รัฐประหารเมียนมา: สื่อนอกวิเคราะห์ ทำไมไทยไม่มีท่าทีแข็งกร้าว?

สื่อนอกวิเคราะห์ท่าทีไทยต่อสถานการณ์ในเมียนมา

บทวิเคราะห์จากรอยเตอร์สต่อท่าทีของไทย ที่มีต่อสถานการณ์ในเมียนมา หลังการรัฐประหารเมื่อวันที่ 1 กุมภาพันธ์ 

วันที่ 2 เมษายน 2564 รอยเตอร์ส รายงานข้อมูลจากนักวิเคราะห์ที่ระบุว่า ประเทศไทยได้เพิ่มความแข็งกร้าวขึ้นเล็กน้อยในทางภาษาที่ใช้กล่าวถึงสถานการณ์ในเมียนมา โดยใช้คำว่า “กังวลเป็นอย่างยิ่ง” เกี่ยวกับเหตุนองเลือดที่ทวีความรุนแรงขึ้น นับตั้งแต่การรัฐประหารเมื่อวันที่ 1 กุมภาพันธ์ ที่ผ่านมา แต่ความสัมพันธ์ทางทหารที่ใกล้ชิด และความกังวลว่าผู้ลี้ภัยจำนวนมากจะแห่เข้าประเทศ ทำให้ไทยไม่น่าจะแสดงท่าทีอะไรได้มากกว่านั้น

ซึ่งนั่นทำให้ไทยตกขบวนจากบางประเทศที่เป็นสมาชิกสมาคมประชาชาติแห่งเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ (อาเซียน) ระหว่างที่ประเทศเหล่านั้นพยายามเพิ่มแรงกดดันต่อรัฐบาลทหารเมียนมา พร้อมกับพยายามวางตัวเป็นกลางเท่าที่จะทำได้

“การแสดงจุดยืนของประเทศไทยนั้นเป็นเรื่องยาก แต่ผมคิดว่ามีโอกาส เพราะเราเป็นพันธมิตรที่สำคัญ” ปณิธาน วัฒนายากร นักรัฐศาสตร์จากจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัยให้สัมภาษณ์กับรอยเตอร์ส

ความใกล้ชิดของกองทัพไทยกับกองทัพเมียนมาถูกตอกย้ำโดยคำร้องขอของ พล.อ.อาวุโสมิน อ่อง ลาย ผู้นำรัฐบาลที่มาจากการรัฐประหาร ที่ขอให้ พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรีไทย ให้การ “สนับสนุนประชาธิปไตย” ภายในเวลาไม่กี่วันหลังจากขับไล่ นางอองซาน ซูจี ผู้นำที่มาจากการเลือกตั้ง

พล.อ.ประยุทธ์ ที่ให้การสนับสนุนนั้น ตัวเขาเองก็ได้ยึดอำนาจโดยก่อรัฐประหารเมื่อปี 2557 ขณะเป็นผู้บัญชาการทหารบก ก่อนที่เขาจะรับบทบาทเป็นพลเรือนเมื่อปี 2562 และปฏิเสธข้อกล่าวหาของฝ่ายค้านที่บอกว่าเขาโกงเลือกตั้ง

ทั้งสองมีความสัมพันธ์ส่วนตัวกันมานานแล้ว แม้ว่ากองทัพของทั้งสองประเทศ ดูเหมือนจะแข่งขันกันในทางประวัติศาสตร์มายาวนาน ตั้งแต่ใช้คำว่าเรียกว่า “พม่า” กับ “สยาม”

ความเป็นพี่เป็นน้อง”

สำหรับพวกเขา ความเป็นพี่เป็นน้องของทหารมีความสำคัญมาก” ลลิตา หิงคานนท์ อาจารย์ภาควิชาประวัติศาสตร์ คณะสังคมศาสตร์ มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ กล่าว

“ดิฉันไม่คิดว่าความรุนแรงที่เพิ่มขึ้นจะเปลี่ยนการตัดสินใจของรัฐบาลไทยในการรับผู้ลี้ภัยมากขึ้น… ดิฉันคิดว่าพวกเขาแค่อยากเป็นเพื่อนกับเมียนมามากกว่า”

ประเทศไทยมีแนวโน้มที่จะมีส่วนได้ส่วนเสียในเมียนมามากกว่าสมาชิกอาเซียนประเทศอื่น ๆ เนื่องจากมีพรมแดนร่วมกับเมียนมาเป็นระยะทางยาวกว่า 2,400 กิโลเมตร ซึ่งถือเป็นประเทศเพื่อนบ้านที่มีพรมแดนติดกับเมียนมามากที่สุด

ตำแหน่งทางภูมิศาสตร์ และธรรมเนียมทางการทูตที่ต้องระมัดระวัง เป็นเหตุผลที่ต้องกังวลเรื่องการใช้คำพูดเกี่ยวกับการรัฐประหารเป็นพิเศษ ไทยจึงใช้ถ้อยคำที่รุนแรงขึ้นเพียงเล็กน้อย หลังจากที่ยอดผู้เสียชีวิตที่เป็นพลเรือนพุ่งสูงถึง 500 ราย ระหว่างการปราบปรามผู้ประท้วงต่อต้านรัฐประหารของเมียนมา

การใช้คำพูดของประเทศไทยยังคงเบากว่า เมื่อเทียบกับประเทศประชาธิปไตยอื่น ๆ ในอาเซียน อย่างอินโดนีเซีย มาเลเซีย ฟิลิปปินส์ และสิงคโปร์

ความเสี่ยงด้านพรมแดนเริ่มปรากฏชัดขึ้นเมื่อผู้ลี้ภัยกลุ่มชาติพันธุ์กระเหรี่ยงหลายพันคนหนีตายจากการทิ้งระเบิดของกองทัพเมียนมาเข้ามายังประเทศไทย

แม้ว่าไทยจะปฏิเสธว่าไม่ได้ผลักดันผู้ลี้ภัยกลับประเทศ แต่ผู้ลี้ภัยร้องเรียนว่าพวกเขาถูกเจ้าหน้าที่รักษาชายแดนไทยปิดกั้นไม่ให้เข้ามา ขณะที่เจ้าหน้าที่ท้องถิ่นไทยบอกในที่ประชุมว่าการห้ามผู้ลี้ภัยเหล่านี้เข้าประเทศเป็นนโยบายอย่างเป็นทางการ

การแสดงท่าที

ในขณะที่ประเทศไทยอาจถูกกดดันทางการทูตให้รับผู้ลี้ภัยหรือแสดงท่าทีที่แข็งกร้าวขึ้น “ลลิตา” มองว่า รัฐบาลของ พล.อ.ประยุทธ์ ไม่น่าจะขับเคลื่อนเรื่องนี้

“พวกเขาจะทำบางอย่างเพื่อตอบสนองต่อแรงกดดันจากนานาชาติ พวกเขาจะทำสิ่งเล็ก ๆ น้อย ๆ เพื่อแสดงให้เห็นว่า นี่! เราได้ตอบสนองต่อความกังวลของคุณแล้ว แต่ก็จะทำแค่นั้น”

ความสัมพันธ์ทางธุรกิจยังคงแข็งแกร่ง

สำหรับการลงทุนโดยตรงจากต่างประเทศในเมียนมา ไทยเป็นรองแค่จีนและสิงคโปร์ ด้วยเงินลงทุนกว่า 11,000 ล้านดอลลาร์ ตั้งแต่ปี 2531

ส่วนการค้าข้ามพรมแดนเมื่อปี 2562 อยู่ที่กว่า 9,000 ล้านดอลลาร์ ขณะที่ธุรกิจไทยจำนวนมากต้องพึ่งพาแรงงานเมียนมา ซึ่งมีจำนวนอย่างเป็นทางการที่ 1.6 ล้านคน

ประเทศไทยให้ความสำคัญมากขึ้นกับเมียนมา ซึ่งคิดเป็นสัดส่วนการส่งออกเกือบ 1 ใน 4 เมื่อปี 2562 ส่วนใหญ่เป็นก๊าซธรรมชาติ

“แต่ประเทศไทยไม่น่าจะใช้อำนาจทางเศรษฐกิจเพื่อดำเนินมาตรการคว่ำบาตรทางการค้าใด ๆ” ปิติ ศรีแสงนาม จากศูนย์อาเซียนศึกษา จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย กล่าว

เขาแนะนำด้วยว่า ประเทศไทยอาจใช้วิธีทางการทูตเพื่อพยายามส่งเสริมให้นายพลเมียนมายุติการใช้ความรุนแรง และเปิดการเจรจากับพลเรือนที่ถูกขับไล่ หรือผู้ที่ถูกขัง หรือถูกตราหน้าว่าเป็นผู้ทรยศ

“ถ้าคุณมีเพื่อนคนหนึ่งที่รู้จักกันมานาน และวันหนึ่งเขาก่อคดีฆาตกรรม มันไม่ได้หมายความว่าคุณจะไม่ได้เป็นเพื่อนกับเขา ใช่ไหม?” ปิติกล่าวและว่า

“คุณยังคงเป็นเพื่อน แต่สิ่งที่ดีที่สุดคือการพูดคุยกับเขา เพื่อแสดงว่าสิ่งที่เขาทำนั้นผิดมหันต์”