ประเทศเศรษฐกิจใหม่น่าห่วง หนี้สูง-โควิด-19 ระบาดซ้ำ

คอลัมน์ ชีพจรเศรษฐกิจโลก
นงนุช สิงหเดชะ

การแพร่ระบาดของไวรัสโควิด-19 ทำให้รัฐบาลประเทศต่าง ๆ ต้องอัดฉีดงบประมาณมหาศาลเพื่อดูแลเศรษฐกิจ ซึ่งได้รับผลกระทบรุนแรงจากมาตรการล็อกดาวน์เพื่อสกัดการแพร่ระบาด และเมื่อเวลาผ่านไปหลังจากสามารถผลิตวัคซีนออกมาใช้ สถานการณ์ในประเทศตะวันตกดูจะพลิกกลับ โดยเฉพาะ “สหรัฐอเมริกา” เนื่องจากสามารถเร่งฉีดวัคซีนได้เร็ว และเศรษฐกิจฟื้นตัวอย่างแข็งแกร่ง

ขณะที่ประเทศ “เศรษฐกิจเกิดใหม่” โดยเฉพาะอินเดียกลายเป็นความกังวลของโลก เมื่อจำนวนผู้ติดเชื้อและเสียชีวิตสูงทุบสถิติ ซึ่งสถานการณ์เช่นนี้ทำให้ประเทศเศรษฐกิจเกิดใหม่ที่เดิมมีหนี้สูงอยู่แล้วจะประสบความยากลำบากกว่าประเทศพัฒนาแล้ว

“สตีฟ ค็อกเรน” หัวหน้านักเศรษฐศาสตร์เอเชีย-แปซิฟิก มูดีส์ อะนาไลติกส์ ระบุว่า หนี้ของประเทศเศรษฐกิจเกิดใหม่ที่กำลังสูงขึ้นเรื่อย ๆ อาจทำให้เศรษฐกิจของประเทศเหล่านี้ที่กำลังฟื้นตัวจากการแพร่ระบาดของไวรัสโควิด-19 ถูกผลักดันกลับไปข้างหลังอีกครั้ง การระบาดของโควิด-19 ทำให้หนี้ทุกชนิดเพิ่มขึ้นทั่วโลก โดยหนี้รัฐบาลเพิ่มขึ้นมากที่สุด ซึ่งไม่น่าแปลกใจเพราะรัฐบาลต้องใช้งบประมาณจำนวนมากเพื่อเยียวยาฟื้นฟูเศรษฐกิจ แต่ขณะเดียวกันรายได้จากการจัดเก็บภาษีของทุกประเทศทั่วโลกลดลง

ค็อกเรนระบุว่า ผลกระทบแท้จริงก็คือ “ช่องว่าง” ระหว่างประเทศพัฒนาแล้วและกำลังพัฒนาจะมากขึ้น เพราะประเทศกำลังพัฒนาหรือประเทศเศรษฐกิจเกิดใหม่มีหนี้เพิ่มขึ้นมากที่สุด โดยระยะ 10 ปีที่ผ่านมาเพิ่มขึ้นกว่า 2 เท่า จนมีสัดส่วนประมาณ 1 ใน 3 ของหนี้ทั่วโลก ทำให้ประเทศเหล่านี้ประสบความยากลำบากในการบริหารจัดการหนี้

ณ ปีที่แล้ว “หนี้ทั่วโลก” ทั้งหนี้รัฐบาล หนี้บริษัท หนี้ครัวเรือน และหนี้ภาคการเงิน เพิ่มขึ้นสูงสุดเป็นประวัติการณ์ที่ 24 ล้านล้านดอลลาร์สหรัฐ และทำสถิติใหม่เมื่อเทียบกับจีดีพี โดยอยู่ที่ 366% ของจีดีพี

ตามรายงานของ มูดีส์ อะนาไลติกส์ ประเทศเศรษฐกิจเกิดใหม่อย่างตุรกี เวียดนาม และบราซิล มีหนี้เพิ่มขึ้นทั้งหนี้ภาคเอกชนและหนี้รัฐ ขณะที่สถานการณ์โควิดของประเทศเศรษฐกิจเกิดใหม่โดยทั่วไปก็แย่กว่า เนื่องจากอัตราการฉีดวัคซีนให้ประชาชนยังต่ำและช้าเมื่อเทียบกับประเทศพัฒนาแล้ว หลายประเทศไม่ว่าจะเป็นอินเดีย อาร์เจนตินา มาเลเซีย ก็กำลังต่อสู้กับการกลับมาระบาดใหม่ด้วยจำนวนผู้ติดเชื้อพุ่งขึ้นมาก ขณะที่ประเทศพัฒนาแล้ว เช่น สหรัฐอเมริกา สหราชอาณาจักร และออสเตรเลีย มีจำนวนผู้ติดเชื้อลดลง

“หนี้ที่สูงขึ้นของประเทศเศรษฐกิจเกิดใหม่ อาจส่งผลให้รัฐบาลต้องควบคุมการใช้จ่ายงบประมาณเร็วกว่าปกติเพื่อควบคุมระดับหนี้ไม่ให้เตลิด ทั้งสองปัจจัยคือ หนี้ที่สูงและสถานการณ์โควิด-19 อาจหมายถึงว่าการเติบโตทางเศรษฐกิจของประเทศเหล่านี้จะตามหลังประเทศพัฒนาแล้วเมื่อโลกฟื้นตัวจากโควิด” นักเศรษฐศาสตร์มูดีส์ฯกล่าวและว่า การเติบโตของเศรษฐกิจทั่วโลกจะไม่เท่ากัน โดยเศรษฐกิจสหรัฐอเมริกาและยุโรปน่าจะเร่งตัวขึ้นในฤดูร้อนนี้ ส่วนประเทศเศรษฐกิจเกิดใหม่อาจต้องรอนานกว่าเล็กน้อย

ด้าน “เคน เผิง” หัวหน้าฝ่ายกลยุทธ์ลงทุนเอเชียของซิติ ไพรเวต แบงก์ กลับมองว่า ในแง่การลงทุนแล้ว การที่เอเชียเผชิญภาวะระบาดระลอกใหม่ ไม่ใช่เรื่องที่ต้องกังวลมากเกินไป เพราะนี่ไม่ใช่ครั้งแรกที่เอเชียเผชิญการระบาดรอบใหม่ ล้วนเป็นสิ่งที่เคยเห็นมาก่อนแล้วหลายครั้ง แต่ละครั้งเมื่อการติดเชื้อลดลง เศรษฐกิจก็กลับมาฟื้นตัวได้ ดังนั้นนักลงทุนสามารถเลือกลงทุนหุ้นที่มีราคาต่ำเพราะได้รับผลกระทบรุนแรงจากโควิด เช่น หุ้นสายการบินและอีกหลายบริษัทที่อยู่ในกิจการท่องเที่ยวและสันทนาการ


นอกจากนี้เขาเห็นว่าหุ้นเทคโนโลยีจีนที่ราคาร่วงลงมากก็มีความน่าสนใจ เพราะราคาหุ้นที่ตกลงเกิดจากมาตรการควบคุมของรัฐเป็นหลัก ทั้งมีมุมมองบวกอย่างมากต่อสินค้าโภคภัณฑ์ เพราะเชื่อว่าความต้องการจากจีน สหรัฐ และยุโรป จะสูงขึ้นเรื่อย ๆ เนื่องจากประเทศเหล่านี้ใกล้จะสร้างภูมิคุ้มกันหมู่ได้แล้ว