
‘CKPower’ ขานรับเปลี่ยนผ่านพลังงาน เดินหน้าส่งไฟฟ้าพลังงานหมุนเวียน รุกตลาด ‘RECs’ ใน – ต่างประเทศ
ความเลวร้ายของสภาพภูมิอากาศที่มีการเปลี่ยนแปลงอย่างหนักและเพิ่มมากขึ้นในทุกๆ ปี เป็นวาระสำคัญระดับโลก ที่ทั่วโลกต้องรวมพลังเพื่อคลี่คลายหายนะนี้อย่างเร่งด่วน รวมถึงประเทศไทยซึ่งปล่อยก๊าซเรือนกระจกมากที่สุดเป็นอันดับที่ 30 คิดเป็นสัดส่วน 0.76% ของปริมาณการปล่อยก๊าซเรือนกระจกทั่วโลก ได้วางหมุดหมาย ลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจกให้ได้ 40% ภายใน พ.ศ. 2573 จนเหลือศูนย์ (Net Zero)
ภายใน พ.ศ. 2593 อีกทั้งยังประกาศความมุ่งมั่นต่อการเป็นประเทศที่มีความเป็นกลางทางคาร์บอน (Carbon Neutrality) พ.ศ. 2593
สาเหตุหลักของก๊าซเรือนกระจกในไทยมีที่มาจากภาคการผลิตพลังงาน การคมนาคมขนส่ง และ ภาคเกษตรกรรม จำเป็นอย่างยิ่งที่จะต้องได้รับความร่วมมือร่วมใจเพื่อแก้ไขจากทุกหน่วยงาน – องค์กรที่เกี่ยวข้อง ต้องมีการชดเชยการปล่อยคาร์บอนให้เหลือศูนย์ซึ่งมีหลากหลายวิธี
ใบรับรองสำหรับการผลิตไฟฟ้าพลังงานสะอาดที่สามารถซื้อขายได้ เพื่อยืนยันแหล่งผลิตว่ามาจากพลังงานหมุนเวียน เช่น พลังงานแสงอาทิตย์ น้ำ หรือลม เป็นต้น ซึ่งเป็นกลไก ที่ช่วยให้ผู้ผลิตและผู้ใช้ไฟฟ้าสามารถอ้างสิทธิ์การผลิตและการใช้ไฟฟ้าจากพลังงานหมุนเวียนได้
“RECs” เครดิตสิ่งแวดล้อมด้วยพลังงานหมุนเวียน
เครดิตทางสิ่งแวดล้อมสำหรับชดเชยการปล่อยก๊าซเรือนกระจกที่ส่วนใหญ่รู้จัก ก็คือ “คาร์บอนเครดิต” (Carbon Credit) หรือปริมาณก๊าซเรือนกระจกที่ลด – กักเก็บได้จากการดูดออกจากชั้นบรรยากาศ เช่น ปลูกป่า จับคาร์บอน ฯลฯ แต่ยังมีเครดิตอีกชนิดหนึ่งที่กำลังได้รับความสนใจจากองค์กรต่างๆ มากขึ้น ได้แก่ “ใบรับรองการผลิตพลังงานหมุนเวียน” (Renewable Energy Certificates) เรียกย่อๆ “RECs”
RECs คือการรับรองสิทธิ์ในการเป็นผู้ผลิตไฟฟ้าจากพลังงานหมุนเวียน หรือการเป็นผู้ใช้ไฟฟ้าจากพลังงานหมุนเวียน
นับเป็นกลไกที่ช่วยให้ผู้ผลิตและผู้ใช้ไฟฟ้าสามารถอ้างสิทธิ์การผลิตและการใช้ไฟฟ้าจากพลังงานหมุนเวียนหรือพลังงาสะอาด โดยมี “The International REC Standard” (I – REC) ประเทศเนเธอร์แลนด์ เป็นหน่วยงานรับรอง และมีการไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทย เป็นองค์กรเดียวที่ได้สิทธิ์เป็นผู้ให้การรับรองในประเทศไทย
การนำ RECs ไปใช้ชดเชย เหมาะกับองค์กรที่ต้องการบรรลุเป้าหมาย RE100 (กลุ่มบริษัทที่รวมตัวกันและแสดงเจตจำนงที่จะใช้พลังงานหมุนเวียน 100% ในการดำเนินธุรกิจ) โดยควรพิจารณาซื้อจากการคำนวนคาร์บอนฟุตพริ้นท์ขององค์กร การปล่อยก๊าซเรือนกระจกทางอ้อมจากการใช้พลังงาน (Energy Indirect Emissions) จัดอยู่ใน SCOPE II
จำนวน RECs ที่ซื้อมา จะเป็นการลดข้อมูลกิจกรรม (Activity Data) ในแหล่งปล่อยก๊าซเรือนกระจกจากการใช้พลังงานไฟฟ้าเท่านั้น โดยสามารถอ้างสิทธิ์ในการใช้พลังงานหมุนเวียน ทดแทนการใช้ไฟฟ้าจากสายส่ง เพื่อ มุ่งสู่เป้าหมายการเป็นองค์กรที่ใช้พลังงานหมุนเวียนทั้งหมด
รุกธุรกิจขาย RECs เพิ่มมูลค่าการลงทุนสีเขียว
ผู้ลงทุนพัฒนาโครงการพลังงานหมุนเวียนในธุรกิจ RECs นอกจากจะช่วยส่งเสริมให้เกิดการพัฒนาการผลิตไฟฟ้าจากพลังงานหมุนเวียนภายในประเทศแล้ว ยังสามารถสร้างรายได้เพิ่มจากการขายใบรับรองการผลิตพลังงานหมุนเวียน
หนึ่งในนั้นมี บริษัท ซีเค พาวเวอร์ จำกัด (มหาชน) หรือ “CKPower” ผู้นำในการผลิตไฟฟ้าจากพลังงานหมุนเวียนที่ใหญ่ที่สุดในภูมิภาคและมีคาร์บอนฟุตพรินต์ต่ำที่สุดรายหนึ่ง ขยายโอกาสการลงทุนด้านการเงินสีเขียว (Green Finance) ผ่านการขาย RECs ทั้งในและต่างประเทศ ภายใต้แผนกลยุทธ์การดำเนินงานความยั่งยืนตามกรอบระยะเวลา 5 ปี (2565 – 2569)โดยร่วมมือกับบริษัท อินโนพาวเวอร์ จำกัด (INNOPOWER) ในเครือการไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทย นำโรงไฟฟ้าพลังงานแสงอาทิตย์ภายใต้บริษัท บางเขนชัย จำกัด (BKC) ขึ้นทะเบียนโรงไฟฟ้าพลังงานหมุนเวียนเข้าสู่ธุรกิจซื้อขาย RECs ตั้งแต่ปี 2565 จนถึงปัจจุบันนี้ได้ส่งมอบ RECs ให้กับอินโนพาวเวอร์จำนวน 39,660.46 RECs แล้ว
นายธนวัฒน์ ตรีวิศวเวทย์ กรรมการผู้จัดการ CK Power เผยถึงการร่วมเป็นส่วนหนึ่งในการสนับสนุนการใช้พลังงานหมุนเวียนว่า ช่วงกลางปี 2567 ที่ผ่านมา บริษัทยังได้ลงนามข้อตกลงสัญญาร่วมกับบริษัท เมฆา วี จำกัด (Mekha V)
ในเครือบริษัท ปตท. จำกัด (มหาชน) เพื่อร่วมกันศึกษาความเป็นไปได้ในการนำ RECs จากบริษัท ไซยะบุรี พาวเวอร์ จำกัด
(XPCL) โรงไฟฟ้าพลังงานน้ำ แบบน้ำไหลผ่านใน สปป.ลาว เข้าสู่แพลตฟอร์ม ReAcc เพื่อตอบรับการเปลี่ยนผ่านทางพลังงานให้กับภาคอุตสาหกรรมในอนาคต และเตรียมความพร้อมในการรองรับการใช้ไฟฟ้า จากพลังงานหมุนเวียนตลอดห่วงโซ่อุปทานของธุรกิจ
“สำหรับความคืบหน้าของโครงการไฟฟ้าพลังงานแสงอาทิตย์ ร่วมกับบริษัท ทางด่วนและรถไฟฟ้ากรุงเทพ จำกัด (มหาชน) หรือ BEM ที่บริษัทดำเนินการผ่าน BKC จำนวน 3 โครงการ กำลังการผลิตติดตั้งรวม 6.95 เมกะวัตต์ ขณะนี้อยู่ระหว่าง
การก่อสร้างโดยคาดว่าจะเริ่มผลิตและจำหน่ายไฟฟ้าเชิงพาณิชย์โครงการแรกในช่วงครึ่งแรกของปี 2568”
ในอนาคตจะมีการศึกษาและต่อยอดความเป็นไปได้ในการ
นำพลังงานหมุนเวียนมาใช้กับระบบขนส่งที่กำลังเติบโตขยายตัวมากขึ้น พร้อมกันนี้ ทาง BKC ได้ลงนามในสัญญาซื้อขายไฟฟ้าภายใต้โครงการผลิตไฟฟ้าจากพลังงานหมุนเวียนในรูปแบบ Feed – in Tariff (FiT) กลุ่มไม่มีต้นทุนเชื้อเพลิงกับการไฟฟ้าส่วนภูมิภาค มีกำลังการผลิตติดตั้ง 6 เมกะวัตต์ เตรียมจ่ายไฟฟ้าเข้าระบบเชิงพาณิชย์ (Commercial Operation Date – COD) ในปี 2570 ด้วยระยะเวลาสัญญา 25 ปี
ขับเคลื่อนประเทศไทยสู่สังคมคาร์บอนต่ำอย่างยั่งยืน
การดำเนินงานโครงการพลังงานหมุนเวียนในธุรกิจ RECs ของ CKPower นับว่าสอดคล้องกับ 3 กลยุทธ์หลัก “C-K-P” ครอบคลุมทั้งในมิติสิ่งแวดล้อม (Clean Electricity ไฟฟ้าสะอาด) มิติสังคม (Kind Neighbor เพื่อนบ้านที่ดี) และมิติบรรษัทภิบาลและเศรษฐกิจ (Partnership for Life พันธมิตรที่ยั่งยืน) กระทั่งได้รับผลการประเมิน SET ESG Ratings ประจำปี 2567 ระดับ AAA ติดรายชื่อหุ้นยั่งยืนต่อเนื่องเป็นปีที่ 5 ในกลุ่มอุตสาหกรรมทรัพยากร (Resources)
กรรมการผู้จัดการ CK Power กล่าวทิ้งท้ายว่า พลังงานหมุนเวียนหรือพลังงานทดแทน เป็นหัวใจสำคัญของการเปลี่ยนผ่าน
ด้านพลังงานและเป็นโจทย์ของการพัฒนาที่ยั่งยืนทั่วโลกรวมถึงประเทศไทย บริษัทจึงมีแผนเพิ่มสัดส่วนการผลิตพลังงานหมุนเวียน ทั้งพลังงานน้ำ พลังงานแสงอาทิตย์ ให้ได้มากกว่าร้อยละ 95 ภายในปี 2586 ควบคู่ไปกับการสนับสนุนการพัฒนานวัตกรรมลดการใช้พลังงาน เพิ่มประสิทธิภาพในการผลิตไฟฟ้า พร้อมสร้างความตระหนักรู้เกี่ยวกับการอนุรักษ์พลังงานตลอดห่วงโซ่คุณค่าขององค์กร มุ่งสู่เป้าหมายการปล่อยก๊าซเรือนกระจกสุทธิเป็นศูนย์ที่สามารถหวังผลในระยะยาวอย่างเป็นรูปธรรมภายในปี 2593
“CK Power พร้อมแล้วที่จะสนับสนุนการผลิตและใช้พลังงานสะอาดเพื่อร่วมสร้างความยั่งยืนให้แก่ระบบพลังงานและสังคม เพื่อร่วมขับเคลื่อนประเทศไทยมุ่งสู่สังคมคาร์บอนต่ำอย่างยั่งยืน”