“อียู” ปะทะ 4 BigTech ศึกสงคราม “ผูกขาด”

ท่ามกลางวิกฤตโควิด-19 ที่หลายบริษัทต้องประสบปัญหามี 4 บริษัทเทคโนโลยียักษ์ใหญ่ของโลกอย่าง “เฟซบุ๊ก” “อเมซอนดอตคอม” “แอปเปิล” และ “อัลฟาเบต” เจ้าของ “กูเกิล” ที่เติบโตผ่านนวัตกรรมแพลตฟอร์มดิจิทัลต่าง ๆ แต่ความสำเร็จของบริษัทเหล่านี้กำลังเผชิญกับอุปสรรคใหญ่ที่หลายประเทศทั่วโลกพยายามควบคุมอิทธิพลของยักษ์เทค

ไฟแนนเชียล ไทมส์ รายงานว่า สหภาพยุโรป (อียู) กำลังเดิมพันครั้งใหญ่ในความพยายามควบคุมบริษัทยักษ์เทคที่มีพฤติกรรมต่อต้านการแข่งขัน โดยการยกกฎหมายกำกับดูแลบริษัทเทคโนโลยีและธุรกิจอินเทอร์เน็ตที่เข้ามาทำธุรกิจใน 27 ประเทศสมาชิกอียู ด้วยการผลักดันการแก้ไขกฎหมาย 2 ฉบับ ได้แก่ “กฎหมายควบคุมบริการธุรกิจดิจิทัล” (Digital Services Act) และ “กฎหมายตลาดธุรกิจดิจิทัล” (Digital Markets Act)

โดยบริษัทเทคเหล่านี้อาจถูกปรับสูงสุดถึง 10% ของรายได้บริษัทในปีนั้น หากละเมิดกฎระเบียบ ขณะที่บริษัทบางแห่งอาจโดนแบนออกจากตลาดอียู หากยังคงละเมิดกฎหมายอย่างซ้ำซากเกิน 3 ครั้งภายใน 5 ปี

อียูระบุว่า ต้องการทำให้กลุ่มเทคโนโลยีมีมาตรฐานที่สูงขึ้น โดยจัดกลุ่มยักษ์เทคที่มีแพลตฟอร์มทรงพลังถือว่าเป็น “ผู้เฝ้าประตู” หรือ “gatekeepers” ที่มีอำนาจควบคุมทิศทางตลาดดิจิทัลทั้งหมด โดยบริษัทที่เข้าข่ายต้องถูกกำกับ ต้องมีรายได้ในเขตเศรษฐกิจยุโรปอย่างน้อย 6.5 พันล้านยูโรต่อปี ในช่วง 3 ปีที่ผ่านมา และมีผู้ใช้บริการในอียูมากกว่า 45 ล้านคน รวมถึงมีการเปิดให้บริการอย่างน้อยใน 3 ประเทศ

แน่นอนว่าภายใต้ข้อกำหนดดังกล่าว “เฟซบุ๊ก” “กูเกิล” “แอปเปิล” และ “อเมซอน” หนีไม่พ้นกฎหมายนี้

สำหรับ “ร่างกฎหมายควบคุมบริการธุรกิจดิจิทัล” ต้องการกำหนดความชัดเจนถึงขอบเขตที่บริษัทเทคสามารถจัดการลบเนื้อหาหรือสินค้าบนแพลตฟอร์มได้ เนื่องจากปัจจุบันยักษ์เทคเหล่านี้มีอำนาจลบเนื้อหาหรือสินค้าออกได้ตามต้องการ ซึ่งถูกมองว่าเป็นการเอาเปรียบธุรกิจรายย่อย เพราะยักษ์ใหญ่เหล่านี้สามารถจัดการเอาเนื้อหาหรือสินค้าที่เป็นคู่แข่งรายย่อยออกไป และนำธุรกิจที่บริษัทสนับสนุนชูขึ้นมาแทน

ขณะที่ “ร่างกฎหมายตลาดธุรกิจดิจิทัล” ต้องการที่จะลดอำนาจแพลตฟอร์มที่เป็นเสมือน “ผู้เฝ้าประตู” ในการควบคุมช่องทางการขายสินค้าหรือบริการของธุรกิจต่าง ๆ กล่าวคือหน่วยงานกำกับดูแลมองว่าบริษัทเทคยักษ์ใหญ่กำลังใช้แพลตฟอร์มที่เป็นเสมือนผู้คุมเกมผูกขาดตลาด ขณะที่บรรดาธุรกิจรายย่อยไม่มีทางเลือกต้องพึ่งพาแพลตฟอร์มเหล่านี้ที่เป็น “ผู้เฝ้าประตู” เปิดโอกาสขายสินค้าของตนโดยไม่มีอำนาจต่อรอง

ทั้งนี้ คณะกรรมาธิการยุโรปต้องการให้สภายุโรปวางกฎเกณฑ์ให้ชัดเจน เพื่อที่จะระบุว่าพฤติกรรมไหนผิดกฎหมาย โดยไม่ต้องเสียเวลาสืบสวน และต้องการให้คณะกรรมาธิการยุโรปมีอำนาจในการสืบสวน เพื่อป้องกันไม่ให้มีแพลตฟอร์มที่กลายเป็นผู้คุมประตูธุรกิจรายย่อยอื่น ๆ เพิ่มขึ้น

อย่างไรก็ตาม บริษัทเทคยักษ์ใหญ่ต่างไม่เห็นด้วยกับกฎหมายนี้ รองประธานดูแลนโยบายภาครัฐของกูเกิล กล่าวว่า กฎหมายนี้จะไปกดทับธุรกิจรายย่อยมากกว่าเดิม ทำให้ธุรกิจรายย่อยไม่สามารถขยายตัวได้ ทางบริษัทต้องการสนับสนุนธุรกิจรายย่อย ช่วยทำให้เศรษฐกิจฟื้นฟู

อย่างไรก็ดี นักกฎหมายบางคนมองว่ากฎหมายยังไม่สามารถเข้ามาหยุดยักษ์เทคเหล่านี้ได้ “พอล แทง” หนึ่งในคณะกรรมาธิการยุโรปกล่าวว่า การร่างกฎหมายนี้ไม่ดีพอที่จะสามารถลดอำนาจการผูกขาดตลาดของบริษัทเทคได้ และแนะนำให้ร่างกฎหมายอื่นที่จะเข้ามากำกับดูแลการดำเนินธุรกิจของยักษ์เทคโดยตรงมากกว่านี้

ขณะที่ “สเตฟานี ยูคูร์ทิน” นักกฎหมายอียูอีกรายประเมินว่า บริษัทเทคยักษ์ใหญ่จะแย้งว่า กฎหมายนี้จำกัดสิทธิเสรีภาพด้านการค้าขาย และจำกัดการพัฒนานวัตกรรมต่าง ๆ และถึงแม้จะมีกฎหมายใหม่ บริษัทเทคเหล่านี้ก็จะหาช่องทางในการผูกขาดแพลตฟอร์มยุคดิจิทัลต่อไป