โจทย์ท้าทาย ‘เศรษฐกิจจีน’ สัญญาณ ‘ส่งออก’ เริ่มมีปัญหา

ความสำเร็จในการควบคุมการแพร่ระบาดของโควิด-19 ได้อย่างรวดเร็วของ “จีน” ทำให้ช่วงต้นปี 2021 ที่ผ่านมา เศรษฐกิจจีนมีแนวโน้มกลับมาฟื้นตัวได้เร็วที่สุดในโลก แต่การกลับมาระบาดอีกครั้งของโควิด-19 สายพันธุ์เดลต้าในจีน กำลังกลายเป็นอุปสรรคสำคัญของภาคอุตสาหกรรมจีน ซึ่งสะท้อนผ่านตัวเลขการส่งออกที่ลดลง และอาจทำให้การฟื้นตัวของจีนต้องชะลอตัวในช่วงครึ่งหลังปีนี้

รอยเตอร์สรายงานว่า การส่งออกของจีนในเดือน ก.ค.ที่ผ่านมา มีมูลค่า 282,660 ล้านดอลลาร์สหรัฐ ขยายตัว 19.3% จากช่วงเดียวกันของปี 2020 แต่เป็นการเติบโตที่ชะลอตัวลงจากเดือน มิ.ย. 2021 ที่เติบโตถึง 32.2% จากปีที่ผ่านมา

ก่อนหน้านี้ จีนประสบความสำเร็จในการควบคุมโรคระบาดจากการใช้มาตรการขั้นเด็ดขาด รวมถึงการพัฒนาวัคซีนป้องกันโควิด-19 ที่เปิดตัวอย่างรวดเร็ว ซึ่งสามารถเรียกความเชื่อมั่นของภาคธุรกิจกลับมาได้ และยังได้รับแรงหนุนจากความต้องการสินค้าของผู้บริโภคที่กำลังฟื้นตัวทั่วโลก

แต่เหตุการณ์อุทกภัยครั้งใหญ่และสภาพอากาศที่เลวร้ายเมื่อช่วงเดือน มิ.ย.-ก.ค.ที่ผ่านมา ได้ส่งผลกระทบต่อกำลังการผลิตในภาคอุตสาหกรรมของจีนอย่างรุนแรงในหลายพื้นที่ โดยเฉพาะตอนกลางของประเทศ

นอกจากนี้ ยังมีการตรวจพบผู้ติดเชื้อโควิด-19 สายพันธุ์เดลต้าที่แพร่กระจายอย่างรวดเร็วในหลายสิบเมือง โดยเฉพาะทางตอนใต้และตะวันออก ซึ่งเป็นศูนย์กลางการส่งออกสินค้าของจีน ส่งผลให้ทางการจีนต้องระงับการดำเนินการของภาคธุรกิจในพื้นที่ รวมถึงโรงงานผลิตสินค้าที่ถูกสั่งปิดชั่วคราวหลายแห่ง

นอกจากนี้ หลายประเทศใกล้เคียงก็เผชิญการระบาดของโควิด-19 ระลอกใหม่เช่นกัน ส่งผลให้ซัพพลายเชนภาคอุตสาหกรรมการผลิตของจีนประสบปัญหาขาดแคลนวัตถุดิบและชิ้นส่วน เนื่องจากกำลังการผลิตวัตถุดิบที่ลดลงในประเทศต่าง ๆ รวมถึงอุปสรรคด้านการขนส่งสินค้า และต้นทุนวัตถุดิบและค่าขนส่งที่เพิ่มสูงขึ้น

ปัญหาทั้งหมดส่งผลให้ยอดนำเข้าของจีนในเดือน ก.ค. 2021 อยู่ที่ราว 226,080 ล้านดอลลาร์สหรัฐ แม้จะเพิ่มขึ้น 28.1% จากปีก่อนหน้า แต่เป็นอัตราการเติบโตที่ลดลงเมื่อเทียบกับการนำเข้าในเดือน มิ.ย. ที่เพิ่มขึ้นถึง 36.7% โดยเฉพาะการนำเข้าวัตถุดิบแร่เหล็กสำหรับการผลิตเหล็กกล้าที่ลดลง มีเพียงการนำเข้าน้ำมันดิบในภาคอุตสาหกรรมที่ดีดตัวขึ้น

นอกจากนี้ ดัชนีผู้จัดการฝ่ายจัดซื้อ (พีเอ็มไอ) ภาคการผลิตของจีนในเดือน ก.ค. ยังอยู่ที่ระดับ 50.4 ลดลงจากระดับ 50.9 ในเดือน มิ.ย. ซึ่งสะท้อนให้เห็นการขยายตัวของภาคอุตสาหกรรมจีนที่ชะลอตัวลง ด้วยสาเหตุหลายปัจจัยไม่ว่าจะเป็น ต้นทุนวัตถุดิบที่สูงขึ้น ค่าบำรุงรักษาอุปกรณ์การผลิตที่สูงขึ้น และสภาพอากาศเลวร้ายที่เป็นอุปสรรคต่อการผลิต

“จือเวย จาง” หัวหน้านักเศรษฐศาสตร์ของพินพอยต์ แอสเซต แมเนจเมนต์ บริษัทจัดการด้านการลงทุนของฮ่องกง ระบุกับเซาท์ไชน่ามอร์นิ่งโพสต์ว่า “สถานการณ์โรคระบาดที่รุนแรงมากขึ้นในหลายประเทศในเอเชีย อาจทำให้ฐานการค้ามุ่งหน้าสู่จีน แต่ดัชนีล่าสุดส่งสัญญาณให้เห็นว่าภาคการส่งออกของจีนจะอ่อนตัวลงในอีกไม่กี่เดือนหน้า”

นี่เป็นส่วนหนึ่งที่ทำให้การเติบโตทางเศรษฐกิจของจีนชะลอตัวลงในไตรมาส 2/2021 อยู่ที่ระดับ 7.9% จากไตรมาส 1/64 ที่เติบโตร้อนแรงถึง 18.3% และอาจจะชะลอตัวอย่างต่อเนื่องต่ำกว่า 6% ภายในสิ้นปีนี้ ท่ามกลางความไม่แน่นอนของโรคระบาดและปัญหาห่วงโซ่การผลิตระดับโลก