SMEs ญี่ปุ่นเข้าคิว “ปิดตัว” สังคมสูงอายุ “ขาดผู้สืบทอด”

สังคมญี่ปุ่นที่ก้าวสู่สังคมสูงวัยอย่างเต็มตัวส่อเค้าปัญหาหนักขึ้น ล่าสุดมีรายงานออกมาว่า อนาคตอันใกล้ธุรกิจเอสเอ็มอีกว่า 1.2 ล้านกิจการ มีความเสี่ยงจะปิดตัวลง เนื่องจากผู้ประกอบการไม่มีทายาทสืบทอดต่อ ทำให้สุ่มเสี่ยงต่อผลกระทบทางเศรษฐกิจ ทั้งจะทำให้ญี่ปุ่นสูญเสีย “นวัตกรรม” สำคัญต่าง ๆ ไปด้วย

นิกเคอิ เอเชียน รีวิว รายงานว่า กระทรวงเศรษฐกิจ การค้า และอุตสาหกรรม ระบุว่า ปัจจุบันธุรกิจขนาดกลางและย่อมหรือเอสเอ็มอีในญี่ปุ่น ส่วนใหญ่เจ้าของกิจการหรือผู้ดูแลธุรกิจจะเป็นผู้สูงอายุระหว่าง 65-69 ปี และคาดว่าในปี 2025 กว่า 60% ของกิจการเอสเอ็มอี 2.45 ล้านแห่ง จะมีผู้ดูแลกิจการที่มีอายุ 70 ปีหรือมากกว่านั้น และในจำนวนนั้นราว 1.27 ล้านบริษัทระบุว่าพวกเขาไม่มีผู้สืบทอดกิจการ ทำให้กิจการอาจต้องยุติลงเมื่อพวกเขาเกษียณ

รายงานระบุว่า การยุติกิจการดังกล่าวอาจจะส่งผลให้ในปี 2025 ญี่ปุ่นอาจสูญเสียงานกว่า 6.5 ล้านตำแหน่ง และสูญเสียจีดีพีไปอีกกว่า 194,000 ล้านดอลลาร์สหรัฐ

จากผลสำรวจของ “Tokyo Shoko Research” ระบุว่า ในปี 2016 มีธุรกิจขนาดกลางและขนาดเล็กในญี่ปุ่นปิดตัวไป 29,583 ราย หนึ่งในเหตุผลหลัก ๆ มาจากปัญหาประชากรที่ลดลงและสังคมผู้สูงอายุทำให้ไม่มีผู้สืบทอดกิจการ และตัวเลขนี้เพิ่มขึ้นจากปี 2007 ที่มีการปิดกิจการไปประมาณ 21,000 ราย

และสำหรับปีนี้สถานการณ์ก็ไม่ต่างไปจากเดิม หลายกิจการยังทยอยปิดตัว ขณะที่ศาสตราจารย์อิชิโร ยูเอะสึกิ จากสถาบันวิจัยเศรษฐกิจของมหาวิทยาลัย ฮิโตสึบาชิ ระบุว่า หากการปิดตัวของกิจการที่ประสบปัญหาขาดทุนถือว่าเป็นเรื่องถูกต้อง แต่สำหรับธุรกิจที่มีกำไรต่อเนื่อง แต่ติดปัญหาที่ “ไม่มีคนสืบทอดกิจการ” สิ่งนี้จะส่งผลเสียต่อเศรษฐกิจของญี่ปุ่นโดยรวมในอนาคต

อย่างไรก็ตาม มีหลายบริษัทได้หาผู้สืบทอดจากภายนอกตระกูลเพื่อแก้ไขปัญหา เช่น ผู้ผลิตสาเกเซมปุกุ “มิยาเกะ คิโยสุกุ” ได้จ้างคนที่มาจากบริษัทตัวแทนจัดหางานมาช่วยบริหารงาน เนื่องจากลูกชายของเขายังอยู่ในวัย 20 ปีเศษเท่านั้น จึงคิดว่าหากมีใครสักคนที่เข้ามาช่วยวางแผนระยะกลางได้ก่อนก็จะดี

นี่จึงกลายเป็นความวิตกกังวลอย่างใหญ่หลวงของรัฐบาล หากญี่ปุ่นสูญเสียกิจการต่าง ๆ เหล่านี้ไป เพราะไม่ใช่เพียงแค่ “อุตสาหกรรมญี่ปุ่น” จะอ่อนแอลงเท่านั้น แต่จะกลายเป็นว่า ญี่ปุ่นได้สูญเสีย “นวัตกรรม” ต่าง ๆ

เช่นเมื่อราว 2 ปีก่อนหน้านี้ บริษัทผู้ผลิตชอล์กเทคโนโลยีไร้ฝุ่น “ฮาโกโรโม” ได้ปิดตัวลง ท่ามกลางความเสียดายของคนทั่วโลก โดยเฉพาะบรรดานักคณิตศาสตร์ ทำให้ “ทาคายาสุ วาตานาเบะ” ประธานบริษัทได้ตัดสินใจปิดตัวกิจการลงเนื่องจากไร้ผู้สืบทอด

“เราได้รับแฟกซ์และโทรศัพท์มากมาย และเราแทบจะรับมือกับออร์เดอร์ที่เข้ามาไม่ไหว” วาตานาเบะกล่าวถึงช่วงเวลาเมื่อ 2 ปีก่อน ภายหลังปิดบริษัทลง เขาส่งต่อเครื่องจักรผลิตชอล์กไปต่อยังเกาหลีใต้

“โอคาโนะ โคเกียว” วัย 84 ปี เจ้าของบริษัทอุตสาหกรรมเหล็ก ผู้ผลิตเข็มฉีดยาเทคโนโลยีขนาดเล็กพิเศษ เพื่อช่วยลดอาการเจ็บปวด ในเขตสุมิดะ กรุงโตเกียว ซึ่งก่อตั้งในปี 1924 กล่าวถึงอนาคตของบริษัทว่า เขาคิดถึงเรื่องการปิดกิจการเหมือนกันภายใน 2 ปีข้างหน้า ธุรกิจที่โอคาโนะก่อตั้งมานาน ได้กลายเป็นต้นแบบของเทคโนโลยีด้านเบ้าหลอมและแรงดัน ซึ่งมีบริษัทผู้ผลิตรถยนต์อื่น ๆ และบริษัทอุตสาหกรรมอื่น ๆ นำไปใช้ แม้ว่าจะมีความสำคัญระดับนี้ แต่โอคาโนะก็บอกถึงโอกาสในการปิดตัวว่า “เขามีลูกสาว 2 คน ซึ่งเลือกทางเดินชีวิตอื่น ดังนั้นภายหลังจากเขาเกษียณ กิจการผลิตเข็มฉีดยาจะถูกควบรวมไปกับบริษัท “เทรุโม” ซึ่งผลิตอุปกรณ์ทางการแพทย์ และแชร์สิทธิบัตร รวมถึงไลน์การผลิตกับบริษัทของโอคาโนะมาก่อนหน้านี้

ขณะที่รัฐบาลญี่ปุ่นได้พยายามสร้างเทรนด์การหาผู้สืบทอดกิจการจากภายนอกบริษัท โดยหอการค้าญี่ปุ่นได้ให้คำปรึกษาบริษัทต่าง ๆ เรื่องผู้สืบทอดไปแล้วกว่า 800 กรณี และคาดว่าจำนวนผู้ต้องการรับคำปรึกษาจะเพิ่มถึงปีละ 2,000 กรณีใน 5 ปีข้างหน้า

นอกจากนี้ รัฐบาลยังมีนโยบายส่งเสริมให้คนรุ่นใหม่เข้ามาสืบทอดกิจการ ด้วยการออกกฎหมายลดภาษีในการซื้อหรือควบรวมกิจการของธุรกิจเอสเอ็มอี รวมถึงการสนับสนุนนโยบายเงินกู้ดอกเบี้ยต่ำเพื่อจูงใจให้คนรุ่นใหม่อยากลงทุนในธุรกิจของครอบครัวต่อไป

อีกทางรอดหนึ่งซึ่งมีข้อเสนอแนะว่า ทางการญี่ปุ่นควรจะเปิดโอกาสสำหรับกิจการที่ต้องการควบรวมหรือส่งไม้ต่อ เพื่อให้นักลงทุนต่างชาติสามารถเข้าถึงและตัดสินใจได้ง่ายขึ้น เช่นที่ในประเทศฝรั่งเศสมีการจัดตั้งเครือข่ายออนไลน์สำหรับบริษัทที่ต้องการขายกิจการ


ประเทศในเอเชียหลายแห่งมีความสนใจในกิจการของญี่ปุ่น ดังนั้นทางออกจาก “ต่างแดน” อาจเป็นอีกหนึ่งทางเลือกเพื่อช่วยให้ธุรกิจอยู่รอด และช่วยให้เศรษฐกิจญี่ปุ่นยังดำเนินต่อไปได้