รมว.กต. เยือนเวียดนาม กระชับความสัมพันธ์ทางเศรษฐกิจ ร่วมถกและแลกเปลี่ยนความคิดเห็นกับสภาหอการค้าและอุตสาหกรรมไทย-เวียดนาม ซึ่งได้สะท้อนข้อจำกัดการทำธุรกิจ ตลอดจนเร่งลดอุปสรรคการค้า-ลงทุนระหว่างกัน พร้อมกันนี้ได้หารือกับรัฐมนตรีว่าการกระทรวงต่างประเทศเวียดนาม นายมาริษชวนฝ่ายเวียดนามใช้จุดแข็งร่วมกันผลิตสินค้าสนองดีมานด์ตลาดโลก
นายมาริษ เสงี่ยมพงษ์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการต่างประเทศ เดินทางเยือนเวียดนามอย่างเป็นทางการครั้งแรกนับตั้งแต่ดำรงตำแหน่ง โดยมีจุดประสงค์เพื่อกระชับความร่วมมือทางเศรษฐกิจและการลงทุน รวมถึงการหารือกับภาคเอกชนไทยในระหว่างการเยือนวันที่ 23-25 กุมภาพันธ์
เมื่อ 23 กุมภาพันธ์ นายมาริษได้ร่วมประชุมกับหอการค้าและอุตสาหกรรมไทยในเวียดนาม (ThaiCham) และภาคเอกชนไทยที่ลงทุนในเวียดนาม อาทิ GUNKUL, KBANK, Bangkok Bank, Central Retail Vietnam, AMATA, WHA เพื่อรับฟังสถานการณ์การลงทุนของไทยในเวียดนาม ซึ่งเป็นประเทศเป้าหมายสำคัญของนักลงทุนไทย ตลอดจนพิจารณาแนวทางลดอุปสรรคในการดำเนินธุรกิจ รวมถึงส่งเสริมการทูตเศรษฐกิจเชิงรุก ตามนโยบายของรัฐบาลภายใต้การนำของนางสาวแพทองธาร ชินวัตร นายกรัฐมนตรี
เวียดนามเป็นหนึ่งในประเทศที่มีเศรษฐกิจเติบโตอย่างรวดเร็ว โดยมีเป้าหมาย GDP เติบโตเกือบ 8% ในปี 2568 และตั้งเป้าพัฒนาเป็นประเทศที่มีรายได้ปานกลางภายในปี 2573 และกลายเป็นประเทศพัฒนาแล้วที่มีรายได้สูงในปี 2588 รัฐบาลเวียดนามกำลังดำเนินนโยบายเศรษฐกิจชั้นสูง พัฒนาอุตสาหกรรม ปรับโครงสร้างพื้นฐาน และเชื่อมโยงโครงการ Belt and Road Initiative (BRI) พร้อมการปฏิรูประบบราชการเพื่อเพิ่มประสิทธิภาพ
สำหรับการหารือกับภาคเอกชนไทย นายประวีณ วิโรจน์พันธุ์ ประธานหอการค้าไทยในเวียดนาม (ThaiCham) รายงานแนวโน้มและอุปสรรคของอุตสาหกรรมปิโตรเคมี นายธาราบดี ซึ้งอดิชัยวิทย์ รองประธาน ThaiCham และ General Manager ธนาคารกรุงเทพ สาขานครโฮจิมินห์ ให้ข้อมูลเกี่ยวกับสถานการณ์ทางการเงิน ขณะที่นายสุภ ไวศยารัทธ์ Head of PEWG, SUPER ENERGY ได้รายงานอุปสรรคด้านกฎระเบียบของธุรกิจพลังงานหมุนเวียน
นอกจากนี้ นางสาวศุภิสรา ธนาบริบูรณ์ Chief Representative, KBANK, Hanoi Office กล่าวถึงข้อจำกัดด้านกฎระเบียบทางการเงิน นายปจงวิช พงษ์ศิวาภัย CEO, WHA Industrial Development Public Company Limited นำเสนอปัญหาด้านที่ดินและโครงสร้างพื้นฐาน และนายเฉลิมชัย พรศิริปิยกูล รองประธาน ThaiCham และ Head of International Corporate Affairs, CENTRAL RETAIL VIETNAM กล่าวถึงการแข่งขันในภาคธุรกิจค้าปลีก
ในวันเดียวกัน นายมาริษมีกำหนดการเข้าพบผู้นำระดับสูงของเวียดนาม รวมถึงนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการต่างประเทศของเวียดนาม เพื่อหารือทวิภาคีในประเด็นการค้า การลงทุน และการท่องเที่ยว โดยเฉพาะโครงการ “6 ประเทศ 1 จุดหมายปลายทาง” (Six Countries, One Destination) และยุทธศาสตร์ “the Three Connects Strategy” ที่เน้นการเชื่อมโยงห่วงโซ่อุปทาน เศรษฐกิจท้องถิ่น และการพัฒนาอย่างยั่งยืน ตลอดจนหารือถึงการยกระดับความสัมพันธ์ไทย-เวียดนามเป็นหุ้นส่วนยุทธศาสตร์รอบด้าน
นอกจากนี้ รัฐมนตรีต่างประเทศของไทยยังเตรียมเข้าร่วมพิธีเปิดงาน ASEAN Future Forum (AFF) 2025 ในวันที่ 25 กุมภาพันธ์ โดยมีกำหนดกล่าวแสดงวิสัยทัศน์ในหัวข้อ “Megatrends: Envisioning ASEAN and the World in 2035” อีกด้วย
ทั้งนี้ การเยือนเวียดนามครั้งนี้ยังเป็นการเตรียมการฉลองครบรอบ 50 ปี ความสัมพันธ์ไทย-เวียดนาม ในปี 2569 โดยมุ่งเน้นการส่งเสริมความร่วมมือในระดับประชาชน และการขยายโอกาสทางธุรกิจของไทยในเวียดนามให้ครอบคลุมทุกมิติ
ชวนร่วมผลิตสินค้าป้อนตลาดโลก
ต่อมาในวันที่ 24 กุมภาพันธ์ นายมาริษได้เข้าพบหารือแบบทวิภาคีกับนายบุ่ย แทงห์ เซิน รองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการต่างประเทศเวียดนามที่กระทรวงการต่างประเทศเวียดนาม เพื่อกระชับความร่วมมือระหว่างสองประเทศ

นายบุ่ย แทงห์ เซิน กล่าวสนับสนุนความร่วมมือด้านยุทธศาสตร์การท่องเที่ยวของไทย โดยเฉพาะการเชื่อมโยงโครงสร้างพื้นฐานทางถนน ทางน้ำ และทางอากาศ ซึ่งสอดคล้องกับข้อริเริ่ม “6 ประเทศ 1 จุดหมายปลายทาง” (Six Countries, One Destination) ของไทย นอกจากนี้ เวียดนามยังแสดงจุดยืนสนับสนุนรัฐบาลไทยในการปราบปรามปัญหาสแกมเมอร์ คอลเซ็นเตอร์ และอาชญากรรมข้ามชาติที่ไทยกำลังดำเนินการ พร้อมทั้งยืนยันความร่วมมือในการแก้ไขปัญหาฝุ่น PM 2.5 และบริหารจัดการลุ่มน้ำโขงร่วมกัน
ด้านนายมาริษยังได้เน้นย้ำถึงความมุ่งมั่นของไทยในการส่งเสริมความร่วมมือด้านโครงสร้างพื้นฐาน การเชื่อมโยงระบบโลจิสติกส์ และการพัฒนาห่วงโซ่อุปทานระหว่างสองประเทศ นายมาริษเสริมว่า โลกปัจจุบันไม่ใช่ยุคของการแข่งขันอย่างเดียว แต่เป็นยุคที่ต้องอาศัยความร่วมมือเพื่อรับมือกับสภาวะภูมิรัฐศาสตร์ที่ทวีความเข้มข้นขึ้น เขาเน้นย้ำถึงความสำคัญของห่วงโซ่อุปทานและการมีส่วนร่วมทางเศรษฐกิจ
รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการต่างประเทศไทยกล่าวอีกว่า ยุคนี้สิ่งสำคัญคือการมีห่วงโซ่อุปทาน หรือการมีส่วนร่วมทางเศรษฐกิจ และการผลิตสินค้าร่วมกัน เพราะแต่ละประเทศมีจุดแข็งต่างกัน ดังนั้น จึงจะต้องใช้จุดแข็งของสองประเทศร่วมกันผลิตสินค้าที่ตอบโจทย์ต่อความต้องการของตลาดโลก
และในช่วงเย็นวันนี้ (24 กุมภาพันธ์) นายมาริษมีกำหนดพบหารือนายฝ่าม มิงห์ จิ๋งห์ นายกรัฐมนตรีเวียดนามด้วย