ประวัติศาสตร์การสถาปนาพระยศเจ้านายสมัย ร.5-ร.9

ขั้นตอนพระราชพิธีช่วงสำคัญช่วงหนึ่งในพระราชพิธีบรมราชาภิเษกที่คนไทยเฝ้าจับตามองคือ พระราชพิธีเฉลิมพระปรมาภิไธย พระนามาภิไธย และสถาปนาพระฐานันดรศักดิ์พระราชวงศ์ ซึ่งจะเกิดขึ้นในวันที่ 5 พฤษภาคมนี้

ก่อนที่จะได้เห็นขั้นตอนพระราชพิธีที่ว่านี้ “ประชาชาติธุรกิจ” ได้ค้นข้อมูลเกี่ยวกับพระฐานันดรศักดิ์ของเจ้านายมาให้ท่านผู้อ่านได้ทราบและเข้าใจมากยิ่งขึ้น ทั้งประเภทของพระยศหรือพระฐานันดรศักดิ์ การได้มาของพระฐานันดรศักดิ์นั้น ๆ รวมทั้งพาย้อนประวัติศาสตร์ไปดูพัฒนาการความเปลี่ยนแปลงการเฉลิมพระยศเจ้านายในสมัยกรุงรัตนโกสินทร์ และข้อมูลการเฉลิมพระยศเจ้านายตั้งแต่สมัยรัชกาลที่ 6 ไล่มาจนถึงสมัยรัชกาลที่ 9 แบบละเอียด

 

พระฐานันดรศักดิ์เจ้านาย

พระฐานันดรศักดิ์ หรือยศเจ้านายในราชสกุลมี 2 ประเภท คือ

1.สกุลยศ คือยศที่ได้ติดตัวมาแต่กำเนิด ซึ่งสืบทอดมาจากพระยศของพระบิดาและพระมารดาของเจ้านายพระองค์นั้น ๆ โดยเรียกลำดับตามสกุลยศจากสูงสุดลงไปล่างสุด ดังนี้ เจ้าฟ้า, พระองค์เจ้า, หม่อมเจ้า, หม่อมราชวงศ์, หม่อมหลวง

2.อิสริยยศ คือยศที่สมเด็จพระเจ้าแผ่นดินทรงสถาปนาแต่งตั้งเจ้านายให้มีศักดิ์สูงขึ้น ซึ่งเป็นราชประเพณีที่มีมาตั้งแต่สมัยสุโขทัย ส่วนประเพณีการเรียกพระนามเจ้านายเป็นกรมต่าง ๆ เพิ่งปรากฏในสมัยสมเด็จพระนารายณ์มหาราช แล้วใช้เป็นแบบแผนสืบมา

ในสมัยกรุงรัตนโกสินทร์ รัชกาลที่ 1 ทรงสถาปนาพระอิสริยยศเจ้านายก็ทรงตั้งเป็นต่างกรมตามชั้นยศ ซึ่งบัญญัติมาตั้งแต่ครั้งกรุงศรีอยุธยา มีต่างกันบ้างเพียงเล็กน้อย ต่อมาสมัยรัชกาลที่ 3 โปรดฯ ให้พระองค์เจ้าเป็นได้จนถึงกรมหลวง ครั้นสมัยรัชกาลที่ 4 ทรงตั้งพระองค์เจ้าต่างกรมผู้ใหญ่เป็น “กรมสมเด็จพระ” เป็นชั้นสูงพิเศษขึ้นอีกชั้นหนึ่งและโปรดฯ ให้พระองค์เจ้าเป็นได้ถึง “สมเด็จกรมพระ” อิสริยยศต่างกรมทุกชั้นจึงเป็นได้ทั้งเจ้าฟ้าและพระองค์เจ้า ต่างกันตรงที่ เจ้าฟ้าเมื่อแรกรับกรมเป็นกรมขุน ส่วนพระองค์เจ้าเมื่อแรกรับกรมเป็นกรมหมื่นตามปกติ

การเฉลิมพระยศเจ้านาย

พิธีเฉลิมพระยศเจ้านายถือเอาพิธี 2 อย่างเป็นหลัก คือ การอภิเษก และ การจารึกพระสุพรรณบัฏ ในอดีตการเฉลิมพระยศเจ้านายที่มีการอภิเษกและรับพระสุพรรณบัฏนั้นมีเพียงการเฉลิมพระยศพระมหาอุปราชาเท่านั้น ส่วนเจ้านายชั้นอื่นมีเพียงการรับพระสุพรรณบัฏเท่านั้น

ต่อมา เมื่อรัชกาลที่ 4 ขึ้นครองราชย์ โปรดฯ ให้แก้ไขระเบียบการพิธีตั้งกรมเปลี่ยนประเพณีแบบเดิม โดยให้มี อภิเษกในการตั้งกรม ตลอดจนตั้งพระองค์เจ้า, พระราชทานพระสุพรรณบัฏต่อพระหัตถ์ จากเดิมที่อาลักษณ์เป็นผู้ถวาย, เสด็จไปพระราชทานอภิเษกและพระสุพรรณบัฏที่วังเจ้านายชั้นพระบรมวงศ์ ส่วนชั้นอนุวงศ์ให้ไปรับพระราชทานในพระบรมมหาราชวัง, ให้มีใบกำกับพระสุพรรณบัฏเป็นอำนาจในการตั้งเจ้ากรม ปลัดกรม สมุหบัญชี, ให้อาลักษณ์อ่านประกาศพระบรมราชโองการแสดงเหตุซึ่งทรงเฉลิมพระยศ ซึ่งสมัยก่อนรัชกาลที่ 4 ระเบียบนี้มีเฉพาะในการตั้งพระราชาคณะผู้ใหญ่

ในสมัยรัชกาลที่ 5 เมื่อ พ.ศ. 2438 ความทราบถึงฝ่าละอองธุลีพระบาทว่า เจ้านายบางพระองค์เดือดร้อนเนื่องจากตำหนักคับแคบ ไม่สมควรจะรับเสด็จได้ พระองค์ทรงมีพระราชดำริว่า ประเพณีการเสด็จไปพระราชทานพระสุพรรณบัฏถึงวังเจ้านายทำให้เจ้านายเดือดร้อนสิ้นเปลือง จึงโปรดฯ ให้แก้ไขประเพณีการตั้งกรมเจ้านายในบางอย่างแต่นั้นมา คือ

1.โปรดฯ ให้มีการตั้งกรมเนื่องในเวลามีงานมงคลราชพิธี

2.ให้เจ้านายเสด็จเข้าไปรับพระราชทานพระสุพรรณบัฏ และให้อาลักษณ์อ่านประกาศในท้องพระโรง และเสด็จออกเป็นการเต็มยศในงานนั้น ถ้าทรงตั้งหลายพระองค์ก็รับพระราชทานพระสุพรรณบัฏในคราวเดียวกัน

3.เมื่อเสร็จการพระราชพิธีแล้วจึงให้เจ้าพนักงานเชิญพระสุพรรณบัฏไปส่งมอบถวายที่วัง

ประเพณีการตั้งกรมซึ่งแก้ไขในรัชกาลที่ 5 ยังเป็นแบบแผนปฏิบัติสืบมา

 

การเฉลิมพระยศเจ้านายในรัชกาลที่ 5

พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ 5 เสด็จขึ้นครองราชย์เมื่อปี พ.ศ. 2411 ตลอดรัชสมัยมีการเฉลิมพระยศเจ้านาย 126 ครั้ง (นับครั้งตามจำนวนการเลื่อนพระยศ ไม่ใช่ตามเวลาการประกาศเฉลิมพระยศ) ซึ่งเจ้านายบางพระองค์ได้รับการเฉลิมพระยศหรือเลื่อนอิสริยยศหลายครั้ง

เนื่องจากในสมัยรัชกาลที่ 5 มีการเฉลิมพระยศ เจ้านายจำนวนมาก จึงขอยกตัวอย่างที่สำคัญ ดังนี้

พ.ศ. 2411 ในปีนั้นทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้สถาปนาพระเจ้าบรมวงศ์เธอ กรมหมื่นบวรวิชัยชาญ พระเจ้าลูกยาเธอในพระบาทสมเด็จพระปิ่นเกล้าเจ้าอยู่หัว เป็นพระมหาอุปราช กรมพระราชวังบวรสถานมงคล, ทรงสถาปนาพระอัฏฐิพระนางเธอ พระองค์เจ้ารำเพยภมราภิรมย์ สมเด็จพระบรมราชชนนีพันปีหลวง เป็นกรมสมเด็จพระเทพศิรินทรามาตย์, ทรงสถาปนาพระเจ้าราชวรวงศ์เธอ พระองค์เจ้าหญิงละม่อม เป็นกรมพระสุดารัตนราชประยูร, ทรงสถาปนาเฉลิมพระนามพระเจ้าน้องยาเธอ เจ้าฟ้าจาตุรนต์รัศมี เป็นสมเด็จพระเจ้าน้องยาเธอ เจ้าฟ้าจาตุรนต์รัศมี, ทรงสถาปนาหม่อมเจ้าสิงหนาท ในพระเจ้าบรมวงศ์เธอ กรมพระพิทักษเทเวศร เป็นพระองค์เจ้าสิงหนาทราชตุรงคฤทธิ์

พ.ศ. 2413 ทรงเฉลิมพระนามพระเจ้าน้องยาเธอเจ้าฟ้าพระองค์น้อย เป็นสมเด็จพระเจ้าน้องยาเธอ เจ้าฟ้าภาณุรังษีสว่างวงศ์ ทรงกรมหมื่นภาณุพันธวงศ์วรเดช

พ.ศ. 2418 ทรงตั้งสมเด็จพระเจ้าน้องยาเธอ เจ้าฟ้าจาตุรนตรัศมี เป็นกรมหลวงจักรพรรดิพงศ์, ทรงตั้งพระเจ้าน้องยาเธอ พระองค์เจ้ากฤษดาภินิหาร เป็นกรมหมื่นนเรศวรฤทธิ, ทรงตั้งหม่อมเจ้าฉายเฉิด ในสมเด็จพระมาตามไหยกาธิบดี เป็นพระองค์เจ้าฉายเฉิด

พ.ศ. 2424 ทรงตั้งกรมสมเด็จพระเจ้าน้องยาเธอ เจ้าฟ้าภาณุรังษีสว่างวงศ์ เป็นกรมหลวงภาณุพันธุวงศ์วรเดช, ทรงตั้งกรมพระเจ้าน้องยาเธอ พระองค์เจ้าทองกองก้อนใหญ่ เป็นกรมหมื่นประจักษ์ศิลปาคม, ทรงตั้งกรมพระเจ้าน้องยาเธอ พระองค์เจ้าเทวัญอุไทยวงศ์ เป็นกรมหมื่นเทวะวงศ์วโรปการ, ทรงตั้งกรมพระเจ้าน้องยาเธอ พระองค์เจ้าพระมนุษยนาคมานพ เป็นกรมหมื่นวชิรญาณวโรรส, ทรงตั้งกรมพระเจ้าวรวงศ์เธอ พระองค์เจ้าวรรัตน์ เป็นกรมหมื่นพิศาลบวรศักดิ์, ทรงตั้งกรมพระเจ้าบวรวงศ์เธอ พระองค์เจ้าหัสดินทร เป็นกรมหมื่นบริรักษ์นรินทรฤทธิ, ทรงตั้งกรมพระเจ้าบวรวงศ์เธอ พระองค์เจ้าเนาวรัตน์ เป็นกรมหมื่นสถิตย์ธำรงสวัสดิ, ทรงตั้งกรมพระประพันธวงศ์เธอ พระองค์เจ้าฉายเฉิด ในสมเด็จพระมาตามไหยกาธิบดี เป็นกรมหมื่นนฤบาลมุขมาตย์, ทรงตั้งหม่อมเจ้าจร ในสมเด็จพระเจ้าบรมวงศ์เธอ เจ้าฟ้ากรมพระบำราบปรปักษ์ เป็นพระวงศ์เธอพระองค์เจ้าขจรจรัสวงศ์, ทรงตั้งหม่อมเจ้าปรีดา ในพระเจ้าบรมวงศ์เธอ กรมขุนวรจักรธรานุภาพ เป็น พระวงศ์เธอ พระองค์เจ้าปรีดา

พ.ศ. 2428 เนื่องจากกรมพระราชวังบวรสถานมงคลทิวงคต จึงโปรดให้เลื่อนกรมและตั้งกรมเจ้านายหลายพระองค์ ดังนี้ ทรงเลื่อนกรมสมเด็จพระเจ้าบรมวงศ์เธอเจ้าฟ้ามหามาลา กรมพระบำราบปรปักษ์ เป็นกรมสมเด็จพระบำราบปรปักษ์, ทรงเลื่อนกรมสมเด็จพระเจ้าน้องยาเธอเจ้าฟ้าฯ กรมหลวงจักรพรรรดิพงศ์ เป็นกรมพระจักรพรรดิพงศ์, ทรงเลื่อนกรมสมเด็จพระเจ้าน้องยาเธอ เจ้าฟ้าฯ กรมหลวงภาณุพันธุวงศ์วรเดช เป็นกรมพระภาณุพันธุวงศ์วรเดช, ทรงเลื่อนกรมพระเจ้าน้องยาเธอ กรมหมื่นพิชิตปรีชากร เป็นกรมหลวงพิชิตปรีชากร, ทรงตั้งกรมพระเจ้าน้องยาเธอ พระองค์เจ้าจิตรเจริญ เป็นกรมขุนนริศรานุวัติวงศ์, ทรงตั้งกรมพระเจ้าน้องยาเธอ พระองค์เจ้าชุมพลสมโภช เป็น กรมหมื่นสรรพสิทธิประสงค์

พ.ศ. 2429 สมเด็จพระเจ้าลูกยาเธอ เจ้าฟ้ามหาวชิรุณหิศทรงเจริญพระชันษา ถึงกำหนดรับพระสุพรรณบัฏเฉลิมพระนาม ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้ตั้งพระราชพิธีลงสรงตามโบราณราชประเพณี แล้วทรงสถาปนาเป็นสมเด็จพระบรมโอรสาธิราช ในตำแหน่งพระยุพราช ซึ่งจะรับรัชทายาทสืบสันตติวงศ์

ในคราวเดียวกันนั้น ทรงเลื่อนกรมพระเจ้าน้องยาเธอ กรมหมื่นเทวะวงศ์วโรปการ เป็นกรมหลวง, ทรงตั้งกรมพระเจ้าน้องยาเธอ พระองค์เจ้าสวัสดิประวัติ เป็น กรมหมื่นสมมตอมรพันธุ์, ทรงตั้งกรมพระเจ้าน้องยาเธอ พระองค์เจ้าดิศวรกุมาร เป็นกรมหมื่นดำรงราชานุภาพ

พ.ศ. 2434 ทรงเฉลิมพระนามสมเด็จพระเจ้าลูกยาเธอเจ้าฟ้าบริพัตรสุขุมพันธุ์ กรมขุนมไหสุริยสงขลา, ทรงเฉลิมพระนามสมเด็จพระเจ้าลูกยาเธอ เจ้าฟ้าจักรพงศภูวนาถ กรมขุนพิษณุโลกประชานาถ, ทรงเฉลิมพระนามสมเด็จพระเจ้าลูกยาเธอ เจ้าฟ้าสมมติวงศวโรทัย กรมขุนศรีธรรมราชธำรงฤทธิ, ทรงเฉลิมพระนามสมเด็จพระเจ้าลูกยาเธอ เจ้าฟ้ายุคลฑิฆัมพร กรมหมื่นลพบุราดิศร, ทรงเลื่อนกรมพระเจ้าบรมวงศ์เธอ กรมพระปวเรศวริยาลงกรณ์ เป็นกรมสมเด็จพระปวเรศวริยาลงกรณ์, ทรงตั้งกรมพระเจ้าน้องยาเธอ พระองค์เจ้าโสณบัณฑิต เป็นกรมหมื่นพิยลาภพฤฒิธาดา

พ.ศ. 2437 เนื่องด้วยเหตุที่สมเด็จพระบรมโอรสาธิราช เจ้าฟ้ามหาวชิรุณหิศ เสด็จสวรรคต จึงโปรดเกล้าฯ ให้สถาปนาสมเด็จพระเจ้าลูกยาเธอเจ้าฟ้ามหาวชิราวุธ กรมขุนเทพทวาราวดี เป็นสมเด็จพระบรมโอรสาธิราช ตำแหน่งรัชทายาทสืบพระราชสันตติวงศ์สืบไป

พ.ศ. 2439 เมื่อจะเสด็จประพาสยุโรปครั้งแรก ทรงสถาปนาสมเด็จพระนางเจ้าเสาวภาผ่องศรีพระอัครราชเทวี เป็นสมเด็จพระนางเจ้าเสาวภาผ่องศรีพระบรมราชินีนาถ, ทรงเฉลิมพระเกียรติยศ พระเจ้าบรมมหัยยิกาเธอ กรมสมเด็จพระสุดารัตนราชประยูร เสมออย่างสมเด็จพระราชชนนี, ทรงเฉลิมพระนามสมเด็จพระเจ้าลูกเธอ เจ้าฟ้าวไลยอลงกรณ์นิรนทรเทพยกุมารี, ทรงเฉลิมพระนามสมเด็จพระเจ้าลูกเธอ เจ้าฟ้ามาลินีนภดารา, ทรงตั้งกรมพระเจ้าราชวงศ์เธอ พระองค์เจ้าบุตรี เป็นพระเจ้าไอยิกาเธอ กรมหลวงวรเสรฐสุดา, ทรงเลื่อนกรมพระเจ้าราชวรวงศ์เธอ กรมขุนบดินทรไพศาลโสภณ เป็นกรมหลวงบดินทรไพศาลโสภณ, ทรงตั้งกรมพระเจ้าน้องยาเธอ พระองค์เจ้าเกษมศรีศุภโยค เป็นกรมหมื่นทิวากรวงศ์ประวัติ, ทรงตั้งกรมพระเจ้าน้องยาเธอ พระองค์เจ้าจันทรทัตจุฑาธาร เป็นกรมหมื่นวิวิธวรรณปรีชา, ทรงตั้งกรมพระเจ้าบวรวงศ์เธอ พระองค์เจ้าจรูญโรจเรืองศรี เป็นกรมหมื่นจรัสพรปฏิภาณ

พ.ศ. 2444 ทรงเปลี่ยนนามกรมสมเด็จพระเจ้าลูกยาเธอ เจ้าฟ้าบริพัตรสุขุมพันธุ์ กรมขุนมไหสุริยสงขลา เป็นกรมขุนนครสวรรค์วรพินิต

พ.ศ. 2446 ทรงตั้งกรมสมเด็จพระเจ้าลูกเธอเจ้าฟ้าสุทธาทิพยรัตน์ เป็นกรมหลวงศรีรัตนโกสินทร, ทรงเฉลิมพระนามสมเด็จพระเจ้าลูกยาเธอ เจ้าฟ้ามหิดลอดุลยเดช กรมขุนสงขลานครินทร, ทรงตั้งกรมพระเจ้าพี่นางเธอ พระองค์เจ้าโสมาวดี เป็นกรมหลวงสมรรัตนสิริเชษฐ, ทรงตั้งกรมพระเจ้าลูกเธอพระองค์เจ้าศรีวิไลยลักษณ์ เป็นกรมขุนสุพรรณภาควดี, ทรงตั้งกรมพระเจ้าบวรวงศ์เธอ พระองค์เจ้าเฉลิมลักขณาวงศ์ เป็นกรมหมื่นวรวัฒน์ศุภากร

พ.ศ. 2447 ทรงเฉลิมพระนามสมเด็จพระเจ้าลูกยาเธอ เจ้าฟ้าจุฑาธุชธราดิลก กรมขุนเพ็ชรบูรณ์อินทราชัย, ทรงตั้งกรมสมเด็จพระเจ้าลูกเธอ เจ้าฟ้าจันทราสรัทวาร เป็นกรมขุนพิจิตรเจษฎ์จันทร, ทรงตั้งกรมสมเด็จพระเจ้าลูกยาเธอ พระองค์เจ้าอาภากรเกียรติวงศ์ เป็นกรมหมื่นชุมพรเขตรอุดมศักดิ์

พ.ศ. 2448 ทรงเฉลิมพระนามสมเด็จพระเจ้าลูกยาเธอ เจ้าฟ้าประชาธิปกศักดิเดช กรมขุนสุโขทัยธรรมราชา, ทรงเลื่อนกรมพระเจ้าน้องยาเธอ เจ้าฟ้ากรมขุนนริศรานุวัติวงศ์ เป็นสมเด็จพระเจ้าน้องยาเธอ เจ้าฟ้ากรมหลวงนริศรานุวัติวงศ์, ทรงตั้งกรมสมเด็จพระเจ้าลูกเธอ เจ้าฟ้าเยาวมาลย์นฤมล เป็นกรมขุนสวรรคโลกลักษณาวดี, ทรงเลื่อนกรมพระเจ้าน้องยาเธอ กรมหมื่นสิริธัชสังกาศ เป็นกรมขุนสิริธัชสังกาศ, ทรงเลื่อนกรมพระเจ้าน้องยาเธอ กรมหมื่นสรรพสาตรสุภกิจ เป็นกรมขุนสรรพสาตรศุภกิจ

พ.ศ. 2452 ทรงตั้งหม่อมเจ้าอาทิตย์ทิพย์อาภา ในพระเจ้าลูกยาเธอ กรมหมื่นชุมพรเขตรอุดมศักดิ์ เป็นพระหลานเธอ พระองค์เจ้าอาทิตย์ทิพอาภา เป็นการเฉลิมพระยศเจ้านายพระองค์สุดท้ายในรัชสมัย

 

การเฉลิมพระยศเจ้านายในรัชกาลที่ 6

พระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ 6 เสด็จขึ้นครองราชย์เมื่อ พ.ศ. 2453 ตลอดรัชสมัยมีการเฉลิมพระยศเจ้านาย 68 ครั้ง (นับครั้งตามการเลื่อนพระยศ ไม่ใช่ตามเวลาการประกาศเฉลิมพระยศ) ซึ่งเจ้านายบางพระองค์ได้รับการเฉลิมพระยศหรือเลื่อนอิสริยยศหลายครั้ง เนื่องจากในสมัยรัชกาลที่ 6 มีการเฉลิมพระยศเจ้านายจำนวนมาก จึงขอยกตัวอย่างที่สำคัญ ดังนี้

พ.ศ. 2453 ทรงเฉลิมพระปรมาภิไธย สมเด็จพระนางเจ้าเสาวภาผ่องศรี บรมราชินีนาถ เป็นสมเด็จพระศรีพัชรินทรา บรมราชินีนาถ พระบรมราชชนนีพันปีหลวง, พระราชทานมหาสมณุตมาภิเษก พระเจ้าบรมวงศ์เธอ กรมหลวงวชิรญาณวโรรส พระอุปัชฌยาจารย์ เป็นสมเด็จพระเจ้าบรมวงศ์เธอ กรมพระยาวชิรญาณวโรรส, ทรงเลื่อน พระวรวงศ์เธอ พระองค์เจ้าพระสถาพรพิริยพรต พระกรรมวาจาจารย์ เป็นกรมหมื่นชินวรศิริวัฒน์, ทรงสถาปนาเพิ่มพระเกียรติยศ พระวรวงศ์เธอ พระองค์เจ้าจุมภฎพงศ์บริพัตร, พระวรวงศ์เธอ พระองค์เจ้าศิริรัตนบุษบง, พระวรวงศ์เธอ พระองค์เจ้าสุทธวงศ์วิจิตร, พระวรวงศ์เธอ พระองค์เจ้าพิสิษฐสบสมัย และพระวรวงศ์เธอ พระองค์เจ้าจุไรรัตนศิริมาน ในสมเด็จเจ้าฟ้าฯ กรมพระนครสวรรค์วรพินิต และพระวรวงศ์เธอ พระองค์เจ้าภาณุพันธุ์ยุคล ในสมเด็จเจ้าฟ้าฯ กรมหลวงลพบุรีราเมศวร์ เป็นพระเจ้าวรวงศ์เธอ พระองค์เจ้า

พ.ศ. 2454 ทรงโปรดเกล้าฯ ให้เลื่อนกรม สมเด็จพระวรวงศ์เธอ เจ้าฟ้าฯ กรมพระภาณุพันธุวงศ์วรเดช เป็นกรมพระยาฯ, เลื่อนกรม สมเด็จพระเจ้าน้องยาเธอ เจ้าฟ้าฯ กรมขุนนครสวรรค์วรพินิต เป็นกรมหลวงฯ, ตั้งกรม สมเด็จพระเจ้าน้องนางเธอ เจ้าฟ้าวไลยอลงกรณ์ เป็นกรมหลวงเพชรบุรีราชสิรินธร, เลื่อนกรม พระเจ้าบรมวงศ์เธอ กรมหลวงนเรศร์วรฤทธิ์ เป็นกรมพระฯ, เลื่อนกรม พระเจ้าบรมวงศ์เธอ กรมหลวงเทวะวงศ์วโรปการ เป็นกรมพระฯ, เลื่อนกรม พระเจ้าบรมวงศ์เธอ กรมขุนสมมตรอมรพันธุ์ เป็นกรมพระฯ, เลื่อนกรม พระเจ้าบรมวงศ์เธอ กรมหลวงดำรงราชานุภาพ เป็นกรมพระฯ, เลื่อนกรม พระเจ้าพี่ยาเธอ กรมหมื่นจันทบุรีนฤนาถ เป็นกรมหลวงฯ, เลื่อนกรม พระเจ้าพี่ยาเธอ กรมหมื่นปราจิณกิติบดี เป็นกรมหลวงฯ

พ.ศ. 2456 ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้เลื่อนกรม สมเด็จพระเจ้าบรมวงศ์เธอ เจ้าฟ้ากรมหลวงนริศรานุวัติวงศ์ เป็นกรมพระ, เลื่อนกรมพระเจ้าบรมวงศ์เธอกรมหมื่นพรหมวรานุรักษ์ เป็นกรมหลวงฯ, เลื่อนกรม พระเจ้าบรมวงศ์เธอ กรมหมื่นสวัสดิวัดนวิศิษฎ์ เป็นกรมหลวงฯ, ตั้งกรม พระราชวรวงศ์เธอ พระองค์เจ้ากัลยาณประวัติ เป็นกรมหมื่นกวีพจน์สุปรีชา, ตั้งกรม พระราชวรวงศ์เธอ พระองค์เจ้ารัชนีแจ่มจรัส เป็นกรมหมื่นพิทยาลงกรณ์, ทรงตั้งหม่อมเจ้าหญิงแก้วกัลยา ในกรมหมื่นวิษณุนาถนิภาธร เป็นพระวรวงศ์เธอ พระองค์เจ้าแก้วกัลยาณี

พ.ศ. 2458 ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้สถาปนาพระอัฏฐิสมเด็จพระเจ้าพี่นางเธอ เจ้าฟ้าพาหุรัดมณีมัย เป็นกรมพระเทพนารีรัตน์

พ.ศ. 2459 ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้เลื่อนกรมสมเด็จพระเจ้าน้องยาเธอ เจ้าฟ้าฯ กรมขุนนครราชสีมา เป็นกรมหลวง, เลื่อนกรมพระเจ้าบรมวงศ์เธอกรมพระเทวะวงศ์วโรปการ เป็นสมเด็จพระเจ้าบรมวงศ์เธอ กรมพระยาฯ, เลื่อนกรมพระเจ้าพี่ยาเธอ กรมหลวงจันทบุรีนฤนาถ เป็นกรมพระ, เลื่อนกรมพระเจ้าน้องยาเธอ กรมหมื่นกำแพงเพ็ชรอัครโยธิน เป็นกรมขุนฯ

พ.ศ. 2463 ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้เลื่อนกรมพระเจ้าพี่ยาเธอ กรมหมื่นชุมพรเขตรอุดมศักดิ์ เป็นกรมหลวง, เลื่อนกรมพระเจ้าน้องยาเธอ กรมหมื่นสิงหวิกรมเกรียงไกร เป็นกรมขุนฯ, ตั้งกรมพระเจ้าวรวงศ์เธอ พระองค์เจ้าอ๊อศคาร์นุทิศ ในสมเด็จพระเจ้าบรมวงศ์เธอ เจ้าฟ้าฯ กรมพระจักรพรรดิพงศ์ เป็นกรมหมื่นอนุวัตรจาตุรนต์, ทรงสถาปนาหม่อมเจ้าหญิงวิลลภาเทวี ในพระเจ้าบรมวงศ์เธอ กรมพระนราธิปประพันธ์พงศ์ เป็นพระวรกัญญาปทาน พระองค์เจ้าวัลลภาเทวี, ทรงตั้งหม่อมเจ้าชาย ในสมเด็จพระเจ้าน้องยาเธอ เจ้าฟ้าฯ กรมหลวงพิษณุโลกประชานาถ เป็นพระวรวงศ์เธอ พระองค์เจ้าจุลจักรพงศ์

พ.ศ. 2464 ทรงโปรดเกล้าฯ ให้เลื่อนกรม พระเจ้าบรมวงศ์เธอ กรมหมื่นนราธิปประพันธ์พงศ์ เป็นกรมพระฯ, ตั้งหม่อมเจ้าลักษมีลาวัณในพระเจ้าบรมวงศ์เธอ กรมพระนราธิปประพันธ์พงศ์ เป็นพระวรวงศ์เธอ พระองค์เจ้าลักษมีลาวัณ แล้วต่อมาทรงสถาปนาเป็นพระเจ้าวรวงศ์เธอฯ, ตั้งหม่อมเจ้าคำรบ ในพระเจ้าบรมวงศ์เธอ กรมขุนวรจักรธานุภาพ เป็นพระวรวงศ์เธอ พระองค์เจ้าคำรบ, ตั้งหม่อมเจ้าเณร ในพระเจ้าบรมวงศ์ กรมหมื่นทิวากรวงศ์ประวัติ เป็นพระวรวงศ์เธอ พระองค์เจ้าศุภโยคเกษม

พ.ศ. 2465 ทรงโปรดเกล้าฯ ให้เลื่อนกรม พระเจ้าน้องยาเธอ กรมขุนกำแพงเพ็ชรอัครโยธิน เป็นกรมหลวงฯ, เลื่อนกรม พระเจ้าน้องยาเธอ กรมหมื่นไชยนาทนเรนทร เป็นกรมขุนฯ, ทรงสถาปนาพระเจ้าวรวงศ์เธอ พระองค์เจ้าลักษมีลาวัณ เป็นพระนางเธอลักษมีลาวัณ, ทรงตั้งหม่อมเจ้าไตรทศประพันธ์ ในสมเด็จพระบรมวงศ์เธอ กรมพระยาเทวะวงศ์วโรปการ เป็นพระวรวงศ์เธอ พระองค์เจ้าไตรทศประพันธ์, ทรงตั้งหม่อมเจ้าธานีนิวัติ ในพระเจ้าบรมวงศ์เธอ กรมขุนพิทยลาภพฤฒิธาดา เป็นพระวรวงศ์เธอ พระองค์เจ้าธานีนิวัต, ทรงสถาปนาพระอินทราณี ขึ้นเป็นพระวรชายาเธอ พระอินทรศักดิศจี ต่อมาในปีเดียวกันทรงสถาปนาพระอิสริยยศเป็นสมเด็จพระนางเจ้าอินทรศักดิศจี พระบรมราชินี

พ.ศ. 2468 ทรงโปรดเกล้าฯ ให้เลื่อนกรม สมเด็จพระเจ้าน้องยาเธอ เจ้าฟ้าฯกรมขุนสุโขทัยธรรมราชา เป็นกรมหลวงฯ, ทรงสถาปนาสมเด็จพระเจ้าน้องนางเธอเจ้าฟ้านิภานภดล วิมลประภาวดี เป็นกรมขุนอู่มองเขตขัตติยนารี, ทรงสถาปนาเจ้าจอมสุวัทนา ขึ้นเป็นพระนางเจ้าสุวัทนา พระวรราชเทวี

 

การเฉลิมพระยศเจ้านายในรัชกาลที่ 7

พระบาทสมเด็จพระปกเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ 7 เสด็จขึ้นครองราชย์เมื่อปี พ.ศ. 2468 ในปีนั้น ทรงโปรดเกล้าฯ ให้เฉลิมพระนามหม่อมเจ้าหญิงรำไพพรรณี ราชชายา เป็นสมเด็จพระนางเจ้ารำไพพรรณี บรมราชินี, เฉลิมพระนามสมเด็จ

พระมาตุจฉาเจ้าสว่างวัฒนา พระบรมราชเทวี เป็นสมเด็จพระศรีสวรินทิราบรมราชเทวี พระพันวัสสามาตุจฉาเจ้า, เฉลิมพระนามพระนางเจ้าสุขุมาลมารศรี พระราชเทวี เป็นสมเด็จพระปิตุจฉาเจ้าสุขุมาลมารศรี พระอัครราชเทวี, เฉลิมพระนามสมเด็จพระเจ้าบรมวงศ์เธอ เจ้าฟ้าฯ กรมพระยาภาณุพันธุวงศ์วรเดช ให้ใช้คำนำพระนามว่า สมเด็จพระราชปิตุลาบรมพงศาภิมุข เจ้าฟ้าฯ กรมพระยาภาณุพันธุวงศ์วรเดช, เฉลิมพระเกียรติยศ พระเจ้าบรมวงศ์เธอ กรมพระสวัสดิวัดนวิศิษฎ์เป็นสมเด็จพระเจ้าบรมวงศ์เธอ กรมพระสวัสดิวัดนวิศิษฎ์, เลื่อนกรม สมเด็จพระเจ้าพี่ยาเธอ เจ้าฟ้าฯ กรมหลวงนครสวรรค์วรพินิต เป็นกรมพระฯ, เลื่อนกรม สมเด็จพระเจ้าพี่ยาเธอ เจ้าฟ้าฯ กรมขุนลพบุรีราเมศวร์ เป็นกรมหลวงฯ, เลื่อนกรม พระอัครชายาเธอฯ กรมขุนสุทธาสินีนาฏ เป็นพระวิมาดาเธอ กรมพระฯ

พ.ศ. 2469 โปรดฯ ให้เลื่อนกรม พระเจ้าวรวงศ์เธอกรมหมื่นชินวรศิริวัฒน์ ขึ้นเป็นกรมหลวง

พ.ศ. 2470 ทรงโปรดเกลาฯ ให้สถาปนาพระเจ้าบรมวงศ์เธอ พระองค์เจ้านภาพรประภา เป็นกรมหลวงทิพยรัตนกิริฏกุลินี, ทรงสถาปนาหม่อมเจ้าหญิงรำไพประภา, หม่อมเจ้าชายนรเศรษฐสุริยลักษณ์ และหม่อมเจ้าชายจิรศักดิ์สุประภาต ในสมเด็จพระปิตุลาบรมพงศาภิมุข เจ้าฟ้าฯ กรมพระยาภาณุพันธุวงศ์วรเดช, หม่อมเจ้าหญิงกัลยาณิวัฒนา และหม่อมเจ้าชายอานันทมหิดลในสมเด็จเจ้าฟ้ามหิดลอดุลยเดช, หม่อมเจ้าหญิงอินทุรัตนา และหม่อมเจ้าชายสุขุมาธินันท์ ในสมเด็จเจ้าฟ้าฯ กรมพระนครสวรรค์วรพินิต, หม่อมเจ้าหญิงสุทธศิริโสภา และหม่อมเจ้าชายวรานนท์ธวัช ในสมเด็จเจ้าฟ้าฯ กรมขุนเพ็ชรบูรณ์อินทราชัย เป็นพระวรวงศ์เธอ พระองค์เจ้า รวม 11 พระองค์

พ.ศ. 2472 ทรงโปรดเกล้าฯ ให้เลื่อนกรม สมเด็จพระเจ้าพี่ยาเธอ เจ้าฟ้าฯ กรมขุนสงขลานครินทร์ เป็นกรมหลวงฯ, เลื่อนกรม พระเจ้าบรมวงศ์เธอ กรมพระดำรงราชานุภาพ เป็นสมเด็จกรมพระยาฯ, เลื่อนกรม พระเจ้าพี่ยาเธอ กรมหลวงกำแพงเพ็ชรอัครโยธิน เป็นกรมพระฯ, ทรงสถาปนาหม่อมเจ้าหญิงอาภาพรรณี สวัสดิวัตน์ เป็นพระเจ้าวรวงศ์เธอ พระองค์เจ้าอาภาพรรณี, ทรงสถาปนาพระวรวงศ์เธอ พระองค์เจ้าไตรทศประพันธ์ เป็นกรมหมื่นเทววงศ์วโรทัย, ทรงสถาปนาหม่อมเจ้าบวรเดช กฤดากร เป็นพระวรวงศ์เธอ พระองค์เจ้าบวรเดช, ทรงสถาปนาหม่อมเจ้าหญิงมนัศสวาสดิ์ สุขสวัสดิ์ เป็นพระวรวงศ์เธอ พระองค์เจ้ามนัศสวาสดิ์

พ.ศ. 2473 ทรงสถาปนาหม่อมเจ้าอลงกฎ สุขสวัสดิ์ เป็นพระวรวงศ์เธอ พระองค์เจ้าอลงกฎ

พ.ศ. 2474 ทรงโปรดเกล้าฯ ให้เลื่อนกรม ขุนสิงหวิกรมเกรียงไกร เป็นกรมหลวง

 

การเฉลิมพระยศเจ้านายในรัชกาลที่ 8

พระบาทสมเด็จพระปรเมนทรมหาอานันทมหิดล รัชกาลที่ 8 เสด็จขึ้นครองราชย์เมื่อ พ.ศ. 2477 ในปีนั้นทรงโปรดเกล้าฯ ให้เฉลิมพระนามาภิไธย สมเด็จพระศรีสวรินทิราบรมราชเทวี เป็นสมเด็จพระศรีสวรินทิรา บรมราชเทวี พระพันวัสสาอัยยิกาเจ้า, เฉลิมพระเกียรติ สมเด็จเจ้าฟ้ามหิดลอดุลยเดช กรมหลวงสงขลานครินทร์ เป็น สมเด็จพระราชบิดา เจ้าฟ้ามหิดลอดุลยเดช กรมหลวงสงขลานครินทร์, ทรงสถาปนาพระราชชนนีขึ้นเป็น พระราชชนนีศรีสังวาลย์

พ.ศ. 2478 ทรงโปรดเกล้าฯ ให้เฉลิมพระเกียรติยศ สมเด็จเจ้าฟ้าวไลยอลงกรณ์ กรมหลวงเพชรบุรีราชสิรินธร เป็นสมเด็จพระปิตุจฉาเจ้า เจ้าฟ้าวไลยอลงกรณ์, สถาปนาพระอิสริยยศพระเชษฐภคินี พระวรวงศ์เธอ พระองค์เจ้ากัลยาณิวัฒนา เป็นสมเด็จพระเจ้าพี่นางเธอ เจ้าฟ้ากัลยาณิวัฒนา, สถาปนาพระอิสริยยศพระอนุชา พระวรวงศ์เธอ พระองค์เจ้าภูมิพลอดุลยเดช เป็นสมเด็จพระเจ้าน้องยาเธอเจ้าฟ้าภูมิพลอดุลยเดช, ทรงให้เปลี่ยนคำนำหน้าพระนามสมเด็จเจ้าฟ้าหญิงเพชรรัตนราชสุดาสิริโสภาพรรณวดี (พระราชธิดาของรัชกาลที่ 6) เป็น สมเด็จพระเจ้าภคินีเธอ เจ้าฟ้าเพชรรัตนราชสุดาฯ

พ.ศ. 2481 ทรงโปรดเกล้าฯ ให้เฉลิมพระอิสริยยศ พระราชชนนีศรีสังวาลย์ เป็นสมเด็จพระราชชนนีศรีสังวาลย์, สถาปนาพระวรวงศ์เธอ พระองค์เจ้าอาทิตย์ทิพอาภา เป็นพระเจ้าวรวงศ์เธอ พระองค์เจ้าฯ

พ.ศ. 2482 ทรงโปรดเกล้าฯ ให้สถาปนา หม่อมเจ้าวรรณไวทยากร เป็น พระวรวงศ์เธอ พระองค์เจ้าฯ

พ.ศ. 2486 ทรงโปรดเกล้าฯ ให้สถาปนาเพิ่มพระเกียรติยศ พระวรวงศ์เธอ พระองค์เจ้าวรรณไวทยากร เป็นพระเจ้าวรวงศ์เธอ พระองค์เจ้าฯ

พ.ศ. 2488 ทรงโปรดเกล้าฯ ให้เลื่อนกรม สมเด็จพระเจ้าบรมวงศ์เธอ เจ้าฟ้ากรมพระนริศรานุวัติวงศ์ เป็น สมเด็จพระเจ้าบรมวงศ์เธอ เจ้าฟ้าฯ กรมพระยา

 

การเฉลิมพระยศเจ้านายในรัชกาลที่ 9

พระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดช รัชกาลที่ 9 เสด็จขึ้นครองราชย์เมื่อปี พ.ศ. 2489 ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้เฉลิมพระนามและสถาปนาพระราชวงศ์ดังนี้

พ.ศ. 2493 ทรงโปรดเกล้าฯ ให้ประกาศสถาปนา หม่อมราชวงศ์หญิงสิริกิติ์กิติยากร เป็น สมเด็จพระราชินีสิริกิติ์ และต่อมาเฉลิมพระเกียรติยศ เป็น สมเด็จพระนางเจ้าสิริกิติ์ พระบรมราชินี, เลื่อนกรม พระเจ้าบรมวงศ์เธอ กรมขุนชัยนาทนเรนทร เป็น กรมพระ, ตั้งกรม พระวรวงศ์เธอ พระองค์เจ้าธานีนิวัติ เป็น กรมหมื่นพิทยลาภพฤฒิยากร, สถาปนา หม่อมเจ้าวิวัฒนไชย เป็น พระวรวงศ์เธอ พระองค์เจ้า, สถาปนา หม่อมเจ้านักขัตรมงคล เป็น พระวรวงศ์เธอ พระองค์เจ้า

พ.ศ. 2495 ทรงโปรดเกล้าฯ ให้เลื่อนกรม พระเจ้าบรมวงศ์เธอ กรมพระชัยนาทนเรนทร เป็น สมเด็จพระเจ้าบรมวงศ์เธอ กรมพระยา และทรงสถาปนาพระราชวงศ์ขึ้นเป็นพระองค์เจ้าต่างกรม 4 พระองค์ คือ ตั้งกรม พระเจ้าบรมวงศ์เธอ พระองค์เจ้าจุมภฎพงศ์บริพัตร เป็น กรมหมื่นนครสวรรค์ศักดิ์พินิต, ตั้งกรม พระเจ้าบรมวงศ์เธอ พระองค์เจ้าวรรณไวทยากร เป็น กรมหมื่นนราธิปพงศ์ประพันธ์, ตั้งกรม พระวรวงศ์เธอ พระองค์เจ้าอลงกฏ เป็น กรมหมื่นอดิศรอุดมศักดิ์, ตั้งกรม พระวรวงศ์เธอ พระองค์เจ้านักขัตรมงคล เป็น กรมหมื่นจันทบุรีสุรนาถ

พ.ศ. 2513 ทรงโปรดเกล้าฯ ให้ประกาศเฉลิมพระนามาภิไธย สมเด็จพระราชบิดา เจ้าฟ้ามหิดลอดุลยเดช กรมหลวงสงขลานครินทร์ เป็น สมเด็จพระมหิตลาธิเบศร อดุลยเดชวิกรม พระบรมราชชนก, เฉลิมพระนามาภิไธย สมเด็จพระราชชนนีศรีสังวาลย์ เป็น สมเด็จพระศรีนครินทราบรมราชชนนี

พ.ศ. 2515 ทรงโปรดเกล้าฯ ให้สถาปนาสมเด็จพระเจ้าลูกยาเธอ เจ้าฟ้าวชิราลงกรณ เป็น สมเด็จพระบรมโอรสาธิราช สยามมกุฎราชกุมาร

พ.ศ. 2520 ทรงโปรดเกล้าฯ ให้สถาปนาหม่อมเจ้าวิภาวดี เป็น พระเจ้าวรวงศ์เธอพระองค์เจ้า, ทรงสถาปนาสมเด็จพระเจ้าลูกเธอ เจ้าฟ้าสิรินธรเทพรัตนสุดา เป็น สมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี

พ.ศ. 2534 ทรงโปรดเกล้าฯ ให้เฉลิมพระนามพระวรวงศ์เธอ พระองค์เจ้าโสมสวลี พระวรชายาในสมเด็จพระบรมโอรสาธิราชฯ สยามมกุฎราชกุมาร เป็น พระเจ้าวรวงศ์เธอ พระองค์เจ้าโสมสวลี พระวรราชาทินัดดามาตุ

พ.ศ. 2537 ทรงโปรดเกล้าฯ ให้สถาปนาหม่อมเจ้าจักรพันธ์เพ็ญศิริ เป็น พระเจ้าวรวงศ์เธอ พระองค์เจ้า

พ.ศ. 2538 ทรงโปรดเกล้าฯ ให้สถาปนาสมเด็จพระเจ้าพี่นางเธอ เจ้าฟ้ากัลยาณิวัฒนา เป็น กรมหลวงนราธิวาสราชนครินทร์

 

——————–

ที่มา : หนังสือ “เรื่องเฉลิมพระยศเจ้านาย”