สินทรัพย์ “จีน” ยังต้องตานักลงทุน ทั่วโลกถือครองพุ่ง 8 แสนล้านเหรียญ

ท่ามกลางความขัดแย้งทางเศรษฐกิจและการทูตระหว่าง “จีน” กับนานาชาติในช่วงหลายปีที่ผ่านมา โดยเฉพาะกับสหรัฐอเมริการวมถึงกิจการภายในที่น่าสงสัยของจีน ทั้งกรณีของการละเมิดสิทธิมนุษยชนในซินเจียง และการควบคุมบริษัทเทคโนโลยียักษ์ใหญ่หลายราย แต่สินทรัพย์จีนยังคงสามารถดึงดูดนักลงทุนทั่วโลกได้อย่างต่อเนื่อง

ไฟแนนเชียลไทมส์รายงานผลวิเคราะห์ล่าสุดระบุว่า ในปี 2020 ที่ผ่านมามูลค่าการถือครองหุ้นและพันธบัตรรัฐบาลจีนของนักลงทุนต่างชาติเพิ่มขึ้นถึง 40% จากราว 570,000 ล้านดอลลาร์สหรัฐ พุ่งขึ้นเป็นกว่า 806,000 ล้านดอลลาร์สหรัฐ นับเป็นการเพิ่มขึ้นมากที่สุดเป็นประวัติการณ์

โดยข้อมูลของบลูมเบิร์กแสดงให้เห็นว่า ยอดการซื้อหุ้นในจีนแผ่นดินใหญ่ของนักลงทุนต่างชาติปีนี้มีมูลค่าอยู่ที่ราว 35,300 ล้านดอลลาร์สหรัฐ เพิ่มขึ้นถึง 49% จากปี 2020 ส่งผลให้ยอดการถือครองหุ้นจีนของนักลงทุนต่างชาติในขณะนี้มีมูลค่ารวมทั้งหมดกว่า 228,000 ล้านดอลลาร์สหรัฐ

ขณะเดียวกัน มูลค่าการถือครองตราสารหนี้รัฐบาลจีนของชาวต่างชาติในปี 2021 ก็สูงกว่า 75,000 ล้านดอลลาร์สหรัฐ หรือเพิ่มขึ้นถึง 50% จากปีที่ผ่านมา ตามข้อมูลของธนาคาร “เครดิต อะกริโคล” ของฝรั่งเศส ส่งผลให้มูลค่าการถือครองพันธบัตรจีนของชาวต่างชาติรวมในขณะนี้ประมาณ 578,000 ล้านดอลลาร์สหรัฐ

ทั้งนี้ ความสำเร็จในการควบคุมการแพร่ระบาดของโควิด-19 ได้อย่างรวดเร็ว และมาตรการของรัฐบาลจีนในการเร่งฟื้นฟูเศรษฐกิจภายในประเทศ เป็นปัจจัยสำคัญที่ให้นักลงทุนทั่วโลกยังเชื่อมั่นในสินทรัพย์จีน “แอนดี เมย์นาร์ด” นักวิเคราะห์ของ
ธนาคารเพื่อการลงทุน “ไชน่าเรเนสซองซ์” ระบุว่า “ความเคลื่อนไหวนี้ต่างไปจากมุมมองด้านภูมิรัฐศาสตร์ เพราะในมุมมองด้านการจัดการสินทรัพย์เราไม่สามารถมองข้ามตลาดจีนได้”

ก่อนหน้านี้รัฐบาลจีนยังได้พยายามผลักดันให้สินทรัพย์หยวนเข้าสู่ดัชนีหุ้นและพันธบัตรทั่วโลก ซึ่ง “ฟุตซี รัสเซลล์” (FTSE Russell) ผู้ให้บริการดัชนีรายล่าสุดที่มีแผนรวมตราสารหนี้ของรัฐบาลจีนเข้าไว้ในดัชนีตลาดพันธบัตรทั่วโลก โดย “โนมูระ” (Nomura) วาณิชธนกิจระดับโลกคาดว่าจะส่งผลเม็ดเงินลงทุนต่างประเทศเข้าสู่จีนอีกกว่า 130,000 ล้านดอลลาร์สหรัฐ

นอกจากนี้ ความพยายามของรัฐบาลจีนในการควบคุมบริษัทเทคโนโลยียักษ์ใหญ่อย่าง “แอนต์ กรุ๊ป” ในเครืออาลีบาบา หรือล่าสุดกรณีของ “ตีตี ชูสิง” ผู้ให้บริการแอปพลิเคชั่นไรด์ เฮลลิ่งรายใหญ่ของจีนที่มีคำสั่งให้ลบแอปพลิเคชั่นออกจากแอปสโตร์ทันทีหลังบริษัทได้ขายหุ้นไอพีโอในตลาดหุ้นนิวยอร์ก ยังส่งผลให้นักลงทุนมองเห็นความเสี่ยงในภาคเทคโนโลยีโดยเฉพาะบริษัทจีนที่จดทะเบียนในต่างประเทศ

ความเสี่ยงเหล่านี้เป็นเหตุผลที่ทำให้นักลงทุนทั่วโลกหันไปสนใจหุ้นจีนในภาคเศรษฐกิจอื่น ๆ มากขึ้น “โทมัส เกตลีย์” นักวิเคราะห์จากบริษัทวิจัย กาฟคาล ดราโกโนมิกส์ ระบุว่า ภาคเทคโนโลยีของจีนกำลังสูญเสียความนิยม นักลงทุน
ต้องการเข้าถึงหุ้นเศรษฐกิจอื่น ๆ ของจีนมากขึ้น ซึ่งนักลงทุนต่างชาติสามารถเข้าถึงหุ้นในจีนแผ่นดินใหญ่ได้ โดยเฉพาะอุตสาหกรรมการผลิต ผ่านตลาดหุ้นฮ่องกงที่เชื่อมโยงกับเซี่ยงไฮ้และเสิ่นเจิ้น

“แมนซอร์ โมฮิอุดดิน” หัวหน้านักเศรษฐศาสตร์ของแบงก์ออฟสิงคโปร์ระบุว่า พันธบัตรรัฐบาลจีนในเวลานี้ให้ผลตอบแทนสูงกว่าตราสารหนี้ของสหรัฐถึง 1.5% ส่งผลให้พันธบัตรจีนเป็นที่ดึงดูดของบรรดานักลงทุนมากกว่า ทั้งหมดนี้สะท้อนให้เห็นความแข็งแกร่งของจีนในระบบเศรษฐกิจโลกที่ไม่อาจมองข้ามได้