อังกฤษอนุมัติยาต้านโควิดที่อาจได้ผลกับโอไมครอน

อังกฤษอนุมัติใช้ยาที่อาจต้านโอไมครอน

อังกฤษอนุมัติการใช้ยารักษาผู้ติดเชื้อโควิด-19 ที่เสี่ยงจะมีอาการรุนแรง ซึ่งผู้ผลิตระบุว่าดูเหมือนจะใช้ได้ผลกับสายพันธุ์โอไมครอน

วันที่ 2 ธันวาคม 2564 สำนักงานควบคุมยาและผลิตภัณฑ์สุขภาพ (Medicines and Healthcare products Regulatory Agency หรือ MHRA) ของอังกฤษ แถลงว่ายาโซโทรวิแมบ (Sotrovimab) ซึ่งเป็นการรักษาแบบโมโนโคลนอลแอนติบอดี (monoclonal antibody treatment) มีความปลอดภัยและมีประสิทธิภาพในการลดความเสี่ยงจากการรักษาในโรงพยาบาลและการเสียชีวิต ในผู้ติดเชื้อโควิดที่มีอาการเล็กน้อยถึงปานกลาง

MHRA พบว่ายาชนิดกินเพียงโดสเดียวนี้ ช่วยลดความเสี่ยงจากการรักษาในโรงพยาบาลและการเสียชีวิตได้ 79% ในผู้ใหญ่ที่มีความเสี่ยงสูงที่จะติดเชื้อแบบแสดงอาการ

MHRA แนะนำว่ายาโซโทรวิแมบ ซึ่งมีชื่อทางการค้าว่า “เซวูดี” (Xevudy) ควรถูกใช้โดยเร็วที่สุด และภายในห้าวันหลังจากเริ่มมีอาการ

“จูน เรน” ประธาน MHRA ยินดีที่จะเพิ่มยาชนิดนี้ในคลังยาของอังกฤษเพื่อต่อสู้กับการระบาดของโควิด โดยเธอระบุว่ายาดังกล่าวเป็นการรักษาอีกวิธีหนึ่ง ที่มีประสิทธิภาพในการปกป้องผู้ที่เสี่ยงต่อโควิดมากที่สุด

ยาโซโทรวิแมบพัฒนาโดยบริษัทแกล็กโซสมิธไคลน์ พีแอลซี (GlaxoSmithKline plc หรือ GSK) ซึ่งเป็นบริษัทในอังกฤษ และบริษัทเวอร์ ไบโอเทคโนโลยี (Vir Biotechnology) ซึ่งมีสำนักงานใหญ่อยู่ในสหรัฐ

GSK เผยว่าจากการวิเคราะห์ในห้องปฏิบัติการแสดงให้เห็นว่ายาชนิดนี้มีประสิทธิภาพในการต้านไวรัสที่มีการกลายพันธุ์อย่างโดดเด่นของสายพันธุ์โอไมครอน

อย่างไรก็ตาม ยังคงมีการเดินหน้าทดสอบยานี้เพื่อยืนยันประสิทธิภาพในการต้านโอไมครอน คาดว่าจะมีความคืบหน้าภายในสิ้นปีนี้

GSK เผยด้วยว่ายาโซโทรวิแมบยังแสดงให้เห็นถึงประสิทธิภาพในการต้านโควิดสายพันธุ์อื่น ๆ ทั้งสายพันธุ์ที่น่ากังวลและสายพันธุ์ที่น่าสนใจตามการจัดหมวดหมู่ขององค์การอนามัยโลก (WHO) ซึ่งรวมถึงสายพันธุ์เดลต้าที่ทำให้เกิดการระบาดเพิ่มขึ้นในหลายประเทศของยุโรป กระทั่งยุโรปกลายเป็นศูนย์กลางการระบาดในช่วงไม่กี่เดือนมานี้