จาก “สงครามการค้า” ลามสู่ “สงครามค่าเงิน”

REUTERS/Kevin Lamarque/File Photo/File Photo

คอลัมน์ ชีพจรเศรษฐกิจโลก

โดย ไพรัตน์ พงศ์พานิชย์

เหตุการณ์สำคัญ ๆ ที่ส่งผลกระทบต่อทั้งตลาดเงินและตลาดทุนทั่วโลกในช่วง 1 สัปดาห์ที่ผ่านมา แสดงให้เห็นข้อเท็จจริงอย่างน้อย 2 ประการเกี่ยวกับความขัดแย้งทางการค้าระหว่างสหรัฐอเมริกากับจีน ที่ยืดเยื้อมานานกว่าปีมาแล้ว

อย่างแรกก็คือ ความหวังที่ว่าการเจรจาที่ทั้ง 2 ฝ่ายกำลังหารือกันอยู่นี้ จะสามารถนำไปสู่ความตกลงทางการค้าได้ในระยะเวลาอันสั้น ภายในเดือนส.ค. นี้นั้นเป็นไปไม่ได้แล้ว ในทันทีที่ประธานาธิบดีโดนัลด์ ทรัมป์ เมินความเห็นของที่ปรึกษาเกือบทั้งหมด ที่คัดค้านการขึ้นพิกัดอัตราภาษีศุลกากรรอบใหม่เป็นการลงโทษจีนอีก 10% ต่อรายการสินค้ามูลค่ารวม 300,000 ล้านดอลลาร์สหรัฐ เพิ่มเติมจากที่เคยสั่งการให้ขึ้นเป็น 25% ก่อนหน้านี้ 250,000 ล้านดอลลาร์สหรัฐ เมื่อวันที่ 25 ก.ค. ที่ผ่านมา

วอลล์สตรีต เจอร์นัล รายงานเอาไว้ว่า ถ้าไม่นับโรเบิร์ต ไลต์ไฮเซอร์ ผู้แทนการค้าสหรัฐ กับสตีฟ มนูชิน รัฐมนตรีคลัง ซึ่งนำทีมเจรจาอยู่ที่เซี่ยงไฮ้ ทุกคนในห้องทำงานรูปไข่ของประธานาธิบดีอเมริกัน รวมทั้งคนอย่างจอห์น โบลตัน ที่ปรึกษาด้านความมั่นคง, แลร์รี คัดโลว์ ที่ปรึกษาทางเศรษฐกิจ และมิก มุลแวนีย์ ซึ่งรักษาการหัวหน้าคณะเจ้าหน้าที่ประจำทำเนียบประธานาธิบดี คัดค้านการขึ้นภาษีครั้งนี้ทั้งหมด

คนเดียวที่ไม่ค้าน คือ ปีเตอร์ นาวาโร นักวิชาการด้านเศรษฐศาสตร์ที่เป็นที่รู้กันมานานว่าคือ “สายเหยี่ยว” ในประเด็นเกี่ยวข้องกับจีนตัวจริงเสียงจริง

ผลก็คือการถกเถียงกันในที่ประชุมยืดเยื้อร่วม 2 ชั่วโมง ลงเอยด้วยการที่ที่ปรึกษาของทรัมป์ มาช่วยร่างข้อความผ่านทวิตเตอร์ 2 ข้อความสำคัญในวันนั้น

แหล่งข่าวของวอลล์สตรีต เจอร์นัล บอกเหตุผลที่ทำให้ทรัมป์ตัดสินใจด้วยว่า เป็นเพราะจีนยังละล้าละลัง ไม่ได้ซื้อสินค้าเกษตรลอตใหญ่จากสหรัฐอเมริกาตามที่ประธานาธิบดีสี จิ้นผิง รับปากไว้ในการพบกันระหว่างการประชุมจี 20 ซึ่งจะส่งผลดีโดยตรงต่อเกษตรกรรัฐโอไฮโอ จุดปราศรัยหาเสียงต่อไปของทรัมป์

ไม่นานหลังจากที่รัฐมนตรีมนูชินกับไลต์ไฮเซอร์ แจ้งผลการเจรจามาให้ทราบว่า ไม่ได้เป็นไปอย่างที่ทรัมป์อยากได้เพื่อใช้หาเสียงในการขึ้นเวที การตัดสินใจครั้งนี้ก็เกิดขึ้นตามมา

หลังจากที่ทรัมป์ประกาศขีดเส้นตายไว้เพียงแค่ 1 ก.ย. นี้ มีหลายคนตั้งข้อสังเกตไว้ว่า น่าแปลกไม่น้อยที่ฝ่ายจีนยังคงตกลงที่จะเจรจาครั้งต่อไป ซึ่งจะมีขึ้นในกรุงวอชิงตัน

แต่นักวิเคราะห์ผู้เชี่ยวชาญที่จับตาจีนมานาน ชี้ให้เห็นว่า ทั้งการรับปากแต่ยังไม่ซื้อ ทั้งการแสดงความไม่พอใจอย่างรุนแรง แต่ก็ยังยินดีที่จะเจรจาต่อเนื่อง สะท้อนให้เห็นถึงยุทธศาสตร์ใหม่ในการรับมือกับสหรัฐอเมริกาของจีน

จีนพร้อมที่จะดึงทุกอย่างให้ชะลอช้าลงให้ได้มากที่สุด อย่างน้อยก็ต้องลากทุกอย่างออกไปให้ถึงเวลา หลังจากที่ผลการเลือกตั้งประธานาธิบดีสหรัฐอเมริกาในปี 2020 ปรากฏออกมาชัดเจนแล้ว

นั่นหมายถึงว่า การตอบโต้กันไปมาด้วยมาตรการทางเศรษฐกิจในสงครามการค้าครั้งนี้ ยังคงอยู่ต่อไปอีกอย่างน้อยก็ถึงปีหน้าเกือบทั้งปี

คำถามก็คือ จีนยังคงมีเครื่องไม้เครื่องมือหลงเหลืออยู่สำหรับใช้ในการตอบโต้กับสหรัฐอเมริกาก็จริง แต่เหลือเพียง 2-3 ทางเท่านั้นแล้ว จะรับมือและบรรเทาผลกระทบนี้อย่างไร

จีนยังมีวิธีการระงับการซื้อสินค้าเกษตรกรรมจากสหรัฐอเมริกาทั้งหมดเพื่อตอบโต้ได้ เช่นเดียวกับการห้ามการส่งออกสินแร่หายาก หรือแรร์เอิร์ท ซึ่งจำเป็นต่อการผลิตวัสดุอุปกรณ์ไฮเทคทั้งหลายได้ และยุติการซื้อตราสารหนี้ของสหรัฐอเมริกาได้ แต่นอกเหนือจากนั้นแล้ว ก็แทบไม่มีทางอื่นที่สามารถทำให้จีนตอบโต้สหรัฐอเมริกาแบบสมน้ำสมเนื้อได้

วิธีการหนึ่งของจีนซึ่งสามารถนำมาใช้และได้ผลโดยไม่จำเป็นต้องตอบโต้ ก็คือ การใช้อัตราแลกเปลี่ยน ทำให้เงินหยวนหรือเหรินหมินปี้อ่อนค่าลง เพื่อดูดซับผลกระทบกับราคาสินค้าที่ต้องสูงขึ้นจากภาษีที่เพิ่มขึ้นของสหรัฐอเมริกา ซึ่งคือข้อเท็จจริงที่น่ากังวล ประการถัดมา

ทอม มิตเชลล์ แห่งไฟแนนเชียล ไทมส์ ยืนยันเอาไว้ว่า การที่เงินหยวนอ่อนค่าลงต่ำกว่าแนวรับ 7.0 หยวนต่อดอลลาร์สหรัฐ ซึ่งเป็นระดับต่ำสุดในรอบ 10 หรือ 11 ปีไม่กี่วัน หลังจากที่ทรัมป์ประกาศขึ้นภาษีระลอกใหม่นั้น ไม่ได้เป็นเหตุบังเอิญโดยเด็ดขาด

มิตเชลล์ตั้งข้อสังเกตเอาไว้ว่า จีนเคยใช้วิธีเช่นนี้ในการบรรเทาหรือทดแทน ผลกระทบจากการขึ้นภาษีของสหรัฐอเมริกามาแล้วหลายครั้ง ผ่านการทำงานร่วมกับสถาบันการเงินที่เป็นของรัฐ กับตลาดออฟชอร์สำคัญที่สุดอย่างฮ่องกง ทุกครั้งที่สงครามการค้าลุกลาม ขยายตัวออกไป ค่าเงินหยวนดิ่งลงใกล้แตะระดับ 7 หยวนต่อดอลลาร์เมื่อนั้น

ตัวอย่างครั้งหลังสุดคือในราวกลางปี 2018 ที่ผ่านมา ที่หยวนลดค่าลงมาจาก 6.4 หยวนต่อดอลลารสหรัฐ มาอยู่ที่ 6.97 หยวนต่อดอลลาร์สหรัฐ ต่ำสุดในปีนั้น

มีผู้ตั้งข้อสังเกตว่า ในช่วง 2-3 ปีที่ผ่านมา ธนาคารกลางของจีนใช้เงินไปหลายแสนล้านดอลลาร์สหรัฐ เพื่อพยุงค่าเงินหยวนเอาไว้ไม่ให้หลุดระดับต่ำกว่า 7 หยวนต่อดอลลาร์สหรัฐ ทำไมครั้งนี้ถึงเจตนาปล่อยให้หยวนลดลงต่ำกว่าระดับสำคัญนั้น

คำตอบที่น่าสนใจก็คือ หากเงินหยวนลดค่าลงต่อเนื่องไปอีก 8% ผลกระทบต่อสินค้าของจีนจากการขึ้นภาษี 10% ครั้งนี้ของทรัมป์ก็จะเป็นศูนย์โดยสิ้นเชิง

ข้อเท็จจริงทั้ง 2 ประการข้างต้นนี้ บอกให้คนที่อยู่นอกวงสงครามการค้าที่กำลังต้องหาทางบริหารจัดการทุกอย่างให้ตระหนักไว้ว่า

นอกจากสงครามการค้าจะยืดเยื้อ อยู่คู่กับเราไปอีกปีเศษเป็นอย่างน้อย ยังเป็นไปได้ที่จะลุกลามกลายเป็นสงครามค่าเงินควบคู่กันไปด้วย

ทำใจให้คุ้นชินไว้ก็แล้วกัน

 

ไม่พลาดข่าวสารเศรษฐกิจ เจาะลึกทุกประเด็นทั้งภาครัฐ-เอกชน เพิ่มเราเป็นเพื่อนที่ Line ได้เลยพิมพ์ @prachachat หรือ คลิกลิงก์ https://line.me/R/ti/p/@prachachat 

หรือจะสแกน QR Code ในรูป เราพร้อมเสิร์ฟข่าวเศรษฐกิจ-ธุรกิจถึงมือผู้อ่านทันที!