หนี้เสียพุ่ง ปัญหาหนักของจีน

(Photo by GREG BAKER / AFP)
ชีพจรเศรษฐกิจโลก
ไพรัตน์ พงศ์พานิชย์

เมื่อสัปดาห์ที่ผ่านมา กัว ซู่ชิง ประธานคณะกรรมการกำกับดูแลกิจการธนาคารและประกันภัยของจีน (ซีบีไออาร์ซี) ให้สัมภาษณ์สำนักข่าวซินหัวของทางการจีน แสดงความกังวลต่อภาวะหนี้ที่ไม่ก่อให้เกิดรายได้ (เอ็นพีแอล) หรือที่เรียกกันง่าย ๆ ว่า หนี้เสียในระบบธนาคารของจีนออกมาอย่างชัดเจน

ที่เป็นกังวลเพราะยอดเอ็นพีแอลในระบบธนาคารจีนเพิ่มขึ้นมหาศาลในปีนี้ คาดว่าทั้งปีจะสูงถึง 3.4 ล้านล้านหยวน หรือราว 489,500 ล้านดอลลาร์ เทียบกับเมื่อปี 2019 ที่ผ่านมา ซึ่งอยู่ที่เพียง 2.3 ล้านล้านหยวน เท่ากับว่าเพิ่มขึ้นกว่า 1 ล้านล้านหยวนเลยทีเดียว

สำคัญยิ่งกว่านั้นก็คือ กัว ซู่ชิง ประเมินว่า วิกฤตโควิดที่ส่งผลสะเทือนไปทั่วโลก นอกจากจะส่งผลให้เอ็นพีแอลในปีนี้เพิ่มมากขึ้นแล้ว ยังทำให้มูลค่าของหนี้เสียโดยรวมปีหน้ายิ่งเพิ่มมากขึ้นไปอีก แล้วจะกลายเป็นแรงกดดันมหาศาลให้กับระบบธนาคารของประเทศ โดยเฉพาะอย่างยิ่งต่อบรรดาธนาคารขนาดกลางและขนาดเล็กในภูมิภาคทั้งหลาย ด้วยเหตุที่ว่า มีหนี้สินจำนวนมากที่กำหนดต้องชำระคืนในปีนี้ ถูกเลื่อนระยะเวลาชำระหนี้ออกไปเป็นปีหน้าตามแนวทางของรัฐบาล

ซึ่งการแสดงความกังวลเป็นเชิงเตือนของหัวหน้าหน่วยงานกำกับดูแลระบบธนาคารในครั้งนี้ สะท้อนให้เห็นปัญหาที่เกาะกินระบบธนาคาร ระบบการเงินของจีนมาเนิ่นนานหลายปี นั่นคือการปล่อยกู้อย่างไม่มีวินัย รวมถึงการสมคบกันฉ้อฉลและคอร์รัปชั่น นั่นคือเหตุผลที่ว่า แม้ตัวเลขของซีบีไออาร์ซีเองจะแสดงให้เห็นว่า อัตราส่วนเงินสำรองที่มีต่อเอ็นพีแอลของจีนจะยังคงอยู่ในระดับต่ำที่ 1.94 เปอร์เซ็นต์ ณ สิ้นเดือนมิถุนายนที่ผ่านมา ซึ่งถือว่าอยู่ในระดับต่ำที่สุดในโลกด้วยซ้ำไป แต่สถานการณ์ก็ยังน่าวิตกอยู่ดี เพราะที่ผ่านมา หนี้เสียจำนวนมหาศาลถูกซุกงำเอาไว้ ไม่แสดงให้เห็นด้วยการตกแต่งบัญชี หนี้เสียเหล่านี้มีมากเสียจนหากเปิดโปงออกมาเมื่อใด สามารถทำให้ทั้งทุนทั้งกำไรของธนาคารนั้น ๆ หดหายไปได้ภายในพริบตา

สัญญาณที่ส่อให้เห็นถึงสถานการณ์นี้ก็คือ ผลกำไรโดยรวมของระบบธนาคารในจีนในช่วงครึ่งแรกของปีนี้ลดลงเป็นครั้งแรกในรอบกว่า 10 ปี เหลือเพียงแค่ 1 ล้านล้านหยวน ลดลงเมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีที่ผ่านมาถึง 9.4 เปอร์เซ็นต์ ที่ผ่านมามีตัวอย่างให้เห็นมาแล้วหลายกรณี ที่ชัดเจนที่สุดก็คือ กรณีของธนาคารเปาซาง ในเมืองเปาเถา เขตอินเนอร์ มองโกเลีย ที่ไม่ยอมเผยแพร่รายงานประจำปีของธนาคารมาตั้งแต่ปี 2016 ที่ผ่านมา แล้วสุดท้ายทางการจีนก็ต้องเข้าไปยึดและควบคุมกิจการเมื่อเดือนพฤษภาคมปี 2019

เจ้าหน้าที่ทางการต้องใช้เวลานานกว่าปีตรวจสอบอย่างถี่ยิบถึงพบว่า ข้อมูลการเงินของธนาคารแห่งนี้ถูกยกเมฆขึ้นมาทั้งหมด สุดท้ายก็ต้องปล่อยให้ล้มละลาย กลายเป็นธนาคารแห่งแรกของจีนที่ล้มทั้งยืนในรอบกว่า 20 ปี โดยธนาคารพาณิชย์แห่งนี้ดำเนินงานแบบฉ้อฉลมากมาย รวมทั้งการปล่อยกู้ให้กับผู้ถือหุ้นใหญ่ของธนาคารรวมแล้วมากถึง 156,000 ล้านหยวน โดยผู้ถือหุ้นใหญ่ของธนาคารเปาซาง ก็คือ ทูมอร์โรว์กรุ๊ป ที่มี เสี่ยว เจี้ยนหัว เจ้าพ่อทางการเงินและธุรกิจสัญชาติแคนาดาเชื้อสายจีน ที่หายตัวไปในฮ่องกง แล้วคาดกันว่าอยู่ในการควบคุมของทางการจีนอยู่ในเวลานี้ ซึ่งเจ้าหน้าที่ตรวจสอบของทางการพบว่า เงินที่ปล่อยกู้ให้กับทูมอร์โรว์กรุ๊ปทั้งหมด กลายเป็นหนี้เสียไปหมดแล้ว

นอกจากธนาคารเปาซางแล้ว เมื่อปีที่ผ่านมา ทางการจีนยังต้องเข้าไปอุ้มกิจการของธนาคารเหิงเฟิงอีกด้วย

ในปีนี้เกิดปรากฏการณ์แห่ถอนเงินจากธนาคาร อย่างที่เรียกกันง่าย ๆ ว่า “แบงก์รัน” ในจีนขึ้นมาแล้วอย่างน้อย 4 ครั้ง ทั้งหมดเกิดขึ้นกับธนาคารขนาดเล็กที่ให้บริการทางการเงินในระดับภูมิภาค ซึ่งสัดส่วนหนี้ต่อทุนสำรองมีอยู่สูงมาก แม้ตัวเลขของทางการจีนยังระบุว่าสูงถึง 4.22 เปอร์เซ็นต์ โดย เรมอนด์ เหยิน นักวิเคราะห์ของธนาคารเอเอ็นซีระบุว่า ธนาคารขนาดเล็กเหล่านี้ส่วนใหญ่แล้วมักมีทางการท้องถิ่นเป็นเจ้าของ ซึ่งทำให้กลายเป็นแหล่งสนับสนุนทางการเงินของรัฐบาลในท้องถิ่นและรัฐวิสาหกิจไปโดยปริยาย ไม่ว่าจะเป็นโครงการที่เสี่ยงขนาดไหนก็ตามที

สำหรับธนาคารขนาดใหญ่ในจีนแก้ปัญหานี้ด้วยการกระจายความเสี่ยงออกไป ซึ่งไม่ใช่ทางแก้ที่ดีนักแม้จะยังได้ผลอยู่ในระดับหนึ่ง ทางแก้ปัญหาที่ถูกต้องก็คือ ต้องปรับปรุงคุณภาพของสินทรัพย์ผ่านการปรับโครงสร้างทางธุรกิจ และตัดสินทรัพย์เสี่ยงทิ้งไป

ในส่วนของ กัว ซู่ชิง เองประกาศที่จะกลับมาเข้มงวดกับแนวทางปฏิรูปกับธนาคารขนาดเล็กเหล่านี้อีกครั้ง ด้วยการขึ้นทะเบียนธนาคารขนาดเล็กทั้งหมด ขยายสัดส่วนของเงินทุนสำรองต่อสินทรัพย์เสี่ยงเพิ่มมากขึ้น และปรับปรุงธรรมาภิบาลในการบริหารจัดการธนาคารให้สูงขึ้น ก่อนที่จะย้ำว่าการปฏิรูปนี้เป็นสิ่งจำเป็นอย่างยิ่ง หากต้องการให้ระบบการเงิน การธนาคารโดยรวมของจีน มีเสถียรภาพกว่าที่เป็นมา