้ OCA เกิดขึ้นจากกรณีที่มีการประกาศอ้างสิทธิพื้นที่เขตไหล่ทวีป ซึ่งกัมพูชาได้มีการประกาศอ้างสิทธิในปี 2515 ทั้งที่มีการเจรจากันตั้งแต่ปี 2513 แล้ว แต่ไทยไม่สามารถยอมรับการอ้างสิทธิดังกล่าวได้ เพราะเส้นผ่านไปที่เกาะกูดของประเทศไทย ประเทศไทยจึงได้ประกาศอ้างสิทธิเขตไหล่ทวีปในปี 2516 และรับทราบแล้วว่าจะเป็นการอ้างสิทธิทับซ้อนกัน
ทั้งนี้ ก็เพื่อให้มีการไปเจรจากันต่อไป เพื่อให้เกิดความชัดเจน ซึ่งประเทศไทย เคยประสบความสำเร็จในการเจรจากับเวียดนามและมาเลเซียบางส่วนมาแล้ว ทำให้เมื่อมีความชัดเจนเกิดขึ้น ก็สามารถบริหารผลประโยชน์และทรัพยากรร่วมกันได้ แต่เมื่อการอ้างสิทธิที่ต่างฝ่ายต่างอ้างสิทธิทั้ง 2 ฝ่าย ก็ยังไม่มีฝ่ายใดสามารถใช้สิทธิเข้าไปใช้ประโยชน์ได้ ดังนั้น ยิ่งเจรจาได้เร็วก็เป็นการเปิดโอกาสให้สามารถเข้าไปใช้ประโยชน์ และทรัพยากรในริเวณดังกล่าวได้