5 ปีของ “อาเบะโนมิกส์” “ญี่ปุ่น” ยังจำต้องดิ้นรน

REUTERS/Toru Hanai/File Photo

คอลัมน์ ชีพจรเศรษฐกิจ

โดย ไพรัตน์ พงศ์พาณิชย์

อาเบะโนมิกส์ รู้จักแพร่หลายกันตั้งแต่เมื่อเดือนเมษายน ปี 2013 หลายคนคงจำกันได้ว่า ฮารุฮิโกะ คุโรดะ เป็นคนแถลงรายละเอียดของนโยบายนี้ในวันเข้ารับตำแหน่งผู้ว่าการธนาคารกลางญี่ปุ่น (บีโอเจ) มีการพูดถึงนโยบาย “สามศร” ประกอบด้วยการผลักดันให้ภาวะเงินเฟ้อกระเตื้องขึ้นไปอยู่ที่ระดับเป้าหมาย 2 เปอร์เซ็นต์ ภายใน 2 ปี ผ่านมาตรการผ่อนคลายทั้งในเชิงปริมาณและคุณภาพ (คิวคิวอี) รวมถึงการซื้อพันธบัตรรัฐบาลญี่ปุ่นให้ได้รวมมูลค่า 50 ล้านล้านเยนต่อปี

แรกเริ่ม นโยบายการเงินใหม่นี้ช่วยให้อัตราดอกเบี้ยลดต่ำลง ส่งผลให้เงินเยนอ่อนค่า ซึ่งทำให้นักลงทุนต่างชาติเข้ามาซื้อหุ้นบริษัทญี่ปุ่น ดันราคาหุ้นสูงขึ้น

ปัญหาก็คือ 2 ปีผ่านไป อัตราเงินเฟ้อยังคงไม่กระเตื้อง บีโอเจไม่มีทางเลือกอื่น นอกจากหาหนทางใช้นโยบายผ่อนคลายทางการเงินยิ่งขึ้นต่อไป

ในปี 2016 บีโอเจประกาศใช้นโยบายอัตราดอกเบี้ยระยะสั้นแบบติดลบ ควบคู่ไปกับมาตรการควบคุมดอกเบี้ยระยะยาว หรือ “ยีลด์เคิร์ฟโพลิซี” ที่กำหนดอัตราดอกเบี้ยระยะยาวตายตัวที่ระดับใกล้กับ 0 เปอร์เซ็นต์

นับตั้งแต่ นายชินโสะ อาเบะ ก้าวขึ้นดำรงตำแหน่งนายกรัฐมนตรีญี่ปุ่น จนถึงตอนนี้เป็นเวลากว่า 5 ปี อาเบะโนมิกส์ส่งผลในทางด้านดีอยู่บ้าง ตรงที่สามารถทำให้อัตราการเติบโตทางเศรษฐกิจมีเสถียรภาพมากขึ้น อัตราว่างงานลดลงเกือบครึ่ง

แต่ในเวลาเดียวกัน อัตราเงินเฟ้อกลับยังทรงตัวอยู่ต่ำกว่าระดับเป้าหมายอยู่มาก คือไม่ถึง 1 เปอร์เซ็นต์ (0.7 เปอร์เซ็นต์) แถมอัตราการขยายตัวของศักยภาพการเติบโตทางเศรษฐกิจ (potential growth rate) ซึ่งเป็นตัวชี้วัดว่า เศรษฐกิจญี่ปุ่นจะขยายตัวเร็วขนาดไหน หากดำเนินการผลิตเต็มกำลัง ก็ยังทรงตัวอยู่ในระดับเดิม แทบไม่กระเตื้องขึ้นด้วยซ้ำไป

ยิ่งกว่านั้นผลข้างเคียงที่ไม่พึงปรารถนาปรากฏขึ้นมากมาย เช่น อัตราเงินกู้ของบรรดาธนาคารพาณิชย์อยู่ในระดับต่ำก็จริง

ธนาคารกว่าครึ่งกลับขาดทุนในการดำเนินธุรกิจส่วนที่เป็นธุรกิจหลักทั้งหลาย หรือกรณีที่มีการกำหนดอัตราดอกเบี้ยระยะยาวไว้ตายตัวในระดับต่ำใกล้ศูนย์เปอร์เซ็นต์ ทำให้เกิดปัญหาหนี้ค้างชำระสะสมสูงขึ้นโดยไม่มีสัญญาณเตือน จนขณะนี้เพิ่มขึ้นระดับ 18 เปอร์เซ็นต์ ของจีดีพี

นปี 2015 นายกรัฐมนตรีญี่ปุ่นประกาศ “ขั้นที่ 2” ของอาเบะโนมิกส์ ที่ประกอบด้วย “สามศรใหม่” ออกมาบังคับใช้ในช่วง 3 ปีถัดมา ประกอบด้วย การกำหนดยุทธศาสตร์การเติบโตทางเศรษฐกิจใหม่ ซึ่งรวมทั้งการ “ปฏิรูป” สไตล์การทำงาน, มาตรการส่งเสริมทรัพยากรมนุษย์ โดยเฉพาะสตรี และสนับสนุนนวัตกรรมใหม่ในเชิงดิจิทัล ต่อด้วยการสนับสนุนการเลี้ยงดูบุตร และสุดท้าย คือ การกำหนดมาตรการความมั่นคงทางสังคม ซึ่งจะช่วยเพิ่มความเชื่อมั่นให้กับประชาชนในหลักประกันในอนาคต

ทั้งนี้ นโยบาย “สามศรใหม่” ของอาเบะมุ่งไปในเชิงสังคมมากขึ้นเป้าหมายนั้นเห็นได้ชัดว่า เพื่อยุติแนวโน้มอัตราการเกิดต่ำ ที่ทำให้ประชากรญี่ปุ่นหดตัวลงอย่างต่อเนื่อง

และกลายเป็นสังคมที่ได้ชื่อว่า “ซูเปอร์เอจจิงโซไซตี” อยู่ในเวลานี้ พร้อม ๆ กับความพยายามสร้างสังคมที่ยอมรับและส่งเสริมสถานะของสตรีในสถานที่ทำงาน เพื่อเพิ่มแรงงานวัยทำงานให้สังคม โดยที่สตรีไม่จำเป็นต้องออกจากงานเพื่อไปทำหน้าที่เลี้ยงดูลูกหลานของตนเองอีกต่อไป

ในเวลาเดียวกันก็ดำเนินความพยายามเพื่อปฏิรูปธรรมาภิบาลภายในองค์กรธุรกิจ มีการกำหนดแนวปฏิบัติเพื่อบรรษัทภิบาล (corporate governace code) ที่กำหนดให้บริษัทจดทะเบียนทั้งหลายจำเป็นต้องจริงจังกับกลไกเพื่อความโปร่งใสและชอบธรรมควบคู่ไปกับการแสวงหาผลกำไร

ซึ่งเท่ากับเป็นการปฏิรูปในด้านการผลิตที่มีเป้าหมายสูงสุดเพื่อเพิ่มผลิตภาพให้กับธุรกิจญี่ปุ่น ควบคู่ไปกับการปรับโครงสร้างทางการคลัง ซึ่งจำเป็นต้องทำอย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้ต่อไป

หลังผ่านพ้น 5 ปีของอาเบะโนมิกส์มาแล้ว เห็นได้ชัดว่า ปัญหาเชิงโครงสร้างของสังคมญี่ปุ่นนั้นทั้งละเอียดอ่อนและซับซ้อน จนยากที่จะปรับเปลี่ยนแก้ไขภายในระยะเวลาสั้น ๆ แต่ยังจำเป็นต้องต่อสู้ฝ่าฟันต่อไปอีกนานไม่น้อยเลยทีเดียว