“ธนาคารโลก” ชี้ไวรัสกระทบเศรษฐกิจเอเชีย-แปซิฟิกหนัก เรียกร้องทุกประเทศเร่งตั้งรับ

ธนาคารโลก (เวิลด์แบงก์) เปิดเผยคาดการณ์อัตราการเติบโตทางเศรษฐกิจของประเทศใน ภูมิภาคเอเชีย-แปซิฟิก ในเดือน เม.ย. 2020 ภายใต้การแพร่ระบาดของ “โควิด-19” ในกรณีที่สถานการณ์เลวร้ายที่สุด อัตราการเติบโตทางเศรษฐกิจของภูมิภาคนี้อาจชะลอตัวลงถึง -0.5% ในปีนี้ พร้อมเรียกร้องให้ชาติเอเชีย-แปซิฟิกดำเนินการมาตรการอย่างเร่งด่วน เพื่อรับมือกับผลกระทบที่จะเกิดขึ้น

ทั้งนี้ รายงาน “East Asia and Pacific in the Time of COVID-19” ของธนาคารโลก ระบุว่า หากสถานการณ์รุนแรงปานกลาง อัตราการเติบโตทางเศรษฐกิจของเอเชีย-แปซิฟิกในปี 2020 อาจชะลอตัวอยู่ที่ 2.1%

ขณะที่ อัตราการเติบโตทางเศรษฐกิจของจีน ในกรณีที่สถานการณ์รุนแรงปานกลางอาจลดลงไปอยู่ที่ 2.3% ซึ่งนับเป็นระดับต่ำที่สุดในรอบ 44 ปี และอาจลดลงไปถึง 0.1% ในกรณีสถานการณ์เลวร้ายที่สุด สาเหตุมาจากการที่โรคระบาดส่งผลให้เกิดความเปลี่ยนแปลงในภาคการผลิตของจีน ซึ่งจะส่งผลกระทบต่อเนื่องไปยังประเทศอื่น ๆ ทั่วโลกด้วย

นอกจากนี้ สถานการณ์โรคระบาดยังส่งผลให้ตัวเลขประชากรที่อยู่ใน ภาวะความยากจน (เส้นแบ่งความยากจนรายได้น้อยกว่า 5.50 ดอลลาร์สหรัฐ/วัน) เพิ่มสูงขึ้นอีก 11 ล้านคนทั่วทั้งภูมิภาค ในกรณีที่สถานการณ์เลวร้ายสุด แต่หากสถานการณ์รุนแรงปานกลางคาดว่าจะมีผู้ที่ก้าวพ้นเส้นแบ่งความยากจนน้อยกว่า 24 ล้านคน

อย่างไรก็ตาม รายงานฉบับนี้ของธนาคารโลกอ้างอิงจากข้อมูลระดับประเทศล่าสุดเมื่อวันที่ 27 มี.ค. ที่ผ่านมา แต่สถานการณ์มีความเปลี่ยนแปลงอย่างรวดเร็ว อาจมีการปรับปรุงการคาดการณ์ในอนาคต

ธนาคารโลกยังได้เรียกร้องให้ประเทศต่าง ๆ ในเอเชีย-แปซิฟิกเร่งใช้นโยบายทางเศรษฐกิจมหภาคและกฎระเบียบทางการเงิน โดยเฉพาะการลดหย่อนสินเชื่อและบรรเทาหนี้เพื่อช่วยเหลือภาคครัวเรือนและภาคธุรกิจ แต่ควรดำเนินมาตรการควบคู่ไปกับการควบคุมดูแลด้านกฎระเบียบ เพื่อไม่เพิ่มภาระหนี้ให้กับภาคธุรกิจและภาคครัวเรือน

นอกจากนี้ รัฐบาลควรลงทุนเพื่อเพิ่มความสามารถในการรับมือทางสาธารณสุขทั้งในระยะสั้นและระยะยาว และมีมาตรการทางการคลังเพื่อบรรเทาผลกระทบ จากความเปลี่ยนแปลงทางการเงินทั่วโลกและภาวะเศรษฐกิจถดถอยที่อาจจะเกิดขึ้น ธนาคารโลกยังเรียกร้องให้เกิดความร่วมมือระหว่างรัฐบาล-เอกชนแบบข้ามพรหมแดน เพื่อเพิ่มการผลิตสินค้าและบริการต่าง ๆ เพื่อให้เพียงพอต่อความต้องการของผู้คนในขณะนี้

ธนาคารโลกยังได้จัดสรรงบประมาณ 14,000 ล้านดอลลาร์สหรัฐ เพื่อช่วยเหลือประเทศกำลังพัฒนาในการรับมือกับผลกระทบจากโควิด-19 ทั้งการช่วยเหลือด้านการเงิน การให้คำปรึกษาด้านนโยบาย และความช่วยเหลือด้านวิชาการในการรับมือและจัดการกับผลกระทบด้านสาธารณสุขและเศรษฐกิจในประเทศต่าง ๆ ด้วย