สหรัฐสั่งปิดกงสุลจีน ชี้ชัด “สายเหยี่ยว” กุมนโยบายต่างประเทศ

FILE PHOTO: REUTERS/Adrees Latif/File Photo

การขับเคี่ยวช่วงชิงเป็นมหาอำนาจโลกระหว่าง “สหรัฐอเมริกา” และ “จีน” ช่วงหลังโควิด-19 ทวีความดุเดือดยิ่งขึ้น ความขัดแย้งระหว่างทั้งสองได้เพิ่มดีกรีขึ้นมาอีกระดับ ภายหลังสหรัฐออกคำสั่งปิดสถานกงสุลของจีน ซึ่งเป็นมาตรการทางการทูตที่รุนแรงที่สุดในรอบหลายสิบปี

โดยเมื่อ 23 ก.ค. 2020 กระทรวงการต่างประเทศสหรัฐได้ออกคำสั่งปิดสถานกงสุลจีนในสหรัฐ ที่เมืองฮุสตัน โดยทางการสหรัฐให้เหตุผลว่า จีนได้ส่ง “จารชน” แฝงตัวในรูปของนักการทูตเพื่อเข้ามาโจรกรรมข้อมูลความลับของสหรัฐ

ซึ่งแน่นอนว่าฝ่ายจีนย่อมมิอาจอยู่เฉย “หวัง เหวินปิง” โฆษกกระทรวงการต่างประเทศจีน ได้ออกมาตอบโต้ว่า “การกระทำของสหรัฐเป็นการขยายความขัดแย้งอย่างรุนแรง และจีนพร้อมออกมาตรการตอบโต้ด้วยการสั่งปิดสถานกงสุลของสหรัฐในจีนเช่นกัน”

ทั้งนี้ การใช้จารชนที่แฝงตัวเข้ามาด้วยคราบของนักการทูต แทบเรียกได้ว่าเป็นสิ่งปกติในการดำเนินความสัมพันธ์ระหว่างประเทศ โดยสำนักข่าวเอพีรายงานว่า ประเทศมหาอำนาจซึ่งรวมถึงสหรัฐ ได้ส่งจารชนแฝงตัวเข้าไปในประเทศอื่น ๆ ทั้งที่เป็นมิตรและศัตรูผ่านภารกิจทางการทูตมานานแล้ว

ขณะเดียวกันประเทศเหล่านี้ก็ยอมรับการมีตัวตนของจารชนจากต่างชาติที่แฝงตัวเข้ามาสอดแนมผ่านภารกิจทางการทูตเช่นกัน ซึ่งถึงแม้ว่าการกระทำดังกล่าวจะเป็นการดูไม่ปกติและผิดกฎหมาย แต่ว่าประเทศเหล่านี้ก็ไม่ได้ขับไล่สายลับแฝงตัวเหล่านี้ออกไป ตราบใดที่ไม่ได้กระทำภารกิจที่ร้ายแรงเกินกว่าที่จะรับได้

“คริสโตเฟอร์ คอสต้า” อดีตนายพันของกองทัพสหรัฐ ซึ่งปัจจุบันเป็นผู้อำนวยการพิพิธภัณฑ์สายลับนานาชาติ ในกรุงวอชิงตัน ดี.ซี. ให้เหตุผลว่า “การขับไล่นักการทูตของประเทศหนึ่งที่แม้ว่าจะเป็นสายลับแฝงตัวก็ตาม ย่อมต้องเกิดการตอบโต้ด้วยการไล่นักการทูตของสหรัฐกลับ ซึ่งจะสร้างความขัดแย้งทางการทูตขึ้นมาโดยไม่มีความจำเป็น”

จารชนของจีนที่แฝงตัวเข้ามาตามสถานทูตและสถานกงสุลในสหรัฐมีมาก่อนหน้าแล้ว อย่างไรก็ตาม สหรัฐไม่ได้สั่งขับพวกนี้ออกไปเพราะเกรงว่าจะก่อให้เกิดข้อขัดแย้งทางการทูตกับจีนขึ้นมาโดยไม่จำเป็น

เหตุผลของการสั่งปิดสถานกงสุลของจีนในฮุสตัน จึงสามารถมองได้ 2 สาเหตุ ประการแรก คือ สายลับของจีนกระทำภารกิจในแผ่นดินของสหรัฐที่อุกอาจเกินกว่าจะยอมรับได้ อย่างไรก็ตาม กระทรวงการต่างประเทศของสหรัฐก็ไม่ได้เปิดเผยรายละเอียดแบบเจาะจงของภารกิจการจารกรรมข้อมูลของสายลับจีน แม้ว่าจะกล่าวหาว่ามีการกระทำลักษณะนี้อยู่ก็ตาม

ซึ่งหากจารชนของจีนไม่ได้ทำภารกิจที่ฉาวโฉ่เกินไป ดังนั้น เหตุผลของการสั่งปิดกงสุลประการที่สอง คือ “สหรัฐอยากเปิดศึกความขัดแย้งทางการทูตกับจีน” โดยการใช้ข้ออ้างการขับไล่สายลับ

บลูมเบิร์กออกบทวิเคราะห์ระบุว่า กลุ่มรัฐมนตรีและที่ปรึกษาของรัฐบาลสหรัฐที่มีความเป็นปฏิปักษ์ต่อจีนได้เพิ่มบทบาทในการกำหนดนโยบายต่างประเทศอย่างมาก และเป็นผู้เสนอการปิดกงสุลของจีน โดยแกนนำของกลุ่มนี้ก็คือ “ไมค์ ปอมเปโอ” รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการต่างประเทศ, “เดวิด สติลเวลล์” ผู้ช่วยรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการต่างประเทศ และ “แม็ตทิว พอตติงเกอร์” รองที่ปรึกษาด้านความมั่นคง

รายงานระบุว่า แม้ “โดนัลด์ ทรัมป์” จะแสดงท่าทีแข็งกร้าวต่อจีนแต่ว่าวัตถุประสงค์ของเขามีเพียงเพื่อกดดันให้จีนหันมาทำข้อตกลงซื้อสินค้าสหรัฐเพิ่ม เพื่อนำไปหาเสียงในการเลือกตั้งเท่านั้น

อย่างไรก็ตาม สำหรับ “ไมค์ ปอมเปโอ” ซึ่งเป็นอดีตผู้อำนวยการซีไอเอ และทีมสายเหยี่ยว มีเป้าหมายเปิดหน้าชกกับจีน เพื่อขัดขวางไม่ให้จีนก้าวขึ้นมาเป็นเบอร์หนึ่งแทนที่สหรัฐ

ขณะที่การระบาดของโควิด-19 ทำให้เศรษฐกิจของสหรัฐถอยหลังลงอย่างหนัก และปัจจุบันยังไม่สามารถคุมการระบาดได้ ขณะที่จีนสามารถควบคุมสถานการณ์ได้อย่างรวดเร็ว และเศรษฐกิจก็เริ่มกลับมาฟื้นตัวได้เป็นตัวจุดชนวนความกังวลว่าจีนอาจจะก้าวแซงหน้าสหรัฐในเร็ววัน และความกังวลดังกล่าว “โรเบิร์ต เกตต์” อดีตรัฐมนตรีว่าการกระทรวงกลาโหม ชี้ว่า “มันส่งผลให้ทั้งรีพับลิกันและเดโมแครต หันมาร่วมมือกันเพื่อขัดขวางจีน”

ด้วยแรงสนับสนุนในแนวทางปรปักษ์ต่อจีน กลุ่มเหยี่ยวจึงมีแรงขับเคลื่อนในการนำเสนอมาตรการอันแข็งกร้าว เช่น ข้อเสนอการ “โจมตีค่าเงิน” ของฮ่องกงที่ผูกติดกับดอลลาร์สหรัฐ การผลักดันให้เร่งเปิดเขตการค้าเสรีกับไต้หวัน รวมไปถึงข้อเสนอสั่งแบนการเดินทางเข้าสหรัฐของสมาชิกพรรคคอมมิวนิสต์จีนหลายสิบล้านคน และการสั่งปิดสถานกงสุลของจีน

นอกจากนี้ นิตยสาร “ฟอร์ริน โพลิซี” ยังได้รายงานอ้างคำกล่าวของ “ไมค์ ปอมเปโอ” เมื่อก.พ. 2020 ระบุว่า “สถานกงสุลของจีนอีกหลายแห่ง รวมถึงสถานเอกอัครราชทูตจีนในวอชิงตัน มีส่วนเกี่ยวข้องกับการจารกรรมข้อมูล” ซึ่งสถานกงสุลเหล่านี้อาจเป็นเป้าหมายการสั่งปิดในอนาคต

เมื่อบุคคลที่รายล้อมประธานาธิบดี คือผู้มีอิทธิพลต่อการตัดสินใจของผู้นำ แนวคิดของกลุ่มบุุคคลเหล่านี้จึงเป็นตัวบ่งชี้ว่า การดำเนินนโยบายของ “สหรัฐต่อจีน” จะรุนแรงอย่างต่อเนื่อง ไปจนถึงอย่างน้อยช่วงการเลือกตั้งในเดือน พ.ย. 2020