กรรมการ IOC ชี้หาก “โควิด-19” เกินรับมือ มีแนวโน้มยกเลิก “โอลิมปิก” โตเกียว 2020

นิกเคอิ เอเชียน รีวิวรายงานว่า สมาชิกอาวุโสของคณะกรรมการโอลิมปิกสากล (IOC) เปิดเผยว่า หากสถานการณ์แพร่ระบาดของไวรัสโคโรน่าสายพันธุ์ใหม่หรือ “โควิด-19” ได้รับการยืนยันว่า อันตรายเกินกว่าจะรับมือได้ อาจมีการยกเลิกการจัดการแข่งขันกีฬาโอลิมปิกที่กรุงโตเกียว ประเทศญี่ปุ่นในช่วงฤดูร้อนนี้ มากกว่าที่จะมีการเลื่อนกำหนดการจัดงานหรือการย้ายสถานที่

นายดิก พาวด์ หนึ่งในคณะกรรมการ IOC ตั้งแต่ปี 1978 และอดีตนักว่ายน้ำชื่อดังชาวแคนาดา เปิดเผยกับสำนักข่าวเอพีว่า คณะกรรมการ IOC จะพิจารณาเกี่ยวกับการจัดการแข่งขันกีฬาโอลิมปิกว่าจะมีการยกเลิกหรือไม่ ภายในเดือนพฤษภาคมนี้

“ในช่วงเวลาดังกล่าว ผมกล่าวได้ว่าผู้คนจะตั้งคำถามว่า สิ่งนี้ยังอยู่ภายใต้การควบคุมเพียงพอที่เราจะสามารถมั่นใจในการเดินทางไปโตเกียวหรือไม่ มีหลายสิ่งที่ต้องเริ่มทำอย่างการเพิ่มความปลอดภัยของอาหาร หมู่บ้านนักกีฬา และโรงแรม”

ซึ่งถ้าหาก IOC พิจารณาแล้วว่าไม่สามารถจัดงานได้ตามกำหนดที่กรุงโตเกียว อาจจำเป็นต้องมีการยกเลิกการจัดการแข่งขัน

ทั้งนี้ สถานการณ์แพร่ระบาดของไวรัสในปัจจุบันมีผู้ติดเชื้อแล้วมากกว่า 80,000 คนและมีผู้เสียชีวิตแล้วมากกว่า 2,700 ราย โดยส่วนใหญ่อยู่ในจีนแผ่นดินใหญ่ แต่ขณะนี้เกาหลีใต้ อิหร่าน และอิตาลีก็เผชิญกับภาวะการแพร่ระบาดสูงขึ้นอย่างต่อเนื่อง ส่วนญี่ปุ่นเองก็มีผู้เสียชีวิตแล้ว 4 ราย

โดยก่อนหน้านี้คาดว่าจะมีผู้เข้าร่วมงานโอลิมปิกครั้งนี้ราว 11,000 คน และอีก 4,400 คนเข้าร่วมการแข่งขันกีฬาพาราลิมปิก ซึ่งจะจัดขึ้นที่ญี่ปุ่นเช่นเดียวกัน นายพาวด์ระบุว่า “ข้อบ่งชี้ทั้งหมดในขณะนี้แสดงให้เห็นว่ายังอยู่ในภาวะปกติ ดังนั้นขอให้นักกีฬาตั้งใจฝึกซ้อม และโปรดมั่นใจว่า IOC จะไม่นำพาคุณไปสู่สถานการณ์โรคระบาดครั้งใหญ่”

การแข่งขันกีฬาโอลิมปิกสมัยใหม่นับตั้งแต่ปี 1896 เป็นต้นมา เคยถูกยกเลิกมาแล้วในปี 1940 ช่วงสงครามครั้งที่ 2 ซึ่งขณะนั้นญี่ปุ่นได้รับเกียรติเป็นเจ้าภาพ แต่ต้องยกเลิกการจัดงานไปในท้ายที่สุด เนื่องจากเกิดการสู้รบระหว่างญี่ปุ่นและจีน

ขณะที่สถานการณ์โรคระบาดยังไม่เคยเป็นเหตุผลในการยกเลิกการจัดงาน อย่างการจัดการแข่งขันกีฬาโอลิมปิกในปี 2016 ที่นครรีโอเดจาเนโรของบราซิล ซึ่งถูกจัดขึ้นท่ามกลางการแพร่ระบาดของไวรัสซิกาในขณะนั้น

นายพาวด์ระบุด้วยว่า จะมีการยกเลิกการจัดงานหรือไม่ขึ้นอยู่กับการหารือกับองค์การอนามัยโลก (WHO) ก่อนที่จะมีการตัดสินใจใด ๆ อย่างไรก็ตาม นายพาวด์ชี้ว่าการชะลอการจัดงานออกไปมีความยากลำบากอย่างมาก เนื่องจากการเลื่อนการจัดงานโอลิมเป็นเรื่องใหญ่ที่กระทบหลายภาคส่วน

นอกจากนี้ ญี่ปุ่นยังได้ลงทุนไปในการจัดงานครั้งนี้อย่างเป็นทางการถึง 12,600 ล้านดอลลาร์สหรัฐ แม้ว่าคณะกรรมการตรวจสอบบัญชีระดับชาติจะเปิดเผยว่า ค่าใช้จ่ายที่แท้จริงสูงกว่านั้นถึง 2 เท่า นายพาวด์ระบุว่า การเลื่อนการจัดงานออกไปอีก 1 ปีอาจสร้างความเสียหายทางการเงินมากขึ้น ส่วนการย้ายสถานที่ก็เป็นไปได้ยาก เนื่องจากมีสถานที่เพียงไม่กี่แห่งในโลกที่มีความพร้อมต่อการจัดงานภายในระยะเวลากระชั้นชิดเช่นนี้