“ฟูจิฟิล์ม” ทุ่ม 6 แสนล้านเยน พุ่งเป้า “ผู้ผลิตยา” ระดับโลก

สถานการณ์โควิด-19 เป็นแรงหนุนสำคัญที่ทำให้อุตสาหกรรมยาร้อนแรงขึ้น และกลายเป็นโอกาสของบริษัทรับจ้างพัฒนาและผลิตยาตามสัญญา (ซีดีเอ็มโอ) เช่นกรณีของ “ฟูจิฟิล์ม”

นิกเคอิ เอเชีย รายงานว่า “ฟูจิฟิล์ม โฮลดิ้งส์” ประกาศแผนการลงทุน 600,000 ล้านเยน (5,250 ล้านดอลลาร์สหรัฐ) ในธุรกิจยาและชีวเภสัชภัณฑ์ เพื่อพัฒนาระบบการผลิตที่มีประสิทธิภาพ มากขึ้น และมีต้นทุนลดลง โดยตั้งเป้าก้าวขึ้นเป็นซีดีเอ็มโอในอุตสาหกรรมยาระดับโลก

แผนการลงทุนครั้งนี้ เปิดเผยหลังจาก “ฟูจิฟิล์ม” รายงานผลประกอบการครึ่งแรกของปีงบประมาณ 2021 (1 เม.ย.-30 ก.ย. 2021) รายได้ของฟูจิฟิล์มอยู่ที่ 1.21 ล้านล้านเยน เพิ่มขึ้น 21% จากช่วงเดียวกันปีก่อน และกำไรอยู่ที่ 107,900 ล้านเยน เพิ่มขึ้น 91%

โดยธุรกิจผลิตยาและชีวเภสัชภัณฑ์ของฟูจิฟิล์ม สร้างรายได้ประมาณ 1 ใน 4 ของรายได้บริษัท และคาดว่าจะเพิ่มขึ้นเป็น 32% ในอีก 2 ปี ขณะที่รายได้จากธุรกิจเทคโนโลยีภาพ มีสัดส่วนรายได้อยู่ที่ 13%

ฟูจิฟิล์มหันมาโฟกัสอุตสาหกรรมยามากขึ้น ตามเป้าหมายของ “เทอิจิ โกโตะ” ซีอีโอบริษัท ที่มีแผนลงทุนรวม 11,000 ล้านดอลลาร์สหรัฐ ในเวลา 3 ปีนับจากนี้ เพื่อยกระดับธุรกิจการผลิตยาให้กลายเป็นธุรกิจหลักที่สร้างรายได้หลักและกำไรของฟูจิฟิล์ม

ทั้งนี้ ฟูจิฟิล์มเริ่มจับอุตสาหกรรมยามาตั้งแต่ปี 2000 และมีบทบาทอย่างมากในช่วงการแพร่ระบาดของโควิด-19 โดย “ฟูจิฟิล์ม โทยามะ เคมิคอล” ได้เดินหน้าพัฒนาและผลิตยา “อาวิแกน” หรือ “ฟาวิพิราเวียร์” ซึ่งได้รับการอนุมัติใช้รักษาผู้ป่วยโควิด-19 ในหลายประเทศ เช่น อินเดีย และรัสเซีย

นอกจากนี้ ฟูจิฟิล์มยังร่วมมือกับ “วีแอลพี เทอราพิวติกส์” บริษัทเทคโนโลยีชีวภาพสหรัฐ ในการพัฒนาวัคซีนโควิด-19 ชนิดเอ็มอาร์เอ็นเอ พร้อมลงทุนสร้างโรงงานที่ยุโรปและสหรัฐ เพื่อผลิตสารที่เป็นส่วนประกอบสำหรับ ยารักษาอาการโควิด-19 ของบริษัท “อีไล ลิลลี่” และส่วนประกอบของวัคซีน “โนวาแวกซ์” เป้าหมายของฟูจิฟิล์มในการเป็นผู้ผลิตยาระดับโลก สอดคล้องกับเทรนด์ที่บริษัทยาหันไปมุ่งเน้นการวิจัยและทดลองตัวยาในห้องปฏิบัติการ และจ้างบริษัทมาทำหน้าที่พัฒนาและผลิตยาแบบเอาต์ซอร์ซแทน เพื่อหลีกเลี่ยงความเสี่ยงจากการผลิตยาด้วยตนเองทั้งกระบวนการที่ต้องลงทุนมหาศาล

เช่น กรณี “โนวาร์ติส” บริษัทวิจัยยาสัญชาติสวิตเซอร์แลนด์ และ “แอสตร้าเซนเนก้า” ของอังกฤษ ที่ขายโรงงานยาบางส่วนในสหรัฐให้ “เอจีซี” ยักษ์กระจกของญี่ปุ่น ที่ขยายไลน์ไปผลิตสินค้าเคมีภัณฑ์และยารักษาโรค

“รีเสิร์ชแอนด์มาร์เก็ตส์” ประมาณการว่า ธุรกิจรับจ้างพัฒนาและผลิตยาจะมีมูลค่าเพิ่มถึง 241,000 ล้านดอลลาร์สหรัฐ ภายในปี 2024 หรือขยายตัวถึง 50% จากปีนี้ ซึ่งขณะนี้บริษัทซีดีเอ็มโอรายใหญ่ ได้แก่ ลอนซ่า กรุ๊ป ของสวิตเซอร์แลนด์, เบอริงเกอร์ อินเกลไฮม์ ของเยอรมนี และซัมซุง ไบโอโลจิกส์ ของเกาหลีใต้


โดยทั้ง 3 บริษัทครองสัดส่วนการผลิตยาทั่วโลกถึง 70% นับเป็นความท้าทายของฟูจิฟิล์ม ในการเข้ามาชิงส่วนแบ่งการตลาด เพื่อก้าวขึ้นสู่การเป็นผู้นำการผลิตยาระดับโลก