“ปลูกผักผลไม้” ธุรกิจดาวรุ่ง รับนโยบายรัฐบูม “มหานครผลไม้โลก”

คอลัมน์ เปิดมุมมอง

โดย กรมพัฒนาธุรกิจการค้า

ธุรกิจการเกษตร : ปลูกผักและผลไม้ ซึ่งประกอบด้วย ธุรกิจปลูกผักกินใบ ผักกินต้น ผักกินผล เช่น ผักกาด ผักคะน้า กะหล่ำปลี แตงกวา เห็ด การปลูกผลไม้เมืองร้อนและกึ่งร้อน ลำไย ทุเรียน มะม่วง กล้วย แคนตาลูป ผลไม้เมืองหนาว แอปเปิล เชอรี่ เป็นต้น ยังมีแนวโน้มดีต่อเนื่อง เป็นอีกธุรกิจหนึ่งที่น่าสนใจอย่างยิ่ง

1.การเติบโตของธุรกิจ : การจัดตั้งนิติบุคคล

ประเภทธุรกิจ ปลูกผักและผลไม้เป็นหลัก เชื่อมโยงธุรกิจผลิตแปรรูปผักและผลไม้ และธุรกิจขายส่ง ขายปลีก ผัก ผลไม้ และผลิตภัณฑ์ที่ผ่านกระบวนการถนอมและแปรรูปการเติบโตของธุรกิจปลูกผักและผลไม้ปี 2558-2561 (ม.ค.-มิ.ย.)

– อัตราการเติบโตเพิ่มขึ้นทุกปี และปี 2560 อัตราการเติบโตสูงถึงร้อยละ 126.09

– ปี 2561 (ม.ค.-มิ.ย.) มีอัตราเติบโตร้อยละ 462.50 เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปี 2560

– การจัดตั้งธุรกิจการปลูกผัก : ผลไม้ สัดส่วน 70 : 30

– การจัดตั้งธุรกิจค้าส่ง/ค้าปลีก และการผลิต/แปรรูปผักและผลไม้ มีการเติบโตสอดคล้องกัน

– การเติบโตของมูลค่าทุนจัดตั้งธุรกิจ เมื่อเปรียบเทียบปี 2560 กับปี 2559 มีมูลค่าทุนเพิ่มขึ้นร้อยละ 1,153 ในขณะที่ม.ค.-มิ.ย. 61 ลดลงร้อยละ 53.34 เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อน

– ธุรกิจมีการขยายตัวในรูปแบบนิติบุคคล มีการบริหารจัดการเชิงธุรกิจอย่างเป็นระบบมากขึ้น และผู้ประกอบการรายใหญ่เริ่มเข้ามาลงทุนในธุรกิจนี้ โดยมูลค่าทุนจะผันแปรไปตามขนาดธุรกิจ

2.จำนวนนิติบุคคลและมูลค่าทุน

– ธุรกิจปลูกผักและผลไม้ที่ดำเนินกิจการอยู่ ณ 30 มิถุนายน 2561 จำนวน 399 ราย มูลค่าทุนจดทะเบียน 8,296 ล้านบาท

– ธุรกิจที่มีทุนจดทะเบียนไม่เกิน 5 ล้านบาท จำนวน 308 ราย ร้อยละ 77.19 ทุนจดทะเบียนมากกว่า 5 ล้านบาท แต่ไม่เกิน 100 ล้านบาท จำนวน 81 ราย ร้อยละ 20.30 และทุนจดทะเบียนมากกว่า 100 ล้านบาท จำนวน 10 ราย คิดเป็นร้อยละ 2.51

– นิติบุคคลที่มีทุนจดทะเบียนสูงสุดเป็นบริษัทจำกัดประกอบธุรกิจปลูกผักมูลค่าทุน 2,862 ล้านบาท โดยจัดตั้งธุรกิจในปี 2559

– ธุรกิจปลูกผักและผลไม้ที่มีทุนจดทะเบียนมากกว่า 100 ล้านบาท คิดเป็นร้อยละ 2.51 ส่วนธุรกิจการผลิต/แปรรูปผักและผลไม้มีสัดส่วนร้อยละ 5.39 ซึ่งแสดงถึงการมีผู้ประกอบการรายใหญ่ที่มีเงินลงทุนสูงในกลุ่มธุรกิจดังกล่าว

การกระจายตัวของธุรกิจจังหวัดที่ตั้งของธุรกิจปลูกผักและผลไม้สูงสุด 5 อันดับแรก คือ

1.กรุงเทพมหานคร 122 ราย

2.เชียงใหม่ 33 ราย

3.ปทุมธานี 18 ราย

4.นนทบุรี 14 ราย

5.นครราชสีมา 13 ราย

จังหวัดที่ตั้งของธุรกิจผลิต/แปรรูป และค้าส่ง/ค้าปลีกผักและผลไม้สูงสุด 5 อันดับแรก คือ

1.กรุงเทพมหานคร 1,065 ราย

2.ปทุมธานี 413 ราย

3.เชียงใหม่ 201 ราย

4.สมุทรปราการ 135 ราย

5.นนทบุรี 135 ราย

ส่วนใหญ่อยู่ในพื้นที่กรุงเทพมหานคร ปริมณฑล และเขตเมืองใหญ่ในต่างจังหวัด อาทิ เชียงใหม่ และปทุมธานี แหล่งชุมชนประชากรหนาแน่น เป็นศูนย์กลางทั้งด้านการปลูกผักและผลไม้ การประกอบอุตสาหกรรมผลิตและแปรรูป และศูนย์กลางการกระจายสินค้าไปยังพื้นที่ต่าง ๆ

3.การลงทุนของต่างชาติในนิติบุคคลไทย

– การลงทุนตามสัญชาติของธุรกิจ

ปลูกผักและผลไม้ การลงทุนของคนไทย มูลค่า 7,729 ล้านบาท ร้อยละ 93.17 และการลงทุนของต่างชาติ มูลค่า 567 ล้านบาท ร้อยละ 6.83

– ต่างชาติที่ลงทุนธุรกิจสูงสุด 3 อันดับแรก ได้แก่

1.จีนมูลค่า 431 ล้านบาท ร้อยละ 5.19

2.ไต้หวันมูลค่า 41 ล้านบาท ร้อยละ 0.50

3.สิงคโปร์มูลค่า 25 ล้านบาท ร้อยละ 0.30

– ต่างชาติที่เข้ามาลงทุนในธุรกิจการผลิตแปรรูป การค้าส่ง/ค้าปลีกผักและผลไม้สูงสุด คือ ประเทศจีน สอดคล้องกับการเข้ามาลงทุนในการปลูกผักและผลไม้

4.มูลค่าการส่งออก

– การส่งออกผักและผลไม้สด

แช่เย็น แช่แข็ง และแห้ง เดือน ม.ค.-มิ.ย. 2561 มีมูลค่าการส่งออก 1,439.10 ล้านเหรียญสหรัฐ เพิ่มขึ้นจากช่วงเดียวกันของปี 2560 จำนวน 286.35 ล้านเหรียญสหรัฐ คิดเป็นร้อยละ 24.84 และมีปริมาณการส่งออก 1,037,608 ตัน เพิ่มขึ้นจากช่วงเดียวกันของปี 2560 จำนวน 31,863.08 ตัน คิดเป็นร้อยละ 3.17 ตลาดส่งออกที่สำคัญของผักและผลไม้สด ฯลฯ คือ เวียดนาม จีน ฮ่องกง ญี่ปุ่น และสหรัฐอเมริกา ที่มีสัดส่วนประมาณร้อยละ 80 ของตลาดส่งออกทั้งหมดในกลุ่มนี้ โดยทุเรียน ลำไย มังคุด ผักสด พืชตระกูลถั่ว หัวหอม กระเทียม และหน่อไม้ฝรั่ง เป็นผักและผลไม้ที่มีมูลค่าส่งออกอันดับต้น ๆ

5.ผลประกอบการ

– อัตราการเปลี่ยนแปลงของรายได้ธุรกิจการปลูกผักและผลไม้ ธุรกิจการผลิต/แปรรูปผักผลไม้ ธุรกิจการขายส่งขายปลีกผักและผลไม้ มีอัตราการเติบโตที่เป็นไปในทิศทางเดียวกันและมีการเติบโตเพิ่มขึ้นในปี 2559

– แนวโน้มอัตราการเติบโตของธุรกิจปลูกผักและผลไม้เป็นไปในทิศทางเดียวกับดัชนีราคาผู้บริโภค (CPI) ในหมวดผักและผลไม้ แสดงให้เห็นถึงความสำคัญของราคาผักและผลไม้ในท้องตลาดต่อผลประกอบการของธุรกิจปลูกผักและผลไม้

– ธุรกิจขนาดเล็กจะมีความผันผวนต่อการเปลี่ยนแปลงของราคาสูงสุด ในขณะที่ธุรกิจขนาดใหญ่สามารถรักษาอัตราการเติบโตของรายได้ได้อย่างต่อเนื่อง

6.ผลวิเคราะห์การลงทุน

– ผลตอบแทนต่อสินทรัพย์ (ROA) ของธุรกิจเพิ่มขึ้นตลอดช่วง 3 ปี โดย ROA สูงขึ้นตามขนาดของธุรกิจ

– ธุรกิจขนาดใหญ่มี ROA สูงที่สุด โดยสูงกว่าร้อยละ 7 และลดลงเล็กน้อยในปี 2559 จากความสามารถในการทำกำไรที่ลดลง แม้จะมีความสามารถในการบริหารสินทรัพย์ที่เพิ่มขึ้น

– ธุรกิจขนาดกลางมี ROA เพิ่มขึ้น เมื่อเปรียบเทียบทั้ง 3 ปี จากความสามารถในการทำกำไรที่เพิ่มขึ้นเป็นหลัก

– ธุรกิจขนาดเล็กมี ROA ต่ำที่สุด สาเหตุมาจากประสบภาวะขาดทุนตลอดช่วงปี 2557-2559 อย่างไรก็ตาม เมื่อเปรียบเทียบปี 2559 และ 2558 พบว่าธุรกิจมีความสามารถในการทำกำไรและบริหารสินทรัพย์ได้ดีขึ้น

– ปัจจัยที่ส่งผลต่อผลประกอบการของธุรกิจที่ดีขึ้น อาจมีสาเหตุจากราคาผลผลิตที่เปลี่ยนแปลงในแต่ละปี ทั้งนี้ ในกลุ่มธุรกิจที่มีรายได้สูงจะมีอัตราการเพิ่มขึ้นของรายได้สูงกว่าค่าใช้จ่ายที่เพิ่มขึ้น

– พิจารณาโครงสร้างแหล่งเงินทุนของธุรกิจพบว่า ธุรกิจขนาดเล็กมีการใช้แหล่งเงินทุนจากหนี้สินสูงเฉลี่ย 3 ปี 3.18 เท่า ในขณะที่ธุรกิจขนาดใหญ่และธุรกิจขนาดกลางคิดเป็น 0.85 และ 0.71 ตามลำดับ

7.ปัจจัยและแนวโน้มทางธุรกิจ

– ธุรกิจปลูกผักและผลไม้มีการปรับเข้าสู่รูปแบบนิติบุคคลมากขึ้น สะท้อนได้จากจำนวนการจัดตั้งธุรกิจที่ขยายตัวในช่วง 2-3 ปีที่ผ่านมา สืบเนื่องจากสภาวะการแข่งขันทั้งจากภายในและนอกประเทศ ผู้ประกอบการต้องมีรูปแบบการดำเนินธุรกิจที่น่าเชื่อถือ สินค้ามีคุณภาพและมาตรฐาน เพิ่มขีดความสามารถในการจัดการรองรับสภาพแวดล้อมที่เปลี่ยนไปมากยิ่งขึ้น

– พฤติกรรมของผู้บริโภคและตลาดที่เปลี่ยนไปเป็นปัจจัยสนับสนุนการประกอบธุรกิจปลูกผักและผลไม้ เช่น การใส่ใจสุขภาพ ทำให้ผู้บริโภคมีความต้องการสินค้าประเภทผักและผลไม้เพิ่มขึ้น ความต้องการอาหารปลอดภัยและอาหารอินทรีย์ (organic) ปลอดภัยจากสารพิษและสารเคมีตกค้าง

– ความต้องการบริโภคสินค้าไทยจากต่างประเทศ โดยเฉพาะผลไม้ไทยเพิ่มขึ้น

– แนวโน้มของรายได้เป็นไปในเชิงบวกตลอดช่วงปี 2557-2559 และมีความสามารถในการทำกำไรที่เพิ่มขึ้น

– นโยบายรัฐบาลผลักดันให้ประเทศไทยเป็นมหานครผลไม้ของโลก การสนับสนุนอุตสาหกรรมแปรรูปผลผลิตอย่างครบวงจรให้แก่วิสาหกิจชุมชน และ SMEs

– การแข่งขันต้องคำนึงถึงคุณภาพ ความปลอดภัย การรักษาความสดใหม่ของผักและผลไม้เป็นสำคัญ การบริหารความเสี่ยงและการพัฒนาการผลิต รองรับการเผชิญสภาพอากาศที่แปรปรวนกระทบกับผลผลิตที่มีฤดูการปลูกและเก็บเกี่ยวผลผลิต

– การเพิ่มช่องทางการจัดจำหน่ายและการกระจายสินค้าให้รวดเร็วขึ้น เช่น การขยายช่องทางการตลาดแบบ online เพื่อให้เข้าถึงกลุ่มผู้บริโภคมากขึ้น การรวมกลุ่มธุรกิจใน supply chain เดียวกันระหว่างผู้ปลูกผักและผลไม้ ผู้ผลิตและแปรรูปผลผลิตทางการเกษตร ผู้ค้าส่งค้าปลีกผักและผลไม้ และระบบโลจิสติกส์ เพื่อสร้างความเข้มแข็งของกลุ่มธุรกิจที่จะสร้างคุณภาพมาตรฐานและรวดเร็วในการเข้าถึงผู้บริโภคทั้งตลาดในประเทศและต่างประเทศ

– ปัจจัยด้านราคาและคุณภาพผลผลิต ส่งผลกระทบต่อผลประกอบการของธุรกิจ ผู้ประกอบการมีความจำเป็นต้องพัฒนาการบริหารต้นทุนเพื่อรองรับความเสี่ยงจากราคาที่มีความผันผวน พัฒนาระบบการผลิตและการควบคุมคุณภาพของผลผลิตให้ได้มาตรฐาน พัฒนากระบวนการรวบรวม การจัดเก็บและการพัฒนาให้บรรจุภัณฑ์สามารถยืดอายุผลผลิตให้มีความเหมาะสมกับตลาดในประเทศและต่างประเทศ จึงจะช่วยให้ธุรกิจการปลูกผักและผลไม้มีการเติบโตที่ยั่งยืน

8.นโยบายภาครัฐ

ภาครัฐจะเป็นส่วนสำคัญที่ช่วยผลักดันการเติบโตของตลาดผักและผลไม้

– การสนับสนุนการตลาด ประชาสัมพันธ์และส่งเสริมการบริโภคทั้งประเทศ การเผยแพร่คุณภาพผลผลิตและการเชื่อมโยงคู่ค้าธุรกิจในต่างประเทศผ่านช่องทางออนไลน์และออฟไลน์

– การสนับสนุนการกระจายผลผลิตออกนอกแหล่งผลิต การพัฒนาการขนส่งสินค้าทั้งในรูปแบบค้าส่งและค้าปลีกให้ถึงมือผู้บริโภคเร็วขึ้น


– การสนับสนุนการพัฒนาผลผลิต การบูรณาการร่วมกันระหว่างหน่วยงานภาครัฐและเอกชนในการยกระดับ พัฒนาศักยภาพผลผลิต โดยเฉพาะในด้านการเพาะปลูกที่มีความจำเป็นในการใช้เทคนิคและเทคโนโลยีเข้ามาช่วยเพิ่มผลผลิตทั้งในด้านคุณภาพและปริมาณให้สอดคล้องกับความต้องการของตลาด และการจัดหาแหล่งเงินทุนสำหรับผู้ประกอบการเพื่อผลักดันไทยให้เป็นมหานครผลไม้ของโลก