สัญญาณอันตรายเอเชีย ‘สึนามิว่างงาน’ รอปะทุ

File Photo : REUTERS/Francis Mascarenhas

การแพร่ระบาดของโควิด-19 ส่งผลให้หลายประเทศทั่วโลก โดยเฉพาะในยุโรปและอเมริกา ต้องเผชิญตัวเลขคนว่างงานพุ่งสูงขึ้นเป็นประวัติการณ์ แต่สถานการณ์ในเอเชียกลับดูเหมือนจะยังไม่เลวร้าย เนื่องจากตัวเลขผู้ว่างงานยังไม่ได้เพิ่มขึ้นสูงมากในขณะนี้ ทว่าการว่างงานแฝงที่อยู่ในตลาดแรงงานของเอเชีย ก็อาจนำไปสู่วิกฤตการว่างงานได้

นิกเคอิ เอเชียน รีวิว รายงานว่า อัตราการว่างงานในหลายประเทศของเอเชียอยู่ในระดับไม่สูงมากนักในช่วงการแพร่ระบาดของไวรัสโคโรน่าที่ผ่านมา อย่างเช่น “ฮ่องกง” ที่อัตราการว่างงานในเดือน พ.ค.อยู่ที่ 5.9% เทียบกับระดับ 2.8% ในปี 2019 ขณะที่อัตราว่างงานของ “จีน” เดือน พ.ค.อยู่ที่ 5.9% ส่วน “อินเดีย” มีอัตราว่างงานที่ 8.5% ในเดือน มิ.ย.

สาเหตุหนึ่งที่อาจเป็นคำอธิบายว่า ทำไมอัตราการว่างงานของเอเชียไม่พุ่งพรวดเหมือนอเมริกาและยุโรป เนื่องจากหลายประเทศในเอเชียสามารถรับมือกับสถานการณ์ไวรัสได้เป็นอย่างดี ทำให้ภาคธุรกิจจำนวนมากสามารถกลับมาดำเนินกิจการได้ และเลิกจ้างพนักงานไม่มากนัก

ขณะเดียวกัน กฎหมายคุ้มครองการจ้างงานของหลายประเทศในเอเชียก็มีขั้นตอนดำเนินการค่อนข้างมาก รวมถึงภาระของบริษัทที่ต้องชดเชยให้กับพนักงานในกรณีที่ต้องการเลิกจ้าง ทำให้ช่วงโควิด-19 หลายบริษัทเลือกการรักษาพนักงานไว้ และใช้วิธีการลดเวลาทำงานและลดค่าจ้างแทนที่จะเลิกจ้าง 

รายงานระบุว่า ในเดือน พ.ค.ที่ผ่านมา จำนวนพนักงานในฮ่องกงที่ทำงานไม่เต็มเวลาตามปกติเพิ่มขึ้น 135,100 คน หรือเพิ่มขึ้น 185% จากเดือน ธ.ค. 2019 ขณะที่ญี่ปุ่นก็มีพนักงานที่จัดอยู่ในประเภท “ไม่ได้ปฏิบัติงานในที่ทำงาน” ในเดือน เม.ย.ก็เพิ่มสูงขึ้นเป็น 6 ล้านคน หรือเพิ่มขึ้น 8.8% จาก 2.5 ล้านคนในเดือน มี.ค. 2020

“ร็อบ ซับบาราแมน” หัวหน้าฝ่ายวิจัยเศรษฐกิจโลกของบริษัทหลักทรัพย์ โนมูระ ชี้ว่าตัวเลขเหล่านี้ไม่ได้สะท้อนภาพที่แท้จริงของตลาดแรงงานเอเชีย เพราะยังมี “แรงงานนอกระบบ” อีกจำนวนมาก ทั้งแรงงานค่าจ้างรายวัน แรงงานที่อพยพย้ายถิ่นเข้ามาในเขตเมือง และแรงงานข้ามพรมแดน ซึ่งไม่ได้รับการคุ้มครองตรวจสอบจากทางการ ทำให้หลุดรอดจากข้อมูลการว่างงานของทางการ

เช่นกรณีของ “จีน” ประมาณการว่ามีแรงงานย้ายถิ่นกลับสู่ตำแหน่งงานราว 90% ภายในเดือน เม.ย.ที่ผ่านมา หลังจากที่สถานการณ์โควิด-19 ในประเทศเริ่มคลี่คลาย แต่ก็ยังมีอีกกว่า 30 ล้านคนที่ไม่ได้กลับสู่ระบบงาน เช่นเดียวกับใน “อินเดีย” ที่มีแรงงานในเมืองใหญ่อพยพกลับชนบทหลายล้านคน และขณะนี้ยังไม่กลับเข้าระบบการทำงานตามปกติอีกเป็นจำนวนมาก

สถานการณ์เช่นนี้ทำให้ตลาดแรงงานของเอเชียมีความเปราะบาง และอาจนำไปสู่ภาวะวิกฤตว่างงาน หากเกิดสถานการณ์ที่ไม่แน่นอนอย่างการแพร่ระบาดของไวรัสระลอกใหม่ หรือความไม่แน่นอนจากระยะเวลาในการฟื้นตัวของภาคบริการและการส่งออกที่เศรษฐกิจของหลายประเทศในเอเชียพึ่งพิงอยู่ ก็อาจทำให้ภาคธุรกิจไม่มีความสามารถพยุงกิจการต่อไปได้

กิจการห้างร้านต่าง ๆ จึงจำเป็นต้องเลือกระหว่าง “ปลดพนักงาน” หรือ “ล้มละลาย” ซึ่งทั้งสองทางเลือกล้วนไม่เป็นผลดีต่อตลาดแรงงาน และเมื่อถึงเวลานั้นจะเกิดสภาวะ “สึนามิการว่างงาน” ซึ่งเมื่อรวมกับจำนวนผู้ว่างงานแฝงที่มีอยู่ก็ยิ่งจะซ้ำเติมปัญหา ทั้งประสิทธิภาพและประสิทธิผลการผลิตภายในประเทศที่ลดลง รวมถึงอัตราการเติบโตทางเศรษฐกิจที่ตกต่ำต่อเนื่องในระยะยาว

ซับบาราแมนระบุด้วยว่า รัฐบาลต่าง ๆ ในเอเชียควรเร่งเตรียมความพร้อมเพื่อลดความเสี่ยงที่จะนำไปสู่สถานการณ์ดังกล่าว ไม่ว่าจะเป็นการลดภาษีหรืออุดหนุนค่าจ้าง รวมถึงการปล่อยสินเชื่อดอกเบี้ยต่ำให้กับภาคธุรกิจ เพื่อรักษาอัตราการจ้างงาน ดังเช่นที่ฮ่องกงและสิงคโปร์ได้เริ่มใช้มาตรการดังกล่าวแล้ว ขณะที่ประเทศที่มีอัตราว่างงานแฝงจำนวนมาก อย่างจีน อินเดีย อินโดนีเซีย และฟิลิปปินส์ การช่วยเหลือไปที่ภาคครัวเรือนโดยตรงก็จะช่วยบรรเทาผลกระทบลงไปได้