รื้อพิมพ์เขียวสร้าง “มอเตอร์เวย์” 2 ล้านล้าน หั่นงบลงทุน-เวนคืนนำร่อง”กทม.-สระแก้ว”และ”นครสวรรค์-พิษณุโลก”

นายชยธรรม์ พรหมศร รองผู้อำนวยการสำนักงานนโยบายและแผนการขนส่งและจราจร (สนข.) เปิดเผยว่า โครงการศึกษาความเป็นไปได้ในการพัฒนาเส้นทางหลวงสายหลักเดิม ให้สามารถรองรับการขนส่งรูปแบบทางหลวงพิเศษระหว่างเมือง (มอเตอร์เวย์) เป็นการนำแผนแม่บทการพัฒนาทางหลวงพิเศษระหว่างเมืองของกรมทางหลวง 21 เส้นทาง ระยะทางรวม 6,612 กม. ใช้งบประมาณรวม 2.14 ล้านล้านบาท ส่วนใหญ่จะเสียไปกับค่าเวนคืนค่อนข้างมาก สำนักงบประมาณมีข้อดำริว่า งบประมาณของรัฐมีจำกัด จึงอยากให้ สนข.ไปศึกษาดูว่า จะสามารถลดต้นทุนการสร้างมอเตอร์เวย์ตามแผนแม่บทของกรมทางหลวงหรือไม่

เบื้องต้น พบว่าทั้ง 21 เส้นทาง 56 ช่วงโครงการ สามารถใช้เขตทางของกรมทางหลวงในการก่อสร้างได้ประมาณ 17 เส้นทาง เพื่ออัพเดตข้อมูลใหม่ คาดว่าผลการศึกษาฉบับสมบูรณ์จะเสร็จช่วงปลายปีนี้ โดยเป้าหมายของการศึกษาครั้งนี้ เพื่อประเมินว่า ผลการศึกษานี้สามารถลดต้นทุนได้จริงหรือไม่ ซึ่งมีโครงการนำร่องที่จะใช้ผลการศึกษานี้ 2 โครงการคือ โครงการมอเตอร์เวย์สาย M71 ช่วงกรุงเทพฯ – สระแก้ว และช่วงนครสวรรค์ – พิษณุโลก

“จากผลการศึกษาพบว่า สามารถลดต้นทุนค่าก่อสร้างได้ 10-15% และจะช่วยลดการเวนคืนที่ดินเพื่อก่อสร้างได้อย่างน้อย 30-40% แต่จะลดได้เท่าไหร่ก็แล้วแต่แนวเส้นทาง อีกทั้งทำให้ไม่ต้องเสียเวลาไปกับการเวนคืน ส่วนเรื่องการลดปัญหาจราจรและอุบัติเหตุยังยึดตามผลการศึกษาเดิมไม่ได้เปลี่ยนแปลงอะไร เพราะว่าดีอยู่แล้ว ขั้นตอนต่อไป

เมื่อศึกษาเสร็จแล้วก็จะส่งไปให้กระทรวงคมนาคมภายในปีนี้ อาจจะมีการสั่งการให้กรมทางหลวงนำไปประยุกต์ใช้ และจะทำรายงานถึงสำนักงบประมาณ เพื่อรับทราบถึงประสิทธิภาพของผลการศึกษา คาดว่าทั้งหมดจะเสนอได้ภายในปีนี้”

นายชยธรรม์กล่าวว่า การศึกษาดังกล่าวจะไม่ยุ่งเกี่ยวกับโครงการที่กำลังจะเกิดขึ้นในระยะ 3 ปี เช่น มอเตอร์เวย์บางปะอิน – โคราช, มอเตอร์เวย์บางใหญ่ – กาญจนบุรี เป็นต้น จะเกี่ยวข้องกับโครงการที่ยังอยู่ในขั้นตอนทำผลศึกษาต่างๆ เพราะเมื่อผลการศึกษาระบุให้มีการแก้ไขจะได้ไม่ส่งผลกระทบกับกรอบเวลาของโครงการ แต่โครงการไหนที่ทำถึง Detail Design แล้ว ก็ไม่สามารถเปลี่ยนแปลงได้

สำหรับ 17 โครงการที่กำลังศึกษาความเป็นไปได้ ระยะทางรวม 2,795 ล้านบาท ได้แก่

  1. สาย M2 Section 2 ตาก –พิษณุโลก ระยะทาง 123 กม.

2. สาย M2 Section 3 พิษณุโลก – เพชรบูรณ์ ระยะทาง 121 กม.

3. สาย M2 Section 4 เพชรบูรณ์ – ขอนแก่น ระยะทาง 189 กม.

4. สาย M5 Section 3 นครสวรรค์ – พิษณุโลก ระยะทาง 110 กม.

5. สาย M5 Section 4 พิษณุโลก – อุตรดิตถ์ ระยะทาง 94 กม.

6. สาย M5 Section 5 อุตรดิตถ์ – ลำปาง ระยะทาง 140 กม.

7. สาย M6 Section 2 นครราชสีมา – ขอนแก่น ระยะทาง 186 กม.

8. สาย M6 Section 2 ขอนแก่น – หนองคาย ระยะทาง 161 กม.

9. สาย M8 Section 2 ชะอำ – ชุมพร ระยะทาง 296 กม.

10.  สาย M8 Section 3 ชุมพร – สุราษฎร์ธานี ระยะทาง 172 กม.

11. สาย M8 Section 4 สุราษฎร์ธานี – หาดใหญ่ ระยะทาง 306 กม.

12. สาย M8 Section 5 หาดใหญ่ – สุไหงโกลก ระยะทาง 226 กม.

13. สาย M61 Section 1 ชลบุรี – ปราจีนบุรี ระยะทาง 117 กม.

14. สาย M61 Section 2 ปราจีนบุรี – นครราชสีมา ระยะทาง 172 กม.

15. สาย M71 Secion 1 กรุงเทพ – สระแก้ว ระยะทาง 156 กม.

16. สาย M72 Section 1 ชลบุรี – อ.แกลง ระยะทาง 100 กม.

และ17. สาย M72 Section 2 อ.แกลง – ตราด ระยะทาง 126 กม.

ผู้สื่อข่าวรายงานว่า จากการปรับปรุงใหม่ในผลศึกษาระบุจะใช้เงินลงทุนกว่า 1.3 ล้านล้านบาท แยกเป็นค่าเวนคืน 46,757 ล้านบาท ค่าก่อสร้างกว่า 1.26 ล้านล้านบาท โดยลดค่าก่อสร้างจากแผนแม่บทเดิมลง 69,643 ล้านบาท และค่าเวนคืนได้ 50,371 ล้านบาท

สำหรับโครงการนำร่องสายกรุงเทพ-สระแก้วจะปรับปรุงถนนเดิม 161 กม. และสร้างใหม่ 95 กม.จะใช้เงินก่อสร้าง 78,044 ล้านบาท และค่าเวนคืน 15,246 ล้านบาท ส่วนช่วงนครสวรรค์-พิษณุโลก จะปรับปรุงถนนเดิม 138 กม. และสร้างทางใหม่ 20 กม. จะใช้ก่อสร้าง 53,165 ล้านบาท ค่าเวนคืน 1,614 ล้านบาท