หลังจากเอกอัครราชทูตรัสเซียประจำประเทศไทย เยฟกินี โทมิคิน เปิดแถลงข่าวกับสื่อมวลชนไทย ถึง ศึกรัสเซีย-ยูเครน ไปแล้ว ก็มีเสียงสะท้อนอีกฝั่งและอีกมุมจากเอกอัครราชทูตสหภาพยุโรป
วันที่ 22 มีนาคม 2565 นายเดวิด เดลี (David Daly) เอกอัครราชทูตสหภาพยุโรป (อียู) ประจำประเทศไทยให้สัมภาษณ์ Khaosod English ถึงวิกฤตการณ์รัสเซียบุกยูเครนที่ส่งผลสะเทือนไปทั่วโลก
เริ่มจากประเด็นที่ทูตรัสเซียเอ่ยถึงความเคลื่อนไหวของบรรดาเอกอัครราชทูตชาติยุโรปเยือนกระทรวงการต่างประเทศของไทย เพื่อให้รัฐบาลไทยแสดงท่าทีแข็งกร้าวต่อรัสเซีย
ทูตเดลีกล่าวว่า คำพูดนั้นเป็นการนำเสนอภาพที่ไม่ถูกต้อง การใช้ช่องทางทางการทูตเพื่อการเจรจาเป็นเรื่องปกติทางการทูต ซึ่งปกติแล้วอียูจะใช้ช่องทางที่สร้างสรรค์เจรจากับประเทศไทยในหลากหลายประเด็น
สำหรับกรณีพิเศษนี้ ทูตอียูและทูตชาติอื่นๆ ที่เป็นสมาชิกอียู หรือประเทศที่มีแนวคิดคล้ายกัน ต่างเรียกร้องให้ประเทศไทยสนับสนุนหลักการตามกฎบัตรสหประชาชาติ และเพื่อปกป้องกลไกระหว่างประเทศที่มีพื้นฐานทางกฎหมาย ระบบพหุภาคี และการหาทางออกอย่างสันติ ตรงกันข้ามกับระบบก้าวร้าวทางทหาร
การที่รัฐบาลไทยเป็นหนึ่งใน 141 ประเทศ เช่นเดียวกับชาติสมาชิกของอียู ที่ร่วมลงมติสนับสนุนกฎบัตรสหประชาชาติ (ประณามการกระทำของรัสเซีย) ในการประชุมสมัชชาสหประชาชาตินั้นเป็นเรื่องที่น่าประทับใจ เพราะยืนยันถึงจุดยืนของไทยและสมาชิกอียูในหลักการของสหประชาชาติ
แต่โชคร้ายที่สงครามยังดำเนินต่อไป ดังนั้นจึงจำเป็นสำหรับพวกเราที่จะเดินหน้าปกป้องระบบระหว่างประเทศบนพื้นฐานของกฎหมายไว้
ต่อข้อถามของประวิตร โรจนพฤกษ์ นักข่าวอาวุโสของข่าวสดอิงลิช ว่าคนไทยส่วนหนึ่งเชื่อสิ่งที่เกิดขึ้นในยูเครนเป็นการปะทะกันของมหาอำนาจ รัฐบาลไทยและคนไทยจึงไม่ควรเข้าไปเกี่ยวข้อง
ทูตอียูประจำประเทศไทยตอบว่า ไม่ว่าใกล้หรือไกล ประเทศทั้งหมดทั่วโลก รวมถึงประเทศไทย ได้รับผลกระทบจากสงครามของประธานาธิบดีวลาดิมีร์ ปูตินที่มีต่อยูเครนแล้ว เพราะเป็นการโจมตีต่อระบบกลไกระหว่างประเทศ และระบบพหุภาคีที่ต่อต้านการใช้กำลังทหารและความก้าวร้าว
“นี่ไม่ใช่ปัญหาของยุโรปที่อยู่ห่างไกล แต่อาจเกิดขึ้นที่ใดก็ได้ รวมถึงในเอเชีย และเป็นความจริงที่ว่า สงครามทำให้ราคาพลังงานและอาหารเพิ่มขึ้นแล้ว เพียงแค่สองผลผลิตนี้ก็กระทบทุกคน ทุกหนทุกแห่ง โดยเฉพาะผู้ที่อยู่ในกลุ่มอ่อนไหวที่สุด”
ทูตเดลีกล่าวด้วยว่า การยืนเคียงข้างประชาชนยูเครนไม่ใช่การเลือกข้าง แต่เป็นการยืนหยัดตามกฎบัตรสหประชาชาติ และกฎกติการะหว่างประเทศ
“นี่ไม่ใช่สงครามเย็น 2.0 อย่างที่รัฐบาลรัสเซียพยายามสร้างภาพ นี่เป็นสงครามปูติน และประธานาธิบดีปูตินต้องรับผิดชอบต่อความก้าวร้าวที่รุกกร้าวต่อยูเครน”
เมื่อถามถึงความคิดเห็นของคนไทยส่วนหนึ่งว่า อียูและชาติตะวันตกมีความเห็นอกเห็นใจชาวยูเครนมาก เพราะเป็นคนผิวขาวเหมือนกัน และไม่เท่าเทียบกับชาติอื่นๆ ที่เผชิญสถานการณ์ทุกข์ทรมาน อย่างปาเลสไตน์ ซีเรีย อัฟกานิสถาน หรือเมียนมา
ทูตเดลีกล่าวว่า เป็นความคลาดเคลื่อนกันระหว่างการรับรู้กับความเป็นจริง สำหรับยุโรปยืนอยู่เคียงข้างผู้ที่ต้องการการคุ้มครองมาตลอด
ขณะที่สหภาพยุโรปให้ความช่วยเหลือด้านมนุษยธรรมมาอย่างต่อเนื่องชัดเจนให้กับผู้ที่ต้องการความช่วยเหลืออย่างเร่งด่วนและผู้ที่อ่อนแอที่สุด ในที่นี้รวมถึงผู้พลัดถิ่นและผู้ได้รับผลกระทบจากความขัดแย้งในชุมชน ปาเลสไตน์ ซีเรีย อัฟกานิสถาน เมียนมา และที่อื่นๆ
สหภาพยุโรปและประเทศสมาชิกเป็นผู้บริจาคด้านมนุษยธรรมรายใหญ่ที่สุดในโลก การแสดงถึงความเป็นเอกภาพกับผู้อื่นเป็นค่านิยมของสหภาพยุโรป
สำหรับการแสดงถึงความเป็นน้ำหนึ่งใจเดียวกันของชาติสมาชิกอียูในเรื่องยูเครนนั้น ทูตเดลีเล่าว่า เมื่อสัปดาห์ก่อน อียูเพิ่งจัดแคมเปญ ทานตะวันเพื่อเอกภาพ (Sunflower for Solidarity) และโพสต์ทางโซเชียลมีเดียของชาติสมาชิก
ดอกทานตะวันมีความหมายลึกซึ้งในภาษาไทย ว่ายืนหยัดต้านทานดวงอาทิตย์ เหมือนกันชาวยูเครนทำอยู่ในขณะนี้ คือการต้านทานการรุกรานจากรัสเซีย เราเชิญเพื่อนในประเทศไทยมาร่วมแคมเปญนี้ เราเห็นว่ามีเพื่อนคนไทยและนานาชาติเข้าร่วม ด้วยความตั้งใจที่แท้จริง จึงน่าชื่นใจที่ได้เห็นสารเหล่านี้หลั่งไหลเข้ามาอย่างไร้พรมแดนประเทศและภาษา
ในอนาคต การมีส่วนร่วมของสาธารณชนกับตัวแทนสหภาพยุโรปจะรวมกับสารหลักของทีมเอกภาพยุโรปเพื่อยูเครน เราตระหนักถึงบทบาททางการทูตของประชาชนและซอฟต์พาวเวอร์ เพื่อช่วยกันส่งสารสำคัญในฐานะประเด็นที่อ่อนไหวจากเพื่อนของเรา