‘เสนา’ จับเทรนด์ ESG มุ่งสู่สมาร์ท ซิตี้ – ลดปริมาณคาร์บอนเพื่อความยั่งยืน

เป็นหนึ่งในผู้นำด้านอสังหาริมทรัพย์แถวหน้าที่มีความชัดเจนในเรื่องของการขับเคลื่อนธุรกิจสู่การพัฒนาอย่างยั่งยืนโดยประกาศตัวขอเป็นแบรนด์อะแวร์เนสเรื่องเกี่ยวกับกรีนบริษัทแรกๆ ของวงการที่อยู่อาศัยเมืองไทย สำหรับ “เสนาดีเวลลอปเม้นท์” บนโจทย์ธุรกิจใหม่ท่ามกลางกระแส Social Challenge ในประเด็น “ที่อยู่อาศัย” ที่เป็นตัวการก่อมลภาวะมากสุด โดยมีสัดส่วนสูงถึง 60% ของทั้งโลก 

การเปลี่ยนก่อนที่จะถูกเปลี่ยนจึงถือเป็นเรื่องสำคัญ ซึ่งเสนาดีเวลลอปเม้นท์ได้เริ่มสร้างโมเดลธุรกิจที่ยั่งยืนขึ้นมาเป็นรายแรกๆ แม้จะมาพร้อมกับต้นทุนที่สูงขึ้นก็ตาม เพราะมองว่าในระยะยาว ทุกคนจำเป็นต้องช่วยกันรักษ์โลก ขณะที่ระยะสั้นธุรกิจเองก็ต้องเดินต่อให้รอดเช่นเดียวกัน 

นักธุรกิจระดับประเทศอย่าง “ผศ.ดร.เกษรา ธัญลักษณ์ภาคย์” กรรมการผู้จัดการ บริษัท เสนาดีเวลลอปเม้นท์ จำกัด (มหาชน) ฉายภาพให้เห็นว่า อนาคตของโลกกับความอยู่รอดของธุรกิจบ้านและคอนโดมิเนียมนั้น เสนาดีเวลลอปเม้นท์ได้วางบิสสิเนสโมเดลไว้อย่างครบถ้วน 

“เราเชื่อว่าการทำ ESG เป็นสิ่งที่จำเป็น “ต้องทำ” เพราะว่าคอนซูเมอร์ leading the path และเราจะไม่มีทางห้ามเทรนด์ของคอนซูเมอร์ได้ เราไม่มีหน้าที่ห้ามเทรนด์ของคอนซูเมอร์ เรามีหน้าที่คิดว่าเทรนด์ของคอนซูเมอร์คืออะไร แล้วพยายามเกาะเทรนด์ และนำเทรนด์ให้ได้มากที่สุด”

ลดคาร์บอน ความยั่งยืนเพื่อคนทั้งโลก 

การดำเนินงานที่สำคัญอันดับต้นๆ ด้านความยั่งยืน ของเสนาดีเวลลอปเม้นท์ นั่นคือการเดินตามกรอบการพัฒนาเพื่อความยั่งยืนหรือ sustainable development 17 ข้อหลักของยูเอ็น ได้แก่ 1. ขจัดความยากจน 2. ขจัดความหิวโหย 3. การมีสุขภาพและความเป็นอยู่ที่ดี 4. การศึกษาที่มีคุณภาพ 5. ความเท่าเทียมทางเพศ 6. น้ำสะอาดและสุขาภิบาล 7. พลังงานสะอาดและจ่ายได้ 8. งานที่มีคุณค่า และเศรษฐกิจที่เติบโต 9. อุตสาหกรรม นวัตกรรม โครงสร้างพื้นฐาน 10. ลดความเหลื่อมล้ำ 11. เมืองและชุมชนยั่งยืน 12. การผลิตและบริโภคที่รับผิดชอบ 13. การรับมือกับ Climate Change 14. นิเวศทางทะเลและมหาสมุทร 15. ระบบนิเวศบนบก 16. สันติภาพและสถาบันเข้มแข็ง และ 17. หุ้นส่วนเพื่อการพัฒนา ซึ่งทั้งหมดสอดคล้องกับการดำเนินงานของภาครัฐบางส่วนอยู่แล้ว 

“หากย้อนไปดูจะพบว่าที่มาของเรื่องนี้ได้เริ่มต้นจาก Paris Agreement ที่ประเทศสมาชิกยูเอ็น รวมทั้งประเทศไทย มีข้อตกลงร่วมกันว่าจะทำ Net Zero – ลดการปล่อยก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์เป็น 0 ภายในปี 2050 กับปี 2065 ซึ่งไม่เฉพาะภาคธุรกิจที่ต้องลงมือทำ แต่คือสิ่งที่ทุกคนควรช่วยกันทำ และจำเป็นต้องหยิบนำมาคิดใคร่ครวญ เพราะเป็นกระแสหลักของโลก และกลายเป็นโจทย์ใหม่ที่ธุรกิจจะทำยังไงให้อยู่รอด และจะทำยังไงให้แข็งแรง และยั่งยืนต่อไปในอนาคต” ผศ.ดร.เกษรา กล่าว 

หันกลับมามองที่ประเทศไทย จะพบว่าบ้านเราอากาศร้อนขึ้นกว่าทุกปี โดยเฉพาะในปีนี้ นับเป็นครั้งแรกที่อุณหภูมิเพิ่มสูงขึ้นหลายองศา บางวันดัชนีความร้อนที่บางเขตของ กทม. เช่น บางนา พุ่งสูงขึ้นถึง 52 องศาเซลเซียส และเมืองชายทะเลในบางจังหวัดพุ่งสูงขึ้นถึง 54 องศาเซลเซียส

ในบางประเทศ เช่น อินเดีย ร้อนจัดถึงขั้นพื้นถนนที่เป็นยางมะตอยละลาย คนเดินแล้วรองเท้าเหนียวติดอยู่ที่พื้นถนนเลย เห็นรถยนต์ที่จอดทิ้งไว้กลางแดดมีชิ้นส่วนรถยนต์บางชิ้น เช่น กระจกไฟท้ายที่ทำจากพลาสติกละลายจนไหลเยิ้ม หากวัดอุณหภูมิที่เบาะนั่งรถยนต์

หรือจักรยานยนต์ พบว่าร้อนถึง 70 องศาเซลเซียส ส่วนในบางมณฑลของประเทศจีน แค่ตอกไข่ดิบลงบนกระทะ แล้ววางทิ้งไว้บนพื้นถนน ไข่ก็สุกเป็นไข่ดาวได้เลยทีเดียว 

“ทั้งๆ ที่เราได้ยินเรื่องสภาวะโลกร้อน เรื่องปฏิกิริยาก๊าซเรือนกระจก เรื่องรอยเท้าคาร์บอน (Carbon Footprint) เรื่องความยั่งยืน (Sustainability) ฯลฯ กันมานานมาก แต่ผู้คนส่วนใหญ่ก็ยังไม่ได้

ปรับเปลี่ยนอะไร ยังไม่รู้สึกว่าเป็นปัญหาที่มีผลกระทบกับชีวิตประจำวัน ส่วนใหญ่จะเป็นการรณรงค์ให้ทำเพื่ออนาคต ทำเพื่อลูกหลาน แต่วันนี้เราคงได้ตระหนัก แล้วว่า มันเริ่มมีผลกระทบโดยตรงกับตัวเรา ความร้อนจัดในปีนี้เป็นเสมือนนาฬิกาปลุก หรือสัญญาณอันตรายที่มาเตือนพวกเราให้ได้สติว่า ถึงเวลาแล้วที่เราต้องลงมือทำเพื่อเปลี่ยนแปลงวิถีชีวิตของเราให้เป็น “วิถีชีวิตเพื่อลดปริมาณคาร์บอน” (Decarbonized Lifestyle) กันอย่างจริงจัง” ผู้นำของเสนาดีเวลลอปเม้นท์เน้นย้ำ 

นอกจากนี้ หัวเรือใหญ่ของเสนาดีเวลลอปเม้นท์ ยังได้แสดงความคิดเห็นในการร่วมกันลดคาร์บอน ความยั่งยืนเพื่อคนทั้งโลก ใน 2 ส่วนหลักๆ

ส่วนแรกคือภาครัฐ ที่ต้องมีกฎหมายและระเบียบข้อบังคับต่างๆ เพื่อออกมาควบคุมดูแลเรื่องนี้อย่างจริงจังมากขึ้น และเร็วขึ้น ต้องสนับสนุนธุรกิจและความก้าวหน้าของพลังงานสะอาดทั้งหลายอย่างจริงจังและรวดเร็ว ไม่ว่าจะเป็นเรื่องโซล่าร์ รถยนต์ไฟฟ้า เมืองอัจฉริยะ (Smart City) และอื่นๆ 

ถึงแม้ในวันนี้จะกล่าวได้ว่า มีการเดินมาครึ่งทางของการประกาศ “เป้าหมายการพัฒนาที่ยั่งยืน” (SDGs : Sustainable Development Goals) จากสหประชาชาติ ตั้งแต่ปี พ.ศ. 2558 ที่มี 17 เป้าหมายที่จะบรรลุร่วมกันในปี พ.ศ. 2579 ซึ่งประเทศไทยก็เดินหน้าไปได้ไม่น้อย เพราะเราได้ชื่อว่าเป็นแหล่งพลังงานสะอาดที่บริษัทยักษ์ใหญ่ระดับโลกให้ความสนใจ และอยากเข้ามาลงทุนมากกว่าประเทศเพื่อนบ้าน เพราะเขาจะได้คะแนนความรับผิดชอบต่อสิ่งแวดล้อมสูง แต่ดูเหมือนว่า ไทยเองยังจะต้องเร่งมือให้ไปได้เร็วกว่านี้ เพื่อให้ประเทศไทยได้เปรียบและทิ้งห่างประเทศคู่แข่งให้ไกลยิ่งขึ้น

ส่วนที่สอง คือในภาคธุรกิจ องค์กรต่างๆ ที่สามารถลงมือทำและส่งผลที่จับต้องได้ทันที โดยเฉพาะธุรกิจในภาคอุตสาหกรรมที่มีโรงงานขนาดใหญ่ ที่ไม่ควรรีรอจนภาครัฐต้องออกกฎหมายหรือข้อบังคับออกมาใช้ ไม่ต้องรอจนประชาคมโลกออกระเบียบที่เคร่งครัด และอาจกลายเป็นเครื่องมือกีดกันทางการค้าจากประเทศที่พัฒนาแล้ว ไม่ให้สินค้าจากประเทศที่กำลังพัฒนาหรือด้อยพัฒนาเข้าไปทำการค้าได้ เพียงเพราะไม่ผ่านมาตรฐานเรื่องสิ่งแวดล้อมนี้ เพราะถ้ามัวแต่ชักช้าและรีรออยู่จนถึงเวลาที่โดนกีดกัน จะปรับตัวไม่ทัน หรือต้องลงทุนสูงมากเพื่อปรับเปลี่ยนในระยะเวลาอันสั้น

ซึ่งถ้าเป็นแบบนั้น ประเทศไทยและธุรกิจโดยรวมย่อมจะได้ไม่คุ้มเสียอย่างแน่นอน “ในความเป็นจริงแล้ว พวกเราในฐานะผู้บริโภคสามารถช่วยกันผลักดันเรื่องนี้ได้อย่างมีพลังมากที่สุด ทุกคนสามารถเริ่มจากเรื่องใกล้ตัว ร่วมกัน ลด ละ เลิก และลงมือทำ ในสิ่งที่ก่อให้เกิดปัญหาต่อสิ่งแวดล้อม หรือเพิ่มปริมาณคาร์บอนเข้าสู่บรรยากาศ จนก่อให้เกิดปฏิกิริยาก๊าซเรือนกระจก และสภาวะโลกร้อน ไม่ว่าจะเป็นการลดการใช้พลาสติกและโฟม ละการใช้พลังงานสกปรก เช่น ละไฟฟ้าจากถ่านหิน หันมาใช้โซลาร์กันมากขึ้น ละรถยนต์ที่ใช้น้ำมันเพื่อการสันดาปภายใน หันมาใช้รถไฟฟ้ากันมากขึ้น เลิกอุดหนุนสินค้าจากผู้ผลิตที่ไม่ใส่ใจเรื่องสิ่งแวดล้อม และลงมือทำหลายๆ เรื่องที่เคยผัดผ่อนกันไว้ เช่น การแยกขยะ การใช้วัสดุรีไซเคิล เป็นต้น”

“หากทำได้เราจะก้าวเข้าสู่ วิถีชีวิตเพื่อลดปริมาณคาร์บอน (Decarbonized Lifestyle) ไปด้วยกันอย่างมีความสุข”มุ่งสู่การพัฒนาที่อยู่อาศัย สไตล์สมาร์ทซิตี้ 

นอกจากประเด็นเรื่องการลดปริมาณคาร์บอนแล้ว เมืองแห่งอนาคต ที่เรียกกันว่า เมืองอัจฉริยะ หรือ สมาร์ทซิตี้ ยังเป็นอีกสิ่งหนึ่งที่เสนาดีเวลลอปเม้นท์เริ่มขับเคลื่อน ซึ่งในนิยามของ ผศ.ดร.เกศรา อาจไม่ใช่เมืองที่เต็มไปด้วยเทคโนโลยี มีอุปกรณ์อันล้ำสมัย (gadgets) มากมาย ที่อาจต้องลงทุนมหาศาล แต่จริงๆ แล้วมันคือเรื่องง่ายๆ ใกล้ตัวและสามารถเริ่มทำได้เลย 

“อยากจะบอกกับทุกคนว่า เราไม่จำเป็นต้องไปเห่อหรือตั้งหน้าตั้งตารอคอยการเกิดของสมาร์ทซิตี้จนเกินไป 

แต่สามารถนำจุดประสงค์หลักและแนวคิดเดียวกัน มามุ่งมั่นในการสร้างเมือง หรือ ชุมชนให้ทุกคนมีความสุข และยั่งยืนกันได้ โดยเราไม่จำเป็นต้องทุ่มทุนสร้างเทคโนโลยีที่ล้ำสมัย ไม่จำเป็นต้องมุ่งหวังแต่เมืองอัจฉริยะในบางพื้นที่สำคัญ แต่เราสามารถช่วยกันสร้าง “สมาร์ทซิตี้แบบพอดี” (The Smart Enough City) กันให้ทั่วถึงน่าจะดีกว่า” ผศ.ดร.เกษรา บอกเล่าแนวคิดของการก้าวสู่การเป็นสมาร์ท ซิตี้ 

สำหรับสมาร์ทซิตี้ในแนวคิดของเสนาดีเวลลอปเม้นท์น่าจะเป็นเมืองที่ฉลาดกำลังเหมาะ ไม่ต้องถึงขั้นอัจฉริยะ แต่ตอบโจทย์เดียวกัน นั่นคือการสร้าง “เมืองน่าอยู่” เป็นไปได้ ใช้เทคโนโลยีที่พอเหมาะและพอเพียงที่ช่วยให้ประชาชนประหยัดรายจ่าย มีรายได้ที่เพียงพอ มีการใช้ชีวิตดีขึ้น มีสิ่งแวดล้อมเหมาะสม ช่วยลดมลภาวะลง มีผู้คน ชุมชน และสังคมที่สามารถอยู่ร่วมกันอย่างมีความสุข 

ทั้งนี้ การพัฒนาที่อยู่อาศัยด้วยแนวคิด สมาร์ทซิตี้แบบพอดี (The Smart Enough City) ควรพิจารณา 3 ประเด็นหลัก ได้แก่ 

  1. พลังงานฉลาด (Smart Energy) คือให้เลือกใช้พลังงานทางเลือกที่ประหยัด และเป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม พลังงานทางเลือกที่เหมาะสมและเป็นไปได้ในวันนี้ คือพลังงานจากแสงอาทิตย์ ด้วยการติดตั้งโซลาร์เซล เช่น การติดตั้งโซลาร์เซลบนหลังคาบ้าน (Solar Rooftop) เพื่อให้ทุกคนได้ใช้พลังงานสะอาด 100% ซึ่งช่วยประหยัดค่าไฟฟ้าได้มาก ทำให้มีรายได้เหลือไว้ใช้จ่ายในเรื่องอื่นๆ

สำหรับคนที่หันมาใช้รถไฟฟ้า (EV หรือ Electric Vehicle) แล้วนั้น หากยังชาร์จไฟจากไฟบ้านในแบบเดิมๆ อยู่ อาจจะยังไม่ประหยัดจริง

และยังไม่ช่วยลดมลพิษได้ครบวงจร เพราะยังใช้ไฟฟ้าจากโรงไฟฟ้าพลังงานถ่านหินที่มีมลพิษสูง ทุกคนจึงควรหันมาให้ความสนใจในจุดชาร์จไฟที่มาจากพลังงานสะอาด ใช้ตู้ชาร์จที่ได้ไฟฟ้าจากโซลาร์เซลให้ทั่วถึง ซึ่งอาจจะต้องพิจารณาเรื่องความพร้อมในการชาร์จรถไฟฟ้าด้วยพลังงานสะอาด (EV Ready) ตั้งแต่ปลูกบ้าน หรือเลือกซื้อบ้านเลยทีเดียว เพราะการติดตั้งระบบนี้แต่แรก ย่อมดีกว่ามาดัดแปลงติดตั้งเองภายหลัง

นอกจากนี้ การนำแนวคิดเรื่องบ้านประหยัดพลังงานและรักษาสิ่งแวดล้อม ที่มีตัวอย่างที่ดีจากญี่ปุ่น เป็นการสร้าง “บ้านพลังงานเป็นศูนย์” (ZEH หรือ Zero Energy House) ก็เป็นตัวอย่างที่ดีที่เราสามารถนำมาปรับให้เหมาะกับเมืองไทยได้ไม่ยาก

  1. ชีวิตความเป็นอยู่ที่ชาญฉลาด (Smart Living) นำเทคโนโลยีที่มีอยู่แล้ว มาเพิ่มความสะดวกสบายในการใช้ชีวิตประจำวันในบ้าน ได้แก่ การใช้ AI (Artificial Intelligence) และการใช้แอปพลิเคชันบนมือถือ (Application) ที่ช่วยลดภาระเรื่องการติดต่อสื่อสาร ลดค่าใช้จ่ายในการเดินทาง และลดปริมาณการใช้กระดาษ เช่น การติดต่อขอรับบริการต่างๆ การจองคิว การกรอกข้อมูลออนไลน์ และการชำระค่าใช้จ่ายออนไลน์
  2. การเดินทางอย่างฉลาด (Smart Mobility) ใช้เทคโนโลยีเข้ามาช่วยวางแผนการเดินทาง ให้สะดวก รวดเร็ว คล่องตัวขึ้น ประหยัดเวลาในการหาและการรอคอย เช่น ระบบเช็คเวลาและการเดินรถสาธารณะ ระบบเช็กจุดจอดรถที่ว่าง ทำให้ไม่ต้องวนรถหา ประหยัดทั้งพลังงานและเวลา

ทั้งหมดนี้ เป็นแนวทางในการใช้ชีวิตที่นำเอาเทคโนโลยีที่พอเหมาะและพอดี มาใช้ให้ชีวิตดีขึ้น ทั้งในเรื่องการประหยัดเวลา ประหยัดค่าใช้จ่าย ลดค่าใช้จ่ายที่ไม่จำเป็น มีรายได้ที่เพียงพอยิ่งขึ้น มีสุขภาพที่ดีขึ้นทั้งกายและใจ และยังมีส่วนร่วมในการลดมลภาวะ ลดคาร์บอน หรือเป็นการสร้างวิถีชีวิตเพื่อลดคาร์บอน (Decarbonized Lifestyle) เพื่อร่วมกันสร้างเมืองน่าอยู่ที่เป็น “สมาร์ทซิตี้แบบพอดี” (The Smart Enough City) ให้เกิดขึ้นได้อย่างเป็นรูปธรรมในอนาคต 

นอกจากการมุ่งสู่สมาร์ท ซิตี้ และลดปริมาณคาร์บอน ซึ่งเป็นเทรนด์สำคัญแล้ว เสนาดีเวลลอปเม้นท์ ยังคงมุ่งมั่นสู่ความยั่งยืนในอีกหลายๆ ด้าน เช่น การให้ความสำคัญกับยังเจน (younger generation) ซึ่งเป็นคนกลุ่มที่มีกำลังซื้อหลักที่หมุนอยู่กับคำว่า ESG และคำว่า sustainability การตัดสินใจลงทุนปลูกป่า ทำธุรกิจที่เกี่ยวข้องกับป่าไม้โดยตรง ในนาม “บริษัท SENA Reforestation” ปลูกป่ารักษาโลก ตั้งเป้า 100,000 ไร่ เพื่อช่วยโลก การเปิดตัวโมเดล “บ้านไฟฟ้าเป็นศูนย์” รวมทั้งแคมเปญ “คอนโดโลว์คาร์บอน” เป็นต้น 

ทั้งนี้ ยังคงมุ่งเน้นการพัฒนาโปรดักส์ใหม่ๆ ให้ตอบโจทย์เทรนด์ และไลฟ์สไตล์ของคนยังเจน ที่รักษ์โลก รักสิ่งแวดล้อม ซึ่งเป็นลูกค้ากลุ่มเป้าหมายทั้งในปัจจุบันและอนาคต