ด้านมืด “ญี่ปุ่น” กับสังคมสูงวัย จากบ้านเป็นคุก “เรือนจำคือสวรรค์”

ภาพจาก : www.bloomberg.com

เบื้องหน้าของ “ญี่ปุ่น” ประเทศที่เจริญรุ่งเรืองทั้งด้านเทคโนโลยีและวัฒนธรรม ทั้งยังเป็นโมเดลให้กับหลาย ๆ ประเทศกำลังพัฒนา โดยเฉพาะในเรื่องการเตรียมความพร้อมสู่ “สังคมผู้สูงอายุ” แต่เบื้องหลังกลับประสบปัญหาเรื่องน่าเศร้าของกลุ่มคนสูงวัยที่เห็นว่า “เรือนจำคือดินแดนสวรรค์”

งานวิจัยของ “เวิลด์ อีโคโนมิก ฟอรัม” (WEF) วิเคราะห์เกี่ยวกับปัญหาผู้สูงวัยในญี่ปุ่นที่พยายามเข้าไปอยู่ในเรือนจำ ซึ่งประสบปัญหานี้มานานหลายปีก่อน โดยในรายงานพูดเชื่อมโยงไปถึงนโยบาย “อาเบะโนมิกส์” ของนายกรัฐมนตรีชินโสะ อาเบะ ที่แม้ว่าจะให้ความสำคัญกับมาตรการความมั่นคงทางสังคมมากขึ้น

โดยเฉพาะสวัสดิการต่าง ๆ ของผู้สูงอายุสำหรับช่วงบั้นปลายชีวิต ทว่ามาตรการดังกล่าวช่วยลดภาระให้กับผู้สูงอายุได้เพียงเล็กน้อยเท่านั้น

“ญี่ปุ่น” กลายเป็นประเทศที่มีผู้สูงอายุมากที่สุดในโลกมานาน ปัจจุบันราว 27.3% ของประชากรมีอายุมากกว่า 65 ปี และสิ่งที่กำลังเป็นปัญหามากที่สุดตอนนี้ก็คือ การก่อคดีอาชญากรรมของผู้สูงอายุชาวญี่ปุ่นที่มากขึ้น

รายงานยังระบุถึง “บ้านพักคนชรา” ในญี่ปุ่นว่ามีค่าใช้จ่ายที่ค่อนข้างสูง ไม่ตอบโจทย์กลุ่มผู้สูงอายุ ยิ่งกลุ่มคนชราบางคนที่พึ่งเงินบำนาญของรัฐจะมีตัวเลือกที่น้อยมาก โดยสามารถเลือกอยู่บ้านพักคนชรา “เกรดล่าง” เท่านั้น

ซึ่งชีวิตความเป็นอยู่ไม่ต่างจากชีวิตในคุก แถมสิ่งแวดล้อมไม่จูงใจให้เข้าอยู่ ห้องพักแคบ พื้นที่สันทนาการขนาดเล็ก โดยที่เงินบำนาญเกือบทั้งหมดต้องใช้ไปกับการจ่ายให้บ้านพักคนชรา

ผู้สูงอายุกว่า 6 ล้านคนในญี่ปุ่นไม่มีบ้าน ไม่มีครอบครัว ไม่มีรายได้ ขณะที่กลุ่มผู้สูงอายุที่มีครอบครัวแต่ถูกทิ้งอยู่บ้านเพียงลำพังมีจำนวนที่เพิ่มขึ้นกว่า 6 เท่าตัวจากปี 2015 ทำให้เกิดปรากฏการณ์ที่ผู้สูงวัยญี่ปุ่นพยายามก่อเหตุเพื่อให้ได้เข้าไปอยู่ในเรือนจำ และส่วนใหญ่เป็นการก่อเหตุคดีเล็ก ๆ โดยจากสถิติที่เจ้าหน้าที่เรือนจำเปิดเผยคือ กว่า 1 ใน 5 ของผู้หญิงที่ถูกแจ้งความและจับกุมเป็นเหล่าคุณยายที่มีอายุมากกว่า 65 ปี อีกทั้ง 9 ใน 10 คนถูกจับในข้อหาคดีลักทรัพย์ เช่น ขโมยข้าว เสื้อผ้าราคาถูก และผลไม้ อีกทั้งยังเคยติดคุกมามากกว่า 2 ครั้ง

ผลการศึกษาของ WEF โดยอ้างข้อมูลบางส่วนจากหน่วยงานรัฐบาลญี่ปุ่น ระบุว่า กว่า 50% ของกลุ่มผู้สูงอายุในเรือนจำไม่มีบ้านอยู่ ไม่มีรายได้ ขณะที่ราว 40% ของผู้ต้องหาวัยชรากลับมองว่าสังคมข้างนอกน่ากลัวกว่าในเรือนจำ บ้านไม่ใช่บ้านตามที่คาดหวัง รวมถึงไม่มีปฏิสัมพันธ์กับเครือญาติ โดยหนึ่งในผู้ต้องหาวัย 67 ปี เปิดใจว่า “ไม่รู้ว่าจะหันหน้าไปพึ่งใครในยามที่ต้องการความช่วยเหลือ เพราะไม่ได้เจอลูกหลานมานานกว่า 10 ปีแล้ว”

“ยูมิ มุรานะกะ” หัวหน้าเรือนจำหญิงอิวะกุนิ กล่าวว่า กลุ่มผู้ต้องหาวัยชราบางคนอาจจะมีบ้าน มีครอบครัว แต่มันไม่ได้หมายถึงสถานที่ให้ความรู้สึกว่าเป็นบ้าน เรือนจำกำลังกลายเป็นบ้านพักคนชรา เพราะเรือนจำในญี่ปุ่นได้รับการสนับสนุนที่ดีมากจากรัฐบาลและเอกชน พร้อมทั้งมีสิ่งอำนวยความสะดวกครบครันกว่าบ้านพักคนชราบางแห่งที่เป็นของรัฐ

ขณะที่นักโทษหญิงวัย 78 ปีรายหนึ่ง กล่าวว่า “หลังจากที่สามีเสียชีวิตและไม่มีลูก เงินบำนาญจากรัฐบาลเริ่มไม่เพียงพอ แม้แต่เนื้อวัวในซูเปอร์มาร์เก็ตก็ซื้อไม่ได้เพราะมีราคาแพง จึงตัดสินใจขโมยของเพื่อให้ได้เข้ามาในเรือนจำและหาเพื่อนจากที่นี่”

ความน่าสนใจของรายงานนี้ไม่เพียงแค่สะท้อนอีกมุมหนึ่งของสังคมญี่ปุ่น แต่ทีมวิเคราะห์ยังได้พูดถึงพฤติกรรมของชาวญี่ปุ่นที่เปลี่ยนไปมาก วัฒนธรรมครอบครัวที่เคยเข้มแข็งกำลังกลายเป็นจุดอ่อนที่กระทบต่อเศรษฐกิจของประเทศอันเกี่ยวเนื่องกับงบประมาณที่ภาครัฐต้องจัดสรรเพื่อใช้ไปกับการดูแลนักโทษวัยชราสูงถึง 20,000 ดอลลาร์สหรัฐต่อปี ซึ่งสูงขึ้นถึง 80% เทียบกับเมื่อ 10 ปีก่อนและคาดว่างบประมาณดังกล่าวจะเพิ่มขึ้นต่อเนื่องในอีก 5 ปีข้างหน้า เนื่องจากเรือนจำหลาย ๆ แห่งทั่วประเทศกำลังปรับปรุงใหม่เพื่อรองรับการเพิ่มขึ้นของจำนวนผู้ต้องขัง รวมถึงปรับปรุงให้รองรับการผู้ต้องขังสูงวัยมากขึ้น เช่น ลดขั้นบันได โดยเปลี่ยนเป็นพื้นลาดแทน, ซื้อรถเข็นเพิ่มความสะดวก จากเดิมที่นักโทษนอนบนฟูกตาตามิก็เปลี่ยนเป็นเตียงแทน เพื่อความคล่องตัวในการลุกนั่ง และการเพิ่มปุ่มกดฉุกเฉินเหมือนในโรงพยาบาล เป็นต้น

ทั้งนี้ มีรายงานด้วยว่า รัฐบาลอาเบะพยายามเพิ่มงบประมาณช่วยเหลือบ้านพักคนชรามากขึ้น เพื่อแก้ปัญหาเรือนจำในญี่ปุ่นล้นในอนาคต ซึ่งก็หมายถึงค่าใช้จ่ายของภาครัฐที่ต้องสูงขึ้นแบบที่ไม่ควรจะเป็น

ขณะที่ศาสตราจารย์โคอิชิ ฮะไม จากมหาวิทยาลัยริวโกกุของญี่ปุ่น มองว่าปัญหาดังกล่าวในสังคมญี่ปุ่นไม่เพียงเป็นเรื่องของความไม่พร้อมในสวัสดิการต่าง ๆ ของภาครัฐ แต่ส่วนหนึ่งมาจากปัญหาค่าครองชีพและรายได้ที่ไม่สมดุลกันด้วย