ภาวะเงินเฟ้อกับราคาน้ำมัน ปัจจัยป่วนเศรษฐกิจฟื้นตัว !

ชีพจรเศรษฐกิจ
คอลัมน์ : ชีพจรเศรษฐกิจโลก
ผู้เขียน : ไพรัตน์ พงศ์พานิชย์

ราคาน้ำมันดิบโลกปรับตัวสูงขึ้นต่อเนื่องจากปลายปีที่ผ่านมา และยังไม่มีทีท่าว่าจะผ่อนคลายลงแต่อย่างใด

สัปดาห์ที่ผ่านมาเป็นสัปดาห์ที่ 5 ต่อเนื่องกันแล้วที่ราคาน้ำมันขยับขึ้นอย่างต่อเนื่อง เฉพาะในปี 2022 ที่ผ่านมายังไม่ถึงเดือน ราคาน้ำมันดิบอ้างอิงอย่างเบรนต์และเวสต์เทกซัส อินเตอร์มีเดียต ปรับสูงขึ้นแล้ว 14% เพิ่มขึ้นจากที่เคยปรับสูงขึ้นตลอดทั้งปี 2021 มาแล้วราว 50%

ส่งผลให้ราคาน้ำมันดิบโลกในเวลานี้อยู่ในระดับสูงที่สุดในรอบ 7 ปี

เหตุปัจจัยที่ทำให้ราคาน้ำมันดิบโลกถีบตัวสูงขึ้นมีอยู่หลายประการด้วยกัน ตั้งแต่ความต้องการน้ำมันที่เพิ่มสูงขึ้นอย่างรวดเร็ว โดยเฉพาะอย่างยิ่งเมื่อความกังวลต่อการแพร่ระบาดของเชื้อกลายพันธุ์โอมิครอนผ่อนคลายลงมากและเร็วกว่าที่คาดหมาย เมื่อผสมผสานกับการที่กำลังการผลิตของชาติผู้ผลิตน้ำมันในกลุ่มโอเปกพลัสจำกัดจำเขี่ย, น้ำมันคงคลังลดลงอยู่ในระดับต่ำ ในขณะที่ปัญหาความขัดแย้งในทางการเมืองระหว่างประเทศคุกรุ่นมากยิ่งขึ้นในภูมิภาคที่มีการผลิตน้ำมัน จนเกรงกันว่าจะกลายเป็นการ “ดิสรัปต์” ซัพพลายน้ำมันมากขึ้นไปอีก

เหล่านี้ไม่เพียงแต่ทำให้ราคาน้ำมันดิบโลกในเวลานี้พุ่งสูงขึ้นเท่านั้น ยังส่งอิทธิพลต่อการคาดการณ์ราคาน้ำมันดิบในอนาคตว่าจะยิ่งพุ่งสูงมากขึ้นไปอีกต่อเนื่อง

นักวิเคราะห์ของโกลด์แมน แซกส์ ทำนายว่า ราวกลางปีนี้ราคาน้ำมันดิบโลกจะทะลุแนวต้านสำคัญที่ 100 ดอลลาร์ต่อบาร์เรล ส่วน เจพี มอร์แกน คาดว่า น้ำมันดิบจะพุ่งสูงได้ถึง 125 ดอลลาร์ต่อบาร์เรลในปีนี้ ก่อนที่จะสูงขึ้นต่อเนื่องถึงระดับ 150 ดอลลาร์ต่อบาร์เรลในปีหน้า

ปัญหาอยู่ที่ว่าราคาน้ำมันถูกคาดหมายว่าจะแพงหูฉี่ ในขณะที่ภาวะเงินเฟ้อก็พุ่งขึ้นสูงทำสถิติในประเทศส่วนใหญ่ทั่วโลก

ในสหรัฐอเมริกา ดัชนีราคาผู้บริโภคในเวลานี้อยู่ที่ระดับ 7% สูงสุดในรอบ 40 ปี ในยุโรป อย่างเช่น สหราชอาณาจักร และนอร์เวย์ ก็สูงทำสถิติสูงสุดในรอบหลายสิบปี จนทำให้ธนาคารกลางของประเทศต้องตัดสินใจปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยไปแล้ว

อัตราเงินเฟ้อสูงสุดในรอบ 30 ปีของอังกฤษสะท้อนให้เห็นว่า ราคาน้ำมันแพงส่งผลกระทบอย่างไรต่อราคาอาหารและบริการภายในประเทศ

ภายใต้สถานการณ์เช่นนี้จะเกิดอะไรขึ้น ?

นักวิเคราะห์ส่วนหนึ่งเชื่อว่า ราคาน้ำมันแม้จะสูงขึ้นถึงระดับเกินกว่า 100 ดอลลาร์ต่อบาร์เรล ก็อาจไม่ส่งผลกระทบต่อเศรษฐกิจมากมายนัก ในทางหนึ่งนั้นเป็นเพราะภาวะเงินเฟ้อสูงในเวลานี้ได้สะท้อนถึงราคาน้ำมันดิบที่พุ่งขึ้นพรวดพราดเมื่อปีที่ผ่านมา

ในเวลาเดียวกัน เศรษฐกิจของหลายประเทศโดยเฉพาะอย่างยิ่งในโลกตะวันตก พึ่งพาน้ำมันน้อยลงกว่าเมื่อ 10 ปีก่อนมาก

การปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยอย่างที่หลายประเทศดำเนินการไปแล้ว หรือที่คาดกันว่าจะทำในกรณีของเฟด หรือธนาคารกลางของสหรัฐอเมริกา ก็ช่วยสกัดไม่ให้อัตราเงินเฟ้อพุ่งขึ้นตามราคาน้ำมันไปด้วยอยู่ในตัว

แต่นักวิชาการด้านเศรษฐศาสตร์อีกเป็นจำนวนมากยังคงเชื่อว่า ราคาน้ำมันดิบ 100 ดอลลาร์ต่อบาร์เรล จะส่งผลเชิงจิตวิทยาชนิดที่ประมาทไม่ได้

แรกสุด หากราคาน้ำมันดิบโลกพุ่งขึ้นสู่ระดับ 100 ดอลลาร์ต่อบาร์เรล และแกว่งตัวอยู่ในระดับนั้น จะส่งผลต่อการวิเคราะห์เพื่อคาดการณ์เศรษฐกิจของผู้กำหนดนโยบายต้องรื้อกันใหม่ทั้งหมด

ตัวอย่างเช่นที่ผ่านมา ธนาคารกลางของยุโรป คาดการณ์ภาพรวมเศรษฐกิจโดยอยู่บนพื้นฐานราคาน้ำมันเฉลี่ยอยู่ที่ 77.5 ดอลลาร์ต่อบาร์เรลในปี 2022 และลดลงเหลือเพียง 69.4 ดอลลาร์ต่อบาร์เรล ในปี 2024 เป็นต้น

แต่ที่สำคัญที่สุดก็คือ ราคาน้ำมันที่พุ่งขึ้นสูงถึงระดับเกินกว่า 100 ดอลลาร์ต่อบาร์เรล จะส่งผลให้เกิดสิ่งที่นักเศรษฐศาสตร์ เรียกว่า ผลกระทบระลอกสองของราคาน้ำมันต่อภาวะเงินเฟ้อ หรือ “เซกันด์ราวนด์เอฟเฟ็กต์” ขึ้นตามมา ที่จะสร้างแรงกดดันมหาศาล จนทำให้ธนาคารกลางของแต่ละประเทศต้องตัดสินใจปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยเร็วขึ้นและแรงขึ้น

ผลกระทบดังกล่าวจะเกิดขึ้น เมื่อกิจการธุรกิจตัดสินใจส่งผ่านต้นทุนราคาน้ำมันที่สูงขึ้นไปให้ผู้บริโภค ในขณะที่บรรดาลูกจ้างอาศัยเรื่องนี้เป็นเงื่อนไขกดดันเรียกร้องค่าจ้างเพิ่มมากขึ้น

สุดท้ายก็จะส่งผลต่อการบริโภคภายในของประเทศนั้น ๆ ให้ลดต่ำลง และทำให้การขยายตัวทางเศรษฐกิจชะลอลงในที่สุด