จับตาราคา ‘น้ำมันโลก’ พุ่ง สวนทางกับดีมานด์ยุคโควิด

แท่นสูบน้ำมันดิบ
ชีพจรเศรษฐกิจโลก
ไพรัตน์ พงศ์พานิชย์

ราคาน้ำมันดิบโลกถีบตัวสูงขึ้นทันทีที่ “ซาอุดีอาระเบีย” ประกาศตัดสินใจลดการผลิตน้ำมันลงต่อเนื่องต่อไป จนระดับราคาพุ่งขึ้นสู่จุดสูงสุดในรอบ 11 เดือนได้อย่างน่าสนใจ
ในเวลาเดียวกัน ยอดติดโควิด-19 รายวันของหลายประเทศรวมทั้งสหรัฐอเมริกา พุ่งขึ้นสูงสุดเป็นประวัติการณ์เช่นกัน

การระบาดของโควิด-19 ส่งผลให้เกิดการล็อกดาวน์ ยุติกิจกรรมทางเศรษฐกิจที่ใช้น้ำมันทำให้ดีมานด์น้ำมันลดลงอย่างเห็นได้ชัดในปี 2020 คำถาม ของนักลงทุนในตลาดน้ำมันดิบโลกก็คือ เป็นไปได้หรือไม่ที่ในปี 2021 ความต้องการน้ำมันจะกลับคืนสู่ระดับก่อนหน้าเกิดการแพร่ระบาด

ปีที่ผ่านมา ความต้องการน้ำมันทั่วโลกลดลงโดยเฉลี่ย 30% เมื่อเทียบกับระดับพีกสุดปี 2019 ข้อมูลจากองค์การข้อมูลพลังงาน (อีไอเอ) ของสหรัฐอเมริกา ปริมาณการผลิตน้ำมันในช่วงสูงสุดของปี 2020 อยู่ที่ 94.5 ล้านบาร์เรลต่อวัน เทียบกับจุดพีกสุดของปี 2019 ซึ่งสูงถึง 100.61 ล้านบาร์เรลต่อวัน

อีไอเอประเมินว่า ในปี 2021 ตัวเลขนี้น่าจะกระเตื้องขึ้น แต่ก็อยู่ในระดับแค่ 97.42 ล้านบาร์เรลต่อวันเท่านั้นเอง

สิ่งที่ต้องตั้งเป็นข้อสังเกตเอาไว้คือ ข้อมูลดังกล่าวยังไม่ได้ประเมินถึงการแพร่ระบาดใหม่ในช่วงปลายปีที่ผ่านมา ต่อเนื่องมาจนถึงต้นปีนี้ในหลายประเทศ

ความต้องการน้ำมันที่ทรุดฮวบลงเมื่อปีที่ผ่านมา ส่งผลกระทบให้โรงกลั่นน้ำมัน ทั้งในภูมิภาคอเมริกาเหนือและเอเชียจำเป็นต้องปิดตัวลง หรือไม่ก็ต้องปรับลดกำลังการกลั่น พื้นที่ที่เห็นปรากฏการณ์นี้้ชัดก็คือ บริเวณกัลฟ์โคสต์ของสหรัฐอเมริกา

ในสหรัฐอเมริกา กิจการโรงกลั่นที่ต้องปิดตัว รวมถึงโรงกลั่นของยักษ์ใหญ่ อย่างรอยัล ดัตช์ เชลล์ ที่เมืองคอนเวนต์ รัฐลุยเซียนา, โรงกลั่นของมาราธอนปิโตรเลียม รัฐแคลิฟอร์เนีย และโรงกลั่น
กัลลัปในนิวเม็กซิโก

ในเอเชีย โรงกลั่นหลายแห่งในญี่ปุ่น, สิงคโปร์, ฟิลิปปินส์, ออสเตรเลีย และนิวซีแลนด์ ก็ต้องปิดการกลั่นไปเช่นกัน

ทบวงพลังงานระหว่างประเทศ (ไออีเอ) คาดการณ์ว่า ความต้องการน้ำมันในปี 2021 จะกระเตื้องขึ้น แต่ช้ากว่าที่เคยคาดการณ์ไว้มาก เฉลี่ยจะอยู่ที่ระดับ 5.7 ล้านบาร์เรลต่อวัน โดยให้เหตุผลถึงสถานการณ์แพร่ระบาดใหม่ที่ทำให้เกิดการล็อกดาวน์อีกรอบทั่วยุโรป

ไออีเอ ยกตัวอย่างสหราชอาณาจักร ซึ่งเชื่อว่าความต้องการน้ำมันเจ็ตสำหรับเครื่องบินจะยังคงอยู่ภายใต้แรงกดดันต่อไป กรณีนี้ส่งผลกระทบต่อดีมานด์น้ำมันสูงมาก ไออีเอชี้ให้เห็นว่า การบริโภคน้ำมันในปี 2021 จะลดลงมหาศาลจากปี 2019 โดยที่ 80% ของปริมาณที่ลดลงเป็นการลดลงของน้ำมันเจ็ตสำหรับเครื่องบินนั่่นเอง

ข้อมูลของเอสแอนด์พี แพลตต์ ชี้ให้เห็นทิศทางสำคัญเดียวกันนี้ โดยย้ำว่า ความต้องการเชื้อเพลิงเครื่องบินในปี 2021 จะอยู่ที่ 5.3 ล้านบาร์เรลต่อวัน ลดจากระดับของปี 2019 มากถึง 2.4 ล้านบาร์เรลต่อวัน

คาดการณ์ความต้องการน้ำมันในปีนี้ แสดงให้เห็นชัดว่า การตัดสินใจของซาอุฯที่ลดกำลังการผลิตลง 1 ล้านบาร์เรลต่อวัน ไปจนถึงเดือน มี.ค. มีความสำคัญมากเพียงใดต่อการพยุงไม่ให้ราคาน้ำมันทรุดต่ำไปมากกว่านี้

นักวิเคราะห์ชี้ว่า ราคาน้ำมันในอนาคตอันใกล้จะทรุดต่ำลงไปอีกหรือไม่ นอกจากจะขึ้นอยู่กับว่าโลกจะจัดการกับโควิด-19 อยู่หมัดหรือไม่แล้ว ยังขึ้นอยู่กับปัจจัยอีก 2-3 ประการ หนึ่งคือ ปริมาณการผลิตของประเทศอื่น ๆ ในกลุ่มโอเปกเอง เพราะมีหลายประเทศที่ผลิตน้ำมันเพิ่มมากขึ้นเรื่อย ๆ ตัวอย่างเช่น ลิเบีย เพิ่มผลผลิตขึ้นจนถึงระดับ 1.2 ล้านบาร์เรลต่อวันแล้ว ทำนองเดียวกับเวเนซุเอลาและอิหร่าน ซึ่งเมื่อเดือน ธ.ค.ที่ผ่านมา ทำให้ปริมาณน้ำมันในตลาดเพิ่มขึ้นกว่า 600,000 บาร์เรลต่อวัน

ปัจจัยถัดมาคือ ความต้องการน้ำมันของจีน ซึ่งช่วยพยุงตลาดเอาไว้ตลอดปีที่ผ่านมา แต่มีแนวโน้มนำเข้าช้าลงในปีนี้ เชื่อมโยงไปถึงความสัมพันธ์ทางเศรษฐกิจระหว่างจีนกับสหรัฐอเมริกาด้วยว่าจะพัฒนาไปในทิศทางใด

สุดท้ายก็คือ ปัญหาที่ว่า ระดับราคาน้ำมันในขณะนี้จะส่งผลให้เกิดการฟื้นตัวของอุตสาหกรรมน้ำมันดิบจากหินน้ำมันในสหรัฐอเมริกาขึ้นมาอีกครั้งหรือไม่

เพราะระดับราคาที่เกินกว่า 50 ดอลลาร์ต่อบาร์เรล เป็นระดับคุ้มทุนของ “เชลออยล์” ในสหรัฐอเมริกานั่นเอง