เมื่อ “สี จิ้นผิง” วอนตะวันตก อย่าขึ้นดอกเบี้ยเร็วเกินไป

คอลัมน์ : ชีพจรเศรษฐกิจโลก
ผู้เขียน : นงนุช สิงหเดชะ

การสวนทางด้านนโยบายการเงินและการคลังระหว่างสหรัฐอเมริกากับจีน ในฐานะประเทศที่มีขนาดเศรษฐกิจใหญ่อันดับ 1 และ 2 ของโลกตามลำดับ เป็นประเด็นที่กำลังถูกนักวิเคราะห์จับตามอง เนื่องจากฟากของสหรัฐที่เศรษฐกิจเติบโตแกร่งจนเงินเฟ้อพุ่งสูงทำสถิติใหม่

ส่งสัญญาณชัดว่าจะเริ่มใช้นโยบายการเงินตึงตัวด้วยการลดวงเงินการทำคิวอีเพื่อดึงสภาพคล่องออกจากตลาดและปรับขึ้นดอกเบี้ยเพื่อควบคุมเงินเฟ้อ ในขณะที่จีนทำตรงข้าม โดยสัปดาห์ที่ผ่านมาธนาคารกลางจีนได้ลดดอกเบี้ยนโยบายลง 0.1% และอัดฉีดสภาพคล่องเข้าสู่ระบบ

การแพร่ระบาดของโควิด-19 ระลอกล่าสุดด้วยสายพันธุ์โอมิครอน ดูเหมือนจะเป็นปัจจัยสำคัญที่ทำให้ในปีนี้ทั้งจีนและสหรัฐต้องดำเนินนโยบายการเงินสวนทางกัน โดยแม้ว่าตลอดปี 2021 เศรษฐกิจจีนจะเติบโตมากถึง 8.1% สูงกว่าที่ตั้งเป้าไว้ แต่จีนอ้างว่าไตรมาส 4 ปีที่แล้วจีดีพีขยายตัวน้อยมากเพียง 4% เพราะได้รับผลกระทบจากโอมิครอนจึงจำเป็นต้องใช้นโยบายการเงินผ่อนคลาย

ในวันเดียวกับที่ธนาคารกลางจีนหั่นดอกเบี้ยลง ประธานาธิบดี “สี จิ้นผิง” ได้กล่าวสุนทรพจน์ตอนหนึ่งผ่านระบบออนไลน์ต่อผู้ร่วมประชุมเวิลด์อีโคโนมิกฟอรั่ม งานชุมนุมด้านเศรษฐกิจสำคัญของโลกซึ่งจัดขึ้นทุกปีโดยระบุว่า โรคระบาดร้ายแรงทำให้โลกเผชิญความปั่นป่วนแบบใหม่

เราจะปราบมันอย่างไรและจะสร้างโลกหลังโควิด-19 อย่างไร เป็นปัญหาใหญ่ที่คนทั่วโลกกังวล เศรษฐกิจโลกกำลังฟื้นตัวจากส่วนลึกสุด แต่ก็ยังเผชิญข้อจำกัดหลายอย่าง ดังนั้น จำเป็นต้องแก้ปัญหาความเสี่ยงที่มีอยู่มากมายและสนับสนุนการฟื้นตัวของเศรษฐกิจโลก

เราจำเป็นต้องหาแรงขับเคลื่อนเศรษฐกิจใหม่ ๆ ตลอดจนรูปแบบวิถีชีวิตใหม่ ๆ หนทางใหม่ ๆ สำหรับประชาชนในการแลกเปลี่ยนกัน รักษาอุตสาหกรรมและห่วงโซ่อุปทานให้มีความมั่นคงและราบรื่น การจะทำให้เศรษฐกิจโลกฟื้นตัวจากวิกฤตมีความจำเป็นต้องเพิ่มความร่วมมือด้านนโยบายมหภาค

ประเทศพัฒนาแล้วควรดำเนินนโยบายเศรษฐกิจอย่างมีความรับผิดชอบ บริหารจัดการผลกระทบที่เกิดจากนโยบายของตนที่มีต่อบุคคลภายนอก หลีกเลี่ยงสิ่งที่จะเกิดผลกระทบรุนแรงต่อประเทศกำลังพัฒนา

ผู้นำสูงสุดของจีนกล่าวด้วยว่า ตอนนี้ห่วงโซ่อุปทานอุตสาหกรรมโลกกำลังชะงักเสียกระบวน ราคาสินค้าโภคภัณฑ์สูงขึ้นอย่างต่อเนื่อง อุปทานด้านพลังงานตึงตัว ความเสี่ยงเหล่านี้ต่างถมทับกันและกันมากขึ้นเรื่อย ๆ ทำให้การฟื้นตัวของเศรษฐกิจโลกมีความไม่แน่นอน พร้อมกับเตือนผลกระทบที่จะเกิดจากการขึ้นดอกเบี้ยมากและเร็วเกินไป

“ถ้าหากประเทศเศรษฐกิจขนาดใหญ่แตะเบรกและใช้นโยบายการเงินแบบ “เลี้ยวกลับ” จะส่งผลกระทบด้านลบต่อประเทศอื่น ๆ จะสร้างปัญหาต่อเศรษฐกิจและเสถียรภาพการเงินโลก ประเทศกำลังพัฒนาจะลำบาก”

แม้ไม่ได้ระบุว่าประเทศใดไม่ควรขึ้นดอกเบี้ยมากและเร็วเกินไป แต่เป็นที่เข้าใจได้ว่าหมายถึง “สหรัฐอเมริกา” เป็นพิเศษ ซึ่งนักวิเคราะห์ประเมินว่าธนาคารกลางสหรัฐน่าจะเริ่มขึ้นดอกเบี้ยครั้งแรกในเดือนมีนาคมนี้ โดยทั้งปีน่าจะปรับขึ้น 3 ครั้ง อย่างไรก็ตาม ล่าสุดสำนักใหญ่อย่าง “โกลด์แมน แซกส์” ประเมินว่าน่าจะขยับขึ้นถึง 4 ครั้ง

ก่อนหน้านี้กองทุนการเงินระหว่างประเทศ (ไอเอ็มเอฟ) เตือนว่า การใช้นโยบายการเงินตึงตัวแบบฉับพลันในสหรัฐหรือยุโรป อาจสร้างความปั่นป่วนให้กับเศรษฐกิจของประเทศกำลังพัฒนา เพราะเศรษฐกิจของประเทศเหล่านี้ไม่ได้ฟื้นตัวแข็งแกร่ง จึงจะประสบปัญหาหนี้สาธารณะพุ่งขึ้นมาก

“ถ้าเฟดขึ้นดอกเบี้ยเร็วอาจจะทำให้ตลาดการเงินเกิดความปั่นป่วนและภาวะการเงินทั่วโลกตึงตัว นอกจากนั้น ให้ระวังว่ามันจะส่งผลกระทบต่อประเทศกำลังพัฒนาที่พึ่งพาการส่งออกไปยังสหรัฐ ถ้าหากว่าการขึ้นดอกเบี้ยทำให้ผู้บริโภคอเมริกันซื้อสินค้าน้อยลง”

อย่างไรก็ตาม บรรดานักเศรษฐศาสตร์ของเฟดอ้างว่า ความเสี่ยงที่จะเกิดผลกระทบต่อประเทศกำลังพัฒนา ขึ้นอยู่กับปัจจัยไม่กี่อย่าง เช่น สภาวะภายในของภูมิภาคนั้น ๆ ว่ามีความเปราะบางอ่อนไหวมากน้อยเพียงใดต่อการขึ้นดอกเบี้ยของสหรัฐ