เมื่อ “ชิป” คือความมั่นคงชาติ หลายประเทศทุ่มผลิตแก้ขาดแคลน

ชิป
คอลัมน์ ชีพจรเศรษฐกิจโลก
นงนุช สิงหเดชะ

 

ปัญหาการขาดแคลนเซมิคอนดักเตอร์ชิป ซึ่งเป็นส่วนประกอบสำคัญของสินค้าหลากหลายตั้งแต่ “รถยนต์” ไปจนถึง “อุปกรณ์อิเล็กทรอนิกส์” นานาชนิดเริ่มเข้มข้นขึ้นมากในปีนี้ ด้วยเหตุผลหลายประการ หนึ่งในนั้นก็คือการที่โรงงานผลิตเซมิคอนดักเตอร์ต้องหยุดผลิตเพราะปัญหาการระบาดของโควิด-19

ขณะเดียวกันเศรษฐกิจหลายประเทศเริ่มฟื้นตัวแข็งแกร่งจนทำให้ความต้องการสินค้าอิเล็กทรอนิกส์ของผู้บริโภคพุ่งขึ้นฉับพลัน ซึ่งขณะนี้กระทบต่อบางอุตสาหกรรม เช่น รถยนต์ ค่อนข้างมาก และเริ่มกระทบอุตสาหกรรมโทรศัพท์มือถือบ้างแล้ว บางรายงานวิเคราะห์ว่าภาวะขาดแคลนชิปจะดำเนินไปจนถึงปี 2023

“ทิโมธี อุย” ผู้อำนวยการมูดี้ส์ อนาไลติกส์ บอกว่า การขาดแคลนชิปดังกล่าวซึ่งเกิดขึ้นทั่วโลก จะผลักดันให้หลายประเทศหาทางผลิตชิปเอง ซึ่งไม่เพียงแต่ภาคเอกชนเท่านั้นที่ต้องลงมือทำอะไรบางอย่าง แต่รวมถึงรัฐบาลด้วย เพราะการขาดแคลนชิปจะกระทบต่อ “ความมั่นคง” ของชาติด้วย เพราะปัญหาใหญ่ขณะนี้ก็คือ เป็นเรื่องยากที่จะมีซัพพลายใหม่ ๆ เข้าสู่ตลาด อีกทั้งความต้องการชิปที่พุ่งสูงจะยังไม่ลดลงในเร็ว ๆ นี้

อุยชี้ว่า เหตุที่ทั่วโลกขาดแคลนชิปเป็นเพราะการผลิตชิปมีความซับซ้อน ใช้เงินลงทุนสูงและใช้เวลาผลิตนาน บางครั้งอาจใช้เวลาหลายปี การที่ต้องใช้เงินลงทุนสูงทำให้การผลิตกระจุกตัวอยู่ในมือของไม่กี่บริษัท และการที่ตลาดมีความต้องการชิปรุ่นใหม่ ๆ อยู่ตลอดเวลา ยิ่งเพิ่มอุปสรรคให้กับบริษัทหน้าใหม่ในการเข้าสู่อุตสาหกรรมนี้

อย่างไรก็ตาม ขณะนี้บริษัทขนาดใหญ่ที่อยู่ในตลาด ไม่ว่าจะเป็นบริษัท ไต้หวัน เซมิคอนดักเตอร์ แมนูแฟกเจอริ่ง (TSMC), ยูเอ็มซี และซัมซุง อิเล็กทรอนิกส์ ก็กำลังลงทุนสร้างโรงงานแห่งใหม่ ซึ่งจะช่วยเพิ่มซัพพลายใหม่ในอนาคต

สำหรับในระดับรัฐบาล มีบางประเทศเริ่มดำเนินนโยบายเพิ่มศักยภาพการผลิตชิป พร้อมเงินลงทุนจำนวนมาก อันเป็นความพยายามที่จะพึ่งพาตนเอง เช่น รัฐบาลเกาหลีใต้ประกาศว่า ตั้งแต่นี้ไปจนถึงปี 2030 มีโครงการจะลงทุนด้านนี้มูลค่า 4.5 แสนล้านดอลลาร์สหรัฐ พร้อมกับเพิ่มสิทธิประโยชน์ทางภาษีให้กับบริษัทผู้ผลิตชิปเพื่อให้แข่งขันได้มากขึ้น

ด้านรัฐบาลจีนได้จัดตั้ง “กองทุนแห่งชาติ” มูลค่าหลายพันล้านดอลลาร์ เพื่อลงทุนในบริษัทผลิตชิปท้องถิ่น เพื่อให้ตามทันคู่แข่งทั้งสหรัฐ เกาหลีใต้ และไต้หวัน ขณะที่ในซีกของสหรัฐ มีการผ่านกฎหมายว่าด้วยเทคโนโลยีและการผลิตมูลค่า 5.2 หมื่นล้านดอลลาร์ เพื่อสนับสนุนการวิจัย ออกแบบ และผลิตเซมิคอนดักเตอร์ ส่วนสหภาพยุโรปก็พร้อมที่จะสนับสนุนเงินทุนเพื่อผลิตเซมิคอนดักเตอร์ภายในสหภาพ

ผู้อำนวยการของมูดี้ส์ อนาไลติกส์ระบุว่า การที่รัฐบาลเข้ามาเกี่ยวข้องจะช่วยบรรเทาปัญหา โดยเฉพาะราคาของชิปหน่วยความจำ เพราะตลอดมาชิปประเภทนี้อยู่ในมือของบริษัทระดับโลกเพียงไม่กี่ราย เมื่อรัฐบาลเข้าไปอุดหนุนหรือให้ความช่วยเหลือทางอ้อมแก่บริษัทท้องถิ่นในการผลิตชิปโลว์เอนด์ ที่ไม่มีความซับซ้อนมาก ก็จะช่วยเพิ่มซัพพลายในตลาด และสามารถลดปัญหาการขาดแคลนชิปให้กับอุตสาหกรรมรถยนต์ได้

การขาดแคลนชิปทำให้บริษัทรถยนต์ได้รับผลกระทบมากเป็นพิเศษ จนต้องลดหรือหยุดผลิตรถยนต์บางรุ่น ไม่ว่าจะเป็น จีเอ็ม ฟอร์ด นิสสัน เป็นต้น ขณะที่อุตสาหกรรมโทรศัพท์มือถือก็ได้รับผลกระทบบ้างแล้ว

โดย “ทิม คุก” ซีอีโอของแอปเปิล ออกมายอมรับว่า ภาวะตึงตัวของชิปจะกระทบยอดขายของไอโฟน และผลิตภัณฑ์อื่น ๆ เช่น ไอแพด โดยบริษัทไม่ได้ขาดแคลนชิปไฮเอนด์ที่ใช้กับผลิตภัณฑ์ของแอปเปิลโดยเฉพาะ แต่ขาดแคลนชิปที่ใช้สำหรับงานทั่วไป เช่น ชิปสำหรับขับเคลื่อนการทำงานของหน้าจอด้วย

เกล็นน์ โอดอนแนล ผู้อำนวยการฝ่ายวิจัยของบริษัทวิจัย ฟอร์เรสเตอร์ ระบุว่า ขณะที่ทุกคนโฟกัสไปที่ชิปไฮเอนด์อย่างซีพียู แต่อย่าลืมว่าอุปกรณ์ประจำวันซึ่งรวมถึงไอโฟน ต้องใช้ชิปสนับสนุนหลายตัว หากปราศจากชิปสนับสนุนเหล่านี้ โทรศัพท์ก็เกือบจะไร้ประโยชน์ ผลลัพธ์จากการขาดแคลนชิปก็คือ ราคาโทรศัพท์มือถือจะแพงขึ้น และบางรุ่นอาจขาดตลาด โดยกรณีของแอปเปิลอาจหาซื้อรุ่นไฮเอนด์อย่างไอโฟน 12 ได้ แต่อาจหาซื้อรุ่นล่างอย่างไอโฟน XS ไม่ได้ ส่วนบริษัทอื่น ๆ ไม่ว่าจะเป็น ซัมซุง แอลจี หัวเว่ย เสี่ยวหมี่ ล้วนจะได้รับผลกระทบหมด