แบงก์ชาติอังกฤษ ขึ้นดอกเบี้ยเป็น 0.50% สกัดเงินเฟ้อพุ่งสูงสุดรอบ 30 ปี

เงินปอนด์
(Photo by Bank of England / AFP)

ธนาคารกลางอังกฤษมีมติปรับขึ้นดอกเบี้ยนโยบายจาก 0.25% สู่ระดับ 0.50% ถือเป็นการขึ้นดอกเบี้ยเป็นครั้งที่ 2 ในรอบ 3 เดือน

วันที่ 4 กุมภาพันธ์ 2565 คณะกรรมการนโยบายการเงินของธนาคารกลางอังกฤษ (BoE) ประกาศขึ้นอัตราดอกเบี้ยนโยบายเป็นครั้งที่สองในรอบสามเดือนจาก 0.25% เป็น 0.50% เพื่อเป็นการสกัดเงินเฟ้อที่พุ่งสูงสุดในรอบ 30 ปี ประกอบกับสัญญาณเตือนว่าค่าพลังงานที่อาจจะพุ่งขึ้นซึ่งจะยิ่งส่งผลให้อัตราเงินเฟ้อสูงขึ้นกว่าที่คาดการณ์ไว้มากกวา 7% ในเดือนเมษายนนี้ จากการที่ Ofgem องค์กรของรัฐบาลซึ่งทำหน้าที่กำหนดเพดานค่าไฟฟ้า ประกาศปรับเพดานค่ากระแสไฟฟ้าสำหรับภาคครัวเรือน โดยจะเพิ่มขึ้นโดยจะเพิ่มขึ้น 54% ในเดือน เม.ย. จากปัจจุบันที่มีการกำหนดเพดานเฉลี่ยที่ระดับ 1,277-1,370 ปอนด์ต่อปี

ก่อนหน้านี้ BoE มีมติปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยนโยบายสู่ระดับ 0.25% ในการประชุมเดือน ธ.ค. 2021 จากระดับ 0.1% ซึ่งเป็นระดับต่ำสุดเป็นประวัติการณ์ ส่งผลให้ BoE เป็นธนาคารกลางขนาดใหญ่แห่งแรกของโลกที่ประกาศปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยเป็นครั้งแรกนับตั้งแต่เกิดการแพร่ระบาดของโควิด-19

ขณะที่สำนักงานสถิติแห่งชาติอังกฤษ (ONS) เปิดเผย ดัชนีราคาผู้บริโภค (CPI) ซึ่งเป็นมาตรวัดเงินเฟ้อจากการใช้จ่ายของผู้บริโภค พุ่งขึ้น 5.4% ในเดือน ธ.ค. ของปีที่แล้ว ซึ่งเป็นระดับสูงสุดในรอบ 30 ปี และสูงกว่าตัวเลขคาดการณ์ของนักวิเคราะห์ที่ระดับ 5.2%

การปรับขึ้นค่าไฟฟ้าดังกล่าวเป็นเหตุให้นายริชิ ซูแนค รัฐมนตรีคลังของอังกฤษ กล่าวในการแถลงต่อสภา ว่ารัฐบาลจะหาทางเยียวยาภาคครัวเรือนที่ได้รับผลกระทบจากการขึ้นค่าไฟฟ้า ผ่านการรับส่วนลดค่าไฟฟ้าจำนวน 200 ปอนด์ต่อครัวเรือน โดยจะมอบส่วนลดดังกล่าวตั้งแต่ ต.ค. โดยจะมีการหักส่วนลดค่าไฟปีละ 40 ปอนด์ ต่อเนื่องเป็นเวลา 5 ปี นอกจากนี้ รัฐบาลจะให้ส่วนลดภาษี council tax ครัวเรือนละ 150 ปอนด์ ซึ่งภาษีดังกล่าวเป็นภาษีที่จะถูกเรียกเก็บโดยหน่วยงานท้องถิ่นจากมูลค่าของบ้าน