โลกต้องเตรียมพร้อม เผชิญหน้าภาวะ “น้ำมันแพง” !

ชีพจรเศรษฐกิจโลก
คอลัมน์ : ชีพจรเศรษฐกิจโลก
ผู้เขียน : ไพรัตน์ พงศ์พานิชย์

ราคาน้ำมันดิบเบรนต์ ที่เป็นราคาอ้างอิงของตลาดน้ำมันโลก พุ่งกลับขึ้นไปอยู่เหนือระดับ 90 ดอลลาร์ต่อบาร์เรลอีกครั้งหนึ่งตั้งแต่เมื่อปลายสัปดาห์ที่ผ่านมา

ส่วนราคาน้ำมันดิบ เวสต์เทกซัส อินเตอร์มีเดียต (ดับเบิลยูทีไอ) ก็แกว่งตัวอยู่ในระดับใกล้ ๆ กับ 88.54 ดอลลาร์ต่อบาร์เรล ซึ่งเป็นระดับราคาน้ำมันสูงสุดในรอบ 7 ปีเช่นเดียวกัน

สาเหตุของน้ำมันแพงในรอบนี้ ส่วนหนึ่งเกิดจากปัญหาความขัดแย้งเรื่อง “ยูเครน” ระหว่างรัสเซียฝ่ายหนึ่งกับบรรดาชาติตะวันตกอีกฝ่ายหนึ่ง ซึ่งว่ากันว่า จวนเจียนจะปะทุเป็นสงครามย่อย ๆ อยู่รอมร่อ

รัสเซีย คือชาติผู้ผลิตน้ำมันรายใหญ่ที่สุดเป็นอันดับสองของโลก พร้อมกันนั้นยังเป็นแหล่งที่มาสำคัญในการจัดส่งก๊าซธรรมชาติให้กับภาคพื้นยุโรปที่เป็นคู่ขัดแย้ง การปะทะกันจึงอาจส่งผลให้เกิดปัญหาในเชิงซัพพลายของตลาดน้ำมันโลกได้ในทันที

ดีไม่ดีอาจทำให้โลกเกิดภาวะ “ขาดแคลน” น้ำมันขึ้นก็เป็นได้

ในทางตรงกันข้าม หากความขัดแย้งดังกล่าวคลี่คลายไปในทางที่ดี “ราคาน้ำมัน” ก็อาจไม่ลดลงอย่างที่ใครต่อใครคาดหวังกัน เหตุผลก็คือ ยังคงมีอีกหลายปัจจัยที่หนุนส่งให้ราคาน้ำมันปรับตัวสูงขึ้นอย่างต่อเนื่องตลอดทั้งปีนี้

ปัจจัยที่สำคัญที่สุดก็คือ ปัจจัยเรื่องศักยภาพสำรองในการผลิตน้ำมันของบรรดา ผู้ผลิตน้ำมันดิบป้อนตลาดโลกทั้งหลาย

รายงานผลการวิเคราะห์ของ “เจพี มอร์แกน” เมื่อต้นเดือนมกราคมเตือนเอาไว้ว่า ราคาน้ำมันดิบเบรนต์อาจทะลุขึ้นไปอยู่ในระดับ 125 ดอลลาร์ต่อบาร์เรล ในอีกไม่ช้าไม่นาน โดยให้เหตุผลเอาไว้ว่า เป็นเพราะกำลังการผลิตสำรองของชาติสมาชิกกลุ่มประเทศผู้ส่งน้ำมันเป็นสินค้าออก หรือโอเปก ลดลงอย่างต่อเนื่อง

ถึงไตรมาส 4 ของปี 2022 กำลังการผลิตสำรองที่ว่านี้จะลดลงเหลือเพียง 4% ของกำลังการผลิตทั้งหมด

นั่นหมายความว่า แม้ชาติเหล่านี้อยากจะผลิตน้ำมันดิบออกขายให้มากที่สุดเพื่อโกยเงินเข้าประเทศให้มากที่สุดในยามที่น้ำมันแพงหูฉี่เช่นนี้ ก็ไม่สามารถจะทำได้ เพราะกำลังการผลิตไม่มี หรือมีไม่พอให้ทำเช่นนั้นได้

เหตุผลที่เป็นเช่นนั้นเกิดจากหลายสาเหตุ แต่ที่สำคัญที่สุดก็คือ ผู้ผลิตไม่ได้ลงทุนเพื่อการสำรวจและผลิตน้ำมันมานานมากแล้ว

องค์การพลังงานระหว่างประเทศ (ไออีเอ) พูดถึงเรื่องเดียวกันนี้เอาไว้หนักหนาสาหัสยิ่งกว่า โดยเตือนเอาไว้ว่า พอถึงครึ่งหลังของปีนี้ กำลังการผลิตสำรองของโอเปกทั้งกลุ่มจะลดลงเหลือเพียงแค่ 2.6 ล้านบาร์เรลต่อวัน

ถ้าความต้องการบริโภคน้ำมันของโลกยังขยายตัวอย่างแข็งแกร่งต่อเนื่อง น้ำมันที่สต๊อกไว้ในคลังน้ำมันสำรองเชิงยุทธศาสตร์ทั่วโลกก็จะลดต่ำลง เมื่อบวกกับกำลังการผลิตสำรองที่ลดลง ก็หมายความว่าราคาน้ำมันจะอ่อนไหวในทางขาขึ้นตลอดทั้งปีนี้

90 ดอลลาร์ต่อบาร์เรล อาจเป็นเพียงแค่การเริ่มต้นอุ่นเครื่องเท่านั้น

มอร์แกนสแตนลีย์เชื่อว่าพอถึงหน้าร้อนในราวกลางปีนี้ ราคาน้ำมันดิบจะอยู่ที่ 100 ดอลลาร์ต่อบาร์เรล โดยมีปัจจัยสำคัญที่สุดที่ผลักดันให้ราคากระฉูดต่อเนื่องก็คือ ความต้องการบริโภคน้ำมัน

ไออีเอ ยอมรับในรายงานภาวะตลาดน้ำมันประจำเดือนว่า คาดการณ์ดีมานด์น้ำมันของโลกต่ำกว่าความเป็นจริงไปไม่น้อย และปรับตัวเลขดีมานด์ หรือความต้องการบริโภคน้ำมันในปีนี้ใหม่ เพิ่มขึ้นอีก 200,000 บาร์เรลต่อวัน

ทำให้ความต้องการบริโภคน้ำมันตามการคาดการณ์นี้ ไม่เพียงกลับไปเทียบเท่ากับระดับก่อนหน้าเกิดการแพร่ระบาดของโควิด-19 เท่านั้น แต่ยังพุ่งขึ้นสูงกว่าระดับเดิมอีกด้วย โดยเชื่อว่าเมื่อถึงปลายปี โลกจะต้องการบริโภคน้ำมันดิบถึงวันละ 99.7 ล้านบาร์เรล

เมื่อความต้องการเพิ่มมากขึ้น แต่กำลังการผลิตกลับลดลง ผลลัพธ์ก็หนีไม่พ้นราคาน้ำมันแพงขึ้นแน่นอน

ปัจจัยประกอบอื่น ๆ ก็ไม่ได้ช่วยกดดันให้ราคาน้ำมันดิบลดลงแต่อย่างใด การแพร่ระบาดของโควิด-19 กำลังได้รับการคาดหมายว่าจะสร่างซาลง หรืออย่างน้อยก็จะไม่มีการล็อกดาวน์อีกต่อไป ขณะที่ภาวะอากาศหนาวสุดโต่งในยุโรปและสหรัฐอเมริกาที่ผ่านมาก็ยิ่งกระพือให้ราคาน้ำมันเพิ่มสูงขึ้น ขณะที่พลังงานทางเลือกทั้งหลายยังไม่สามารถแม้แต่จะใกล้เคียงกับการทดแทนน้ำมัน

“น้ำมันแพง” จะทำให้ทุกอย่างแพงขึ้นตามไปด้วย ซึ่งเป็นสถานการณ์ที่ไม่มีรัฐบาลประเทศไหนต้องการ ในยามที่ภาวะเงินเฟ้อพุ่งขึ้นสูงอย่างรุนแรงเช่นในขณะนี้ แต่ก็ต้องเตรียมพร้อมรับมือกันได้แล้วตั้งแต่บัดนี้