“เยรูซาเลม” สำคัญอย่างไร?…ตัดสินใจครั้งใหญ่ ผู้นำสหรัฐ “ทรัมป์” จุดไฟเดือดตะวันออกกลาง

REUTERS/Mohammed Salem

กลายเป็นประเด็นสำคัญระดับโลก หลังประธานาธิบดีโดนัลด์ ทรัมป์แห่งสหรัฐ แถลงลงนามรับรอง”เยรูซาเลม” เป็นเมืองหลวงของอิสราเอลอย่างเป็นทางการ นับตั้งแต่การสถาปนารัฐอิสราเอล เมื่อปี 2491 ท่ามกลางเสียงวิจารณ์และตำหนิจากผู้นำประเทศทั่วโลกว่าเป็นการจุดไฟความขัดเเย้ง เเละทำลายสันติภาพในตะวันออกกลาง

จากนี้ไปการตัดสินใจย้ายสถานทูตสหรัฐ ประจำอิสราเอล จากกรุงเทลอาวีฟไปยังนครเยรูซาเลม ของทรัมป์ครั้งนี้…จะกลายเป็นเรื่องใหญ่

โดยสถานะของ “เยรูซาเลม” เมืองโบราณอันเป็นที่ตั้งศาสนสถานศักดิ์สิทธิ์ของ 3 ศาสนาทั้ง “ยิว มุสลิม และคริสต์” แห่งนี้ถือเป็นประเด็นความขัดแย้งระหว่างอิสราเอลและปาเลสไตน์มานานหลายทศวรรษ ซึ่งต่างต้องการได้นครแห่งนี้เป็นเมืองหลวงของชนชาติตน เเละการเปลี่ยนเเปลงเเต่ละครั้งนั้นย่อมมีความรุนเเรงปะทุขึ้น

AFP PHOTO / SAUL LOEB

โยแลนด์ เนลล์ ผู้สื่อข่าวตะวันออกกลางของบีบีซี รายงานว่า ชาวอิสราเอลส่วนใหญ่มองเยรูซาเลมเป็น “เมืองหลวง” ที่ไม่อาจเปลี่ยนเเปลงเเละเเบ่งเเยกได้

โดยหลังก่อตั้งรัฐใหม่ เมื่อปี 1948 ทางการอิสราเอลได้ตั้งรัฐสภาทางตะวันตกของเมือง โดยหลังจากการทำสงครามกับชาติอาหรับในปี 1967 อิสราเอลได้เข้ายึดครองนครเยรูซาเลมทางตะวันออกเเละเขตเมืองเก่าด้วย ซึ่งไม่เป็นที่ยอมรับของหลายประเทศ

ขณะที่ ชาวเมืองเยรูซาเลม ราว 1 ใน 3 เป็นชาวปาเลสไตน์ ซึ่งมีการตั้งถิ่นฐานมานานหลายร้อยปี ผู้สื่อข่าวบีบีซี เเสดงความคิดเห็นว่า ชาวปาเลสไตน์มีความเห็นต่อการที่ยกเยรูซาเลมเป็น “เมืองหลวง” ต่างกับอิสราเอล โดยพวกเขาต้องการให้ไปตามเเนวทางสันติภาพที่รู้จักกันในนาม “ทางเเก้ 2 รัฐ” ซึ่งเเต่เดิมต้องการก่อตั้งรัฐปาเลสไตน์ ให้มีพรมเเดนติดกันกับอิสราเอล ตามเเนวทางของสหประชาชาติ

นอกเหนือจากปัญหาความขัดเเย้งด้านพื้นที่เเล้ว ยังมีข้อกังวลในการขยายตั้งถิ่นฐานของชาวยิวในเยรูซาเลมตะวันออก ซึ่งถูกมองว่าผิดกฎหมายระหว่างประเทศ เเต่อิสราเอลไม่เห็นด้วย

ผู้สื่อข่าวบีบีซี ระบุว่า ทางเลือกของรัฐบาลสหรัฐที่ครั้งหนึ่งเคยถูกมองว่า “ล้ำเส้นและมีข้อจำกัด” กำลังได้รับการพิจารณาอย่างจริงจัง

AFP PHOTO / Musa AL SHAER

สำหรับความขัดเเย้ง “เยรูซาเลม” กลายเป็นประเด็นขึ้นมาใหม่ในช่วงนี้ เนื่องจากคำสั่งเลื่อนการบังคับใช้กฎหมายว่าด้วยการตั้งสถานทูตสหรัฐฯ ในอิสราเอล ซึ่งมีผลตั้งแตปี 1995 และต้องต่อเวลาทุก 6 เดือน หมดอายุลงในวันที่ 4 ธ.ค. ก่อนที่ทรัมป์จะเปิดแถลงข่าวยืนยันการลงนามในประกาศรับรองว่า นครเยรูซาเล็มเป็นเมืองหลวงของประเทศอิสราเอล อย่างชัดเจนในวันที่ 6 ธ.ค. ตามเวลาท้องถิ่น (1.00 น. วันที่ 7 ธ.ค. ในประเทศไทย) โดยรัฐบาลสหรัฐ ได้สั่งให้เจ้าหน้าที่อเมริกันเเละพลเมือง หลีกเลี่ยงเขตเมืองเก่าเยรูซาเลมและเวสต์แบงก์ ด้วยคาดว่าจะเกิดการประท้วงต่อต้านอย่างรุนแรง

ทั้งนี้ ประธานาธิบดีทรัมป์ไม่ใช่ ผู้นำสหรัฐคนเเรกที่คิดจะย้ายสถานทูตสหรัฐฯ จากกรุงเทลอาวีฟไปยังเยรูซาเลม โดยผู้ที่ผลักดันเรื่องนี้ขึ้นมาคือนายจอร์จ เอช ดับเบิลยู บุช และนายบิล คลินตัน แต่อดีตผู้นำทั้งสองคนก็ยกเลิกแนวคิดดังกล่าวไป เเละในสมัยของอดีตประธานาธิบดีบารัค โอบามา ก็ต่างใช้สิทธิ์ลงนามชะลอการบังคับใช้กฎหมายนี้มาตลอด เพื่อไม่ให้ส่งผลกระทบกับการเจรจาสันติภาพอันเปราะบางระหว่างอิสราเอลกับปาเลสไตน์

โดย “ทรัมป์” ให้เหตุผลว่า เขาไม่ต้องการเปลี่ยนความมุ่งมั่นของสหรัฐ ที่ต้องการเห็นสันติภาพในบริเวณดังกล่าว และให้ความเคารพผู้นับถือศาสนาทุกศาสนาในดินแดนศักดิ์สิทธิ์แห่งนี้ และขอเรียกร้องให้ทุกฝ่ายรักษาสภาพเดิมที่เป็นอยู่ตามสถานที่ศักดิ์สิทธิ์ต่างๆ ในเยรูซาเล็ม รวมถึง Temple Mount หรือ Haram al-Sharif

พร้อมอ้างว่าการรับรองครั้งนี้จะขยับกระบวนการสันติภาพระหว่างอิสราเอลกับปาเลสไตน์ไปได้ก้าวใหญ่ และเป็นประโยชน์ที่ดีที่สุดสำหรับสหรัฐอเมริกา โดยทรัมป์เคยหาเสียงเลือกตั้งเมื่อปีที่แล้วว่าเขาจะสั่งย้ายสถานทูตสหรัฐ จากเทลอาวีฟไปยังเยรูซาเลมให้ได้

REUTERS/Ammar Awad

การตัดสินใจของโดนัลด์ ทรัมป์ครั้งนี้ เเม้จะได้รับความยินดีจากอิสราเอล เเต่ก็ถูกตำหนิจากทั่วสารทิศ ไม่ว่าจะเป็น ซาอุดีอาระเบีย อียิปต์ จอร์แดน สหภาพยุโรปหรืออียู ฝรั่งเศส อังกฤษ เยอรมนี และตุรกี รวมถึงล่าสุด สมเด็จพระสันตปาปา ฟรานซิส ทรงมีรับสั่งปกป้องสถานะเดิมของนครเยรูซาเลม แม้พระองค์ทรงเป็นประมุขแห่งคริสตจักรนิกายโรมันคาทอลิก แต่ทรงเคารพคนในศาสนาอื่น

ขณะที่นายมาห์มูด อับบาส ผู้นำปาเลสไตน์ ประกาศว่า สหรัฐไม่ใช่ตัวแทนคนกลางสำหรับการเจรจาสันติภาพอีกต่อไป เเละประธานาธิบดีเรจิบ เทยิบ เออโดวาน ของตุรกี กล่าวว่า การย้ายสถานทูตอเมริกันมาที่เยรูซาเลม เปรียบเหมือนการทิ้งระเบิดลงสู่พื้นฐานแห่งสันติภาพ

ด้านรัฐบาลอิหร่าน ศัตรูเบอร์ใหญ่ของสหรัฐ แถลงอย่างแข็งกร้าว ว่าอิหร่านจะไม่ทนกับการกระทำของทรัมป์ ที่ละเมิดกฎหมาย ยั่วยุเเละอันตรายอย่างยิ่ง โดยอิหร่านจะเข้าประชุมวารพิเศษกับองค์การความร่วมมืออิสลาม วันที่ 13 ธ.ค.นี้

ฝั่งความเห็นจาก “แอรอน เดวิด มิลเลอร์” อดีตที่ปรึกษาด้านนโยบายตะวันออกกลางให้กับทั้งฝ่ายรีพับลิกันและเดโมแครต และเป็นผู้บริหารของสถาบัน Woodrow Wilson International Center for Scholars ให้ความเห็นว่า การตัดสินใจของโดนัลด์ ทรัมป์ครั้งนี้ เป็นตัวอย่างกรณีศึกษาของการจุดไฟแห่งความโกรธแค้นในโลกมุสลิม

ความตึงเครียดในตะวันออกกลางจะยังคงปะทุต่อไป จากการตัดสินใจครั้งประวัติศาสตร์ของผู้นำสหรัฐครั้งนี้ จะเป็นไปอย่างไร…ต้องติดตาม

AFP PHOTO / Musa AL SHAER