ย้อนรอย เศรษฐกิจเยอรมนี ใต้เงา อังเกลา แมร์เคิล

หลังจาก “อังเกลา แมร์เคิล” นั่งเก้าอี้นายกรัฐมนตรีของเยอรมนีนานถึง 16 ปี ซึ่งได้รับการยอมรับว่าเป็นหนึ่งในผู้ทรงอิทธิพลของโลก ทั้งนี้ การจัดเลือกตั้งทั่วไปของเยอรมนี เมื่อวันที่ 26 ก.ย.ที่ผ่านมา ถือว่าเป็น “จุดสิ้นสุด” ของเส้นทางการเมืองสำหรับแมร์เคิล ในวัย 67 ปี ที่ประกาศจะไม่ลงสมัครเลือกตั้งเป็นนายกฯ สมัยที่ 5

นิวยอร์ก ไทมส์ รายงานว่า หากย้อนดูผลงานทางเศรษฐกิจ “จุดสูงสุด” ของแมร์เคิล คงหนีไม่พ้นการที่สามารถพาประเทศรอดมาจากวิกฤตหนี้สาธารณะของประเทศในยุโรปได้ โดยตอนนั้นหลาย ๆ ประเทศโดยเฉพาะ กรีซ โปรตุเกส และอิตาลี มีหนี้สาธารณะระดับสูงมาก จนเป็นกังวลกันว่า จะทำให้ “สกุลเงินยูโร” ล่มสลาย

อย่างไรก็ดี แมร์เคิล ซึ่งได้กลายมาเป็น “ผู้นำอียู” ร่วมมือกับฝรั่งเศส ในการกอบกู้วิกฤตดังกล่าว ได้ออกนโยบายเด็ดขาด จะให้การช่วยเหลือประเทศที่กำลังเกิดวิกฤต ก็ต่อเมื่อยอมรับเงื่อนไขที่เข้มงวด ตัดค่าใช้จ่ายที่ไม่จำเป็น ขึ้นภาษี ลดเงินอุดหนุนประชาชน

ถึงแม้การกระทำดังกล่าว ทำให้คนในประเทศลูกหนี้มองว่า เป็นการกระทำที่โหดร้ายอย่างมาก แต่ผู้สนับสนุนแมร์เคิลมองว่า เป็นนโยบายสำคัญที่ทำให้ วิกฤตหนี้ที่เลวร้ายครั้งนั้นค่อย ๆ คลี่คลาย

ขณะเดียวกัน สถาบันการเงินโกลด์แมน แซกส์ระบุว่า ภายใต้การเป็นผู้นำของแมร์เคิล ตัวเลขเศรษฐกิจ (จีดีพี) ประเทศเยอรมนี ได้ขยายตัวอย่างรวดเร็ว มากกว่าเพื่อนบ้านอย่าง ฝรั่งเศส และอิตาลี

ถึงแม้เศรษฐกิจจะหดตัวอย่างมากในช่วงวิกฤตทางการเงินของโลก อย่างไรก็ตาม 16 ปีที่แมร์เคิลเข้ารับตำแหน่ง ตั้งแต่ปี 2005-2020 เศรษฐกิจเยอรมนีมีการขยายตัวถึง 34% ซึ่งมากกว่าประเทศอื่น ๆ ที่อยู่ในยูโรโซนราว 2 เท่า

อย่างไรก็ตาม ถึงแม้เศรษฐกิจเยอรมนีจะขยายตัวมาได้อย่างรวดเร็ว แต่มีนักวิเคราะห์บางส่วนมองว่า การขยายตัวของเศรษฐกิจในอนาคตอาจจะเติบโตช้าลง เนื่องจากแมร์เคิลเพิกเฉยต่อการสร้าง และพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานในยุคสมัยใหม่ รวมทั้งลงทุนไม่เพียงพอทั้งด้านการศึกษาและเทคโนโลยีที่กำลังมาแรง อย่างเช่น ปัญญาประดิษฐ์ (AI) และรถยนต์ไฟฟ้า

โดยตอนนี้ชาวเยอรมันมีค่าใช้จ่ายพลังงานต่อหัวที่สูงสุดในโลก เพราะถึงแม้แมร์เคิลจะผลักดันการปิดโรงไฟฟ้าพลังงานนิวเคลียร์ อย่างไรก็ตาม ไม่ได้มีการขยายโครงสร้างพื้นฐานรองรับพลังงานทดแทนที่เพียงพอสำหรับประชาชน จึงทำให้ราคาพลังงานพุ่ง

เหล่านักวิเคราะห์มองว่า สาเหตุที่เศรษฐกิจเยอรมนีสามารถขยายตัวได้มาก ในช่วงที่แมร์เคิลเป็นผู้นำ ส่วนหนึ่งก็เป็นผลมาจากการค้ากับจีน โดยหากย้อนกลับไปเมื่อ 16 ปีที่แล้ว เยอรมนีแทบจะไม่มีการส่งออกไปยังประเทศจีน แต่เมื่อปีที่แล้ว “จีน” ได้แซง “สหรัฐ” กลายเป็นประเทศคู่ค้าใหญ่ที่สุดของเยอรมนี

ปัจจุบันจีนเป็นตลาดที่ใหญ่ที่สุดสำหรับผู้ผลิตรถยนต์เยอรมันอย่าง “โฟล์คสวาเกน” “เมอร์เซเดส-เบนซ์” และ “บีเอ็มดับเบิลยู” ขณะที่บริษัทต่าง ๆ ของเยอรมันก็เป็นซัพพลายเออร์เครื่องจักรอุตสาหกรรม รวมถึงอุปกรณ์อื่น ๆ ที่สำคัญ ซึ่งได้เป็นส่วนหนึ่งที่ทำให้จีนสามารถเป็นมหาอำนาจการส่งออกของโลกได้

และที่ผ่านมา แมร์เคิลเพิกเฉยปัญหา “สิทธิมนุษยชน” ในประเทศจีน ไม่เหมือนประเทศตะวันตกอื่น ๆ และหันไปสร้างความสัมพันธ์ทางเศรษฐกิจกับประเทศจีน โดยแมร์เคิลได้ให้ผู้นำประเทศเดินทางไปประเทศจีน รวมถึงตัวเองก็ได้เดินทางไปเยือนจีน ร่วมกับตัวแทนจากบริษัทยักษ์ใหญ่ของเยอรมนีถึง 12 ครั้ง

โดยเมื่อปลายปีที่แล้ว “สี จิ้นผิง” ประธานาธิบดีจีน และผู้นำชาติสมาชิกสหภาพยุโรป นำโดยแมร์เคิล ได้อนุมัติ “ความตกลงด้านการลงทุนรอบด้านระหว่างอียู-จีน” ถึงแม้ “โจ ไบเดน” ว่าที่ประธานาธิบดีสหรัฐในตอนนั้น จะออกมาระบุว่า ไม่เห็นด้วยกับความตกลงดังกล่าวก็ตาม

อย่างไรก็ดี ถึงแม้คณะกรรมาธิการยุโรปได้ระงับความพยายามที่จะให้มีการอนุมัติความตกลงว่าด้วยการลงทุนของสหภาพยุโรปกับจีนแล้ว

แต่ “เทเรสา แฟลลอน” ประธานและผู้ก่อตั้งศูนย์การศึกษารัสเซีย ยุโรป และเอเชีย ที่บรัสเซลส์ ได้ออกมากล่าวว่า จากการทำความตกลงดังกล่าว ชัดเจนว่าเยอรมนีเป็นประเทศที่เป็นผู้นำในการกำหนดนโยบายของอียู รวมทั้งยังได้ส่งสัญญาณชัดเจนว่า เยอรมนียังอยากทำการค้ากับจีนมากขึ้น และยิ่งทำให้เกิดความตึงเครียดกัน ระหว่างประเทศเยอรมนีกับพันธมิตรตะวันตก โดยเฉพาะสหรัฐอเมริกา

และในตอนนี้ จากการเป็นคู่ค้ากับจีนมาเป็นเวลานาน จีนก็เริ่มขยายตัว เรียนรู้จากเยอรมนี และกลายเป็นคู่แข่งเยอรมนีในด้านเครื่องจักรอุตสาหกรรม และรถยนต์พลังงานไฟฟ้าแล้ว

สมาคมวิศวกรรมเครื่องกลของประเทศ เยอรมนี ระบุว่า จีนได้เรียนรู้จากบริษัทเยอรมัน และกลับมาเป็น “คู่แข่ง” สำคัญของเยอรมนีด้วย อย่างผู้ผลิตรถยนต์จีน “นีโอ” และ “บีวายดี” ก็เริ่มมาขายรถยนต์ไฟฟ้าที่ยุโรป และจีนก็ได้กลายมาเป็นผู้ส่งออกอันดับ 2 ของโลก ในด้านเครื่องจักรอุตสาหกรรม