รัฐประหารเมียนมาครบ 1 ปี เกิดอะไรขึ้นหลังทหารยึดอำนาจอองซานซูจี

รัฐประหารเมียนมาครบ 1 ปี เกิดอะไรขึ้นบ้าง
REUTERS/Stringer/File Photo

อีกเพียงไม่กี่วันจะครบรอบ 1 ปี กองทัพเมียนมายึดอำนาจรัฐบาลพลเรือน ภายใต้การนำของ “อองซานซูจี” ในห้วงเวลาแห่งความโกลาหล เกิดอะไรขึ้นบ้าง ? 

วันที่ 28 มกราคม 2565 แชนแนลนิวส์เอเชียรายงานว่า กองทัพเมียนมาเข้ายึดอำนาจภายในประเทศ เมื่อวันที่ 1 กุมภาพันธ์ ปีที่แล้ว โดยขับไล่รัฐบาลพลเรือน พร้อมจับกุม “อองซานซูจี” ผู้นำโดยพฤตินัยของเมียนมk ขณะที่ประชาชนเกือบ 1,500 ชีวิตถูกสังหาร ส่วนอีกหลายพันคนถูกจับกุมในระหว่างที่รัฐบาลทหารเดินหน้าปราบปรามผู้เห็นต่าง

ต่อไปนี้คือเรื่องราวที่เกิดขึ้นในเมียนมาตลอดหนึ่งปี หลังการยึดอำนาจครั้งล่าสุดของกองทัพ ซึ่งถือเป็นการสิ้นสุดการทดลองปกครองประเทศด้วยระบอบประชาธิปไตยที่ดำเนินมานานครบทศวรรษ หลังการปกครองของทหารนานครึ่งศตวรรษ

บุกก่อนรุ่งสาง

ทหารควบคุมอองซานซูจีและพันธมิตรระดับสูงของเธอ ระหว่างการบุกจู่โจมในช่วงก่อนรุ่งสางของวันที่ 1 กุมภาพันธ์ 2564 ก่อนการเปิดประชุมรัฐสภาเมียนมาชุดใหม่

นายพลเมียนมาอ้างว่า เหตุมาจากการทุจริตเลือกตั้งเมื่อเดือนพฤศจิกายน 2563 ซึ่งพรรคสันนิบาตแห่งชาติเพื่อประชาธิปไตย (NLD) ของอองซานซูจี คว้าชัยชนะมาอย่างถล่มทลาย

การกระทำของทหารเมียนมาครั้งนี้เรียกเสียงประณามจากทั่วโลก ไล่ตั้งแต่สมเด็จพระสันตะปาปาฟรานซิส ไปจนถึง “โจ ไบเดน” ประธานาธิบดีสหรัฐฯ

อินเทอร์เน็ตถูกบล็อก

การต่อต้านรัฐประหารเริ่มต้นจากการที่ประชาชนออกมาทุบหม้อและกระทะ ซึ่งในท้องถิ่นเชื่อว่าเป็นวิธีการขับไล่วิญญาณชั่วร้าย

กองทัพพยายามปิดกั้นไม่ให้ประชาชนเข้าถึงโซเชียลมีเดีย ซึ่งรวมถึงเฟซบุ๊ก ที่ได้รับความนิยมอย่างมากในเมียนมา ต่อมายังมีการปิดอินเทอร์เน็ตทุกคืนด้วย

การแข็งขืน

การต่อต้านเพิ่มขึ้นในช่วงสุดสัปดาห์วันที่ 6 และ 7 กุมภาพันธ์ โดยมีฝูงชนรวมตัวกันตามท้องถนน เพื่อเรียกร้องให้ปล่อยตัวอองซานซูจี

ในสัปดาห์ต่อ ๆ มา ชาวเมียนมาหลายแสนคนเริ่มออกมาประท้วงตามหมู่บ้านและเมืองต่าง ๆ ทั่วประเทศ ต่อมาวันที่ 8 กุมภาพันธ์ จึงมีการนัดหยุดงานทั่วประเทศ

คล้อยหลังเพียง 1 วัน หญิงอายุ 19 ปีถูกยิงเข้าที่ศีรษะ ขณะตำรวจเปิดฉากยิงใส่ฝูงชนในกรุงเนปิดอว์

การลงโทษจากต่างประเทศ

ไม่นานหลังจากนั้น ทางการสหรัฐฯได้ประกาศคว่ำบาตรเจ้าหน้าที่ทหารหลายนายของเมียนมา ซึ่งรวมถึง พลเอกอาวุโส “มิน อ่อง หล่าย” ผู้บัญชาการทหารสูงสุด ซึ่งเป็นผู้นำการรัฐประหาร ก่อนที่อังกฤษและสหภาพยุโรปจะประกาศคว่ำบาตรด้วย

การปราบปรามผู้ประท้วงทวีความรุนแรง

“มยา ตวะเต ตวะเต ไคง์” หญิงที่ถูกยิง เสียชีวิตเมื่อวันที่ 19 กุมภาพันธ์ หลังจากที่เธอได้กลายเป็นสัญลักษณ์ของการประท้วงต่อต้านรัฐบาลเผด็จการ

การปราบปรามการประท้วงตามท้องถนนทวีความรุนแรงขึ้นเรื่อย ๆ กระทั่งวันที่ 11 มีนาคม “แอมเนสตี้ อินเตอร์เนชั่นแนล” ระบุว่า ทางแอมเนสตี้ฯได้บันทึกข้อมูลความโหดร้ายของรัฐบาลทหาร เช่น การใช้อาวุธในสนามรบกับผู้ประท้วงที่ไม่มีอาวุธ

วันที่เหตุการณ์ดุเดือดที่สุด

พลเรือนกว่า 100 คนเสียชีวิตระหว่างการปราบปรามการประท้วงในวันที่ 27 มีนาคม ซึ่งตรงกับวันกองทัพ และเป็นวันที่มีเหตุรุนแรงมากที่สุดนับตั้งแต่การรัฐประหาร

เดือนต่อมา ส.ส.พลเรือนที่ถูกขับไล่ ประกาศก่อตั้งรัฐบาลเงา ภายใต้ชื่อ “รัฐบาลเอกภาพแห่งชาติ” (National Unity Government: NUG)

จับกุมนักข่าวอเมริกัน

“แดนนี เฟนสเตอร์” บรรณาธิการชาวอเมริกัน ประจำสำนักข่าวท้องถิ่น “ฟรอนเทียร์ เมียนมา” ถูกควบคุมตัวที่สนามบินในนครย่างกุ้ง ระหว่างที่เขาพยายามจะเดินทางออกนอกประเทศ เมื่อวันที่ 24 พฤษภาคม

ภายหลังการพิจารณาคดีในเรือนจำนครย่างกุ้ง เขาถูกตัดสินจำคุกเป็นเวลา 11 ปี ในเดือนพฤศจิกายน ในข้อหามีส่วนร่วมในการทำผิดกฎหมาย ยุยงปลุกปั่น และละเมิดกฎหมายคนเข้าเมือง

3 วันต่อมา เขาได้รับการอภัยโทษและได้รับการปล่อยตัว ก่อนจะบินกลับบ้านเกิดเพื่อไปพบกับครอบครัวที่สนามบินเจเอฟเคในนครนิวยอร์ก

การพิจารณาคดีอองซานซูจี

ในเดือนมิถุนายน หรือกว่า 4 เดือนหลังจากอองซานซูจีถูกควบคุมตัว เธอถูกนำตัวเข้าสู่กระบวนการพิจารณาคดีในศาลทหาร

เธอต้องเผชิญกับข้อกล่าวหาที่หลากหลาย ซึ่งรวมถึงการนำเข้าเครื่องรับส่งวิทยุอย่างผิดกฎหมาย และการละเมิดกฎหมายควบคุมการระบาดของโควิด-19 ในช่วงการเลือกตั้งปี 2563

โควิดระบาด-19

การติดเชื้อโควิด-19 เพิ่มขึ้นทั่วเมียนมา ตั้งแต่ช่วงปลายเดือนมิถุนายน ขณะที่บุคลากรทางการแพทย์จำนวนมากที่สนับสนุนประชาธิปไตยพากันนัดหยุดงาน ส่วนประชาชนทั่วไปก็หลีกเลี่ยงการใช้บริการโรงพยาบาลที่บริหารโดยกองทัพ

ประชาชนยังฝ่าฝืนเคอร์ฟิว เพื่อออกไปต่อคิวหาถังออกซิเจนให้คนที่พวกเขารัก ไม่ก็อาสาทำงานนำศพออกมาเผา

หายนะทางเศรษฐกิจ


ในเดือนกรกฎาคม ธนาคารโลกคาดการณ์ว่าเศรษฐกิจเมียนมาจะหดตัว 18% ในปี 2564 อันเป็นผลจากการรัฐประหารและการระบาดของโควิด-19 โดยอัตราความยากจนจะเพิ่มเป็น 2 เท่า จากปี 2562