ศรีลังกากระอัก วิกฤตเศรษฐกิจ ปธน.ปลดน้องพ้นรมว.คลัง ดิ้นตั้งรัฐบาลแห่งชาติ

ศรีลังกากระอัก
ผู้ประท้วงชุมนุมที่กรุงโคลอมโบ เมืองหลวงศรีลังกา เมื่อ 4 เม.ย. (Photo by ISHARA S. KODIKARA / AFP)

ภาวะเศรษฐกิจตกต่ำอย่างที่สุดของศรีลังกาลามเขย่าการเมืองอย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้ ล่าสุด ประธานาธิบดีศรีลังกายอมรับสภาพ พยายามดิ้นตั้งรัฐบาลแห่งชาติหวังบรรเทากระแสขับไล่ของประชาชน

วันที่ 4 เมษายน 2565 อัลจาซีรา รายงานว่า  ประธานาธิบดี โกตาบายา ราชปักษา ปลดนายเบซิล ราชปักษา น้องชายของตนเองออกจากตำแหน่ง รมว.คลังแล้ว พร้อมเสนอตั้งรัฐบาลแห่งชาติ โดยเชิญฝ่ายค้านเข้าร่วม

หลังต้านทานกระแสต่อต้านไม่อยู่ เมื่อประชาชนออกมาประท้วงใหญ่จนผู้ว่าการธนาคารกลางลาออก และรัฐมนตรีทั้ง 26 คนของรัฐบาลยื่นจดหมายลาออกตามมา ยกเว้นนายมหินทา ราชปักษา พี่ชายของประธานาธิบดีที่ยังฝืนอยู่ในตำแหน่ง

“เมื่อพิจารณาความจำเป็นของประเทศ ถึงเวลาแล้วที่จะร่วมมือกันทำงานเพื่อประโยชน์ของประชาชนทั้งปวงและลูกหลานซึ่งเป็นอนาคตของชาติ” แถลงการณ์จากสำนักงานประธานาธิบดีระบุพร้อมทั้งย้ำว่า “การแก้ปัญหาที่รากฐานของปัญหาจะต้องดำเนินการในกรอบของประชาธิปไตย” 

(FILES) แฟ้มภาพวันที่ 9 ส.ค. 2564 ประธานาธิบดี โกตาบายา ราชปักษา (ขวา) รับไหว้ นายมหินทา ราชปักษา พี่ชาย (ซ้าย) ที่สาบานตนเป็นนายกรัฐมนตรี  (Photo by Ishara S. KODIKARA / AFP)

แถลงการณ์แจ้งด้วยว่า ขณะนี้มีการแต่งตั้งรัฐมนตรี 4 คนเข้าสู่การรับรองของรัฐสภาแล้ว ส่วนตำแหน่งอื่น ๆ จะดำเนินการไปตามกฎหมายจนกว่าคณะรัฐมนตรีทั้งคณะจะเข้าสาบานตน

ทั้งนี้ นายอาลี ซาบรี รมว.ยุติธรรมจะดำรงตำแหน่ง รมว.คลัง แทนนายเบซิล ราชปักษา น้องชายของนายโกตาบายา ซึ่งขณะนี้อยู่ระหว่างเยือนสหรัฐ เพื่อเจรจากับตัวแทนกองทุนการเงินระหว่างประเทศ หรือไอเอ็มเอฟ ส่วนรัฐมนตรี กระทรวงการต่างประเทศ ศึกษาธิการ และทางหลวง จะยังดำรงตำแหน่งต่อไป

ศรีลังกากระอัก
ผู้ประท้วงถือป้ายเดินขบวนขับไล่รัฐบาลที่บริหารไม่เป็น จนราคาสินค้าพุ่ง พลังงานขาดแคลน เมื่อ 4 เม.ย. (Photo by Ishara S. KODIKARA / AFP)

บีบีซีไทยรายงานว่า กระแสประท้วงครั้งนี้ประชาชนไม่พอใจการทำงานของรัฐบาลในช่วงที่ประเทศกำลังเผชิญวิกฤตเศรษฐกิจครั้งเลวร้ายที่สุดในรอบหลายทศวรรษ บ้างว่าเลวร้ายที่สุดนับแต่ศรีลังกาได้รับเอกราชจากอังกฤษในปี 2491

สาเหตุส่วนหนึ่งมาจากปัญหาขาดแคลนเงินทุนสำรองระหว่างประเทศ ทำให้ศรีลังกาไม่มีเงินนำเข้าสินค้าที่จำเป็นต่าง ๆ เช่น น้ำมันเชื้อเพลิง นอกจากนี้ ยังมีปัญหาไฟฟ้าดับต่อเนื่องครึ่งค่อนวัน ปัญหาขาดแคลนอาหารและยารักษาโรค

การประท้วงเริ่มต้นตั้งแต่ปลายเดือน มี.ค. (Photo by Ishara S. KODIKARA / AFP)

กลุ่มผู้ประท้วงไม่พอใจว่า ประธานาธิบดีและครอบครัวมีส่วนร่วมที่ทำให้ศรีลังกาต้องเผชิญกับวิกฤตทางเศรษฐกิจ แม้การขาดแคลนรายได้จากภาคการท่องเที่ยวเนื่องจากวิกฤตโควิด-19 จะเป็นสาเหตุหนึ่งที่ทำให้ขาดแคลนรายได้จากต่างประเทศ แต่ประธานาธิบดี ราชปักษา บริหารวิกฤตที่เกิดขึ้นอย่างผิดพลาด

ผู้เชี่ยวชาญชี้ว่า การดำเนินนโยบายของประธานาธิบดี ราชปักษา หลังจากชนะเลือกตั้งในปี 2562 เช่น การตัดลดภาษีอย่างมาก และการห้ามการนำเข้า ยิ่งทำให้วิกฤตครั้งนี้เลวร้ายลง ขณะเดียวกัน ยังไม่เต็มใจที่จะขอความช่วยเหลือจากกองทุนการเงินระหว่างประเทศ หรือไอเอ็มเอฟ

ด้านประธานาธิบดีราชปักษา กล่าวโทษว่าวิกฤตที่เกิดขึ้นเป็นผลสืบเนื่องมาจากการทำงานของรัฐบาลชุดก่อน แต่ชาวศรีลังกาต่างมองว่าถึงเวลาแล้วที่เขาจะลาออกจากตำแหน่ง และแสดงความรับผิดชอบอย่างเต็มที่

 

ขับไล่ประธานาธิบดี

ชาวศรีลังกาเดินขบวนประท้วงรัฐบาลไปตามท้องถนนเมื่อวันจันทร์ที่ 4 เม..ในหลายเมือง รวมทั้งทางตอนใต้ของเมืองแทนกาลเลที่มีผู้ประท้วงชูป้ายและถือธงชาติบุกฝ่าแนวกั้นของตำรวจ

ตลอดวันอาทิตย์ที่ 3 เม.. ประชาชนหลายร้อยคนชุมนุมอย่างสงบ แต่พากันตะโกนขับไล่ประธานาธิบดีที่บริหารประเทศล้มเหลว

ส่วนคำสั่งเคอร์ฟิวเมื่อวันอาทิตย์ทั้งวันป้องกันไม่ให้ประชาชนออกมาประท้วงใหญ่ที่มีการนัดแนะกันผ่านสื่อสังคมออนไลน์ เช่น เฟซบุ๊ก ทวิตเตอร์ และ WhatsApp ซึ่งถูกรัฐบาลบล็อกการใช้งาน แต่หลังจากผ่านไป 15 ชั่วโมง แพลตฟอร์มต่าง ๆ ถูกปลดล็อกและยุติการเซ็นเซอร์บางส่วน เนื่องจากคณะกรรมการสิทธิมนุษยชนศรีลังกาตัดสินว่าคำสั่งห้ามดังกล่าวผิดกฎหมาย