“มลพิษ” ปัญหาเมืองใหญ่

REUTERS/Kham

คอลัมน์ รู้จักอาเซียน
โดย มัธธาณะ รอดยิ้ม

ปัญหาด้านสิ่งแวดล้อม ปัญหาที่คาราคาซังมาอย่างยาวนาน และกลายเป็นเรื่องอินเทรนด์ขึ้นมาอีกกับฝุ่นขนาดเห็นด้วยตาเปล่ากลางกรุงเทพมหานคร ปัญหานี้ไม่ได้เกิดขึ้นกับประเทศไทยเท่านั้น

มลพิษเป็นปัญหาหลักที่หลายประเทศอาเซียนเผชิญ โดยเฉพาะเมืองใหญ่ ที่เชื่อได้ว่าไม่ได้มาจากการเผาหญ้า เผาฟาง หรือเผาขยะอย่างแน่นอน ไม่ว่าจะมะนิลาก็ดี ฮานอย โฮจิมินห์ก็ดี จาการ์ตา หรือแม้กระทั่งกัวลาลัมเปอร์ ที่มีปัญหาด้านมลพิษไม่แพ้บ้านเรา

หากใครเคยไปจาการ์ตา หรือโฮจิมินห์ จะสัมผัสได้ถึงควันพิษที่ออกมาจากท่อไอเสีย กับความหนาแน่นของรถบนท้องถนนที่มีแต่จะสร้างความเครียด ซึ่งกรุงฮานอย ก็ได้เล็งลดจำนวนคนใช้จักรยานยนต์ในเมืองให้ได้ภายในปี 2573 เพื่อลดความแออัดบนท้องถนน และลดมลพิษ ขณะเดียวกันก็มีความพยายามในการปรับปรุงขนส่งมวลชนในเมือง ซึ่งถือว่าเป็นความพยายามที่ดี

แต่ถ้าให้ประสบผลสำเร็จต้องเสนอทางเลือกให้กับประชาชนด้วย ไม่ใช่แค่ยกเลิก และให้ประชาชนไปไขว่คว้าหาทางแก้ไขกันเอง ซึ่งปัญหาจะไม่ถูกแก้ไขอย่างยั่งยืน

เรื่องการพยายามลดการปล่อยมลพิษเป็นสิ่งที่ต้องทำ สำหรับหลายรัฐบาลในอาเซียน ในรายงานของ ฮันส์ โยอาคิม เชลล์เลนอูเบอร์ จากสถาบันวิจัยผลกระทบทางสภาพอากาศพอตส์ดัม ในเยอรมนี และ บัมบัง สุสันโตโน่ จากธนาคารเพื่อการพัฒนาเอเชีย หรือเอดีบี ระบุว่า ภายในปี 2593 ประชากรในเมืองใหญ่ของเอเชียจะเพิ่มขึ้น รวมถึง 3 พันล้านคน และจะผลิตก๊าซเรือนกระจกถึงครึ่งของโลกภายใน 20 ปี

และที่สำคัญภายในปี 2643 หรืออีกกว่า 80 ปีข้างหน้า ชาวเอเชียน่าจะรวมถึงอาเซียนด้วย จะเจ็บป่วยล้มตายจากโรค “ทางเดินอากาศ” รวมถึงสภาวะความเครียดจากความร้อนและมลพิษ มากกว่านั้นอุณหภูมิที่สูงขึ้นจะกระทบผลผลิตทางการเกษตรและอุตสาหกรรมอย่างแน่นอน

ส่วนผู้คนที่อาศัยบริเวณใกล้ชายฝั่งในอาเซียน ซึ่งเมืองหลวงและเมืองสำคัญของหลายประเทศอาเซียนอยู่ใกล้กับชายฝั่ง ไม่ว่าจะเป็นกรุงเทพฯ ย่างกุ้ง จาการ์ตา หรือมะนิลา จะได้รับผลกระทบน้ำท่วมจากสภาวะน้ำทะเลที่สูงขึ้น และแน่นอนส่งผลทางเศรษฐกิจมหาศาล

นักวิชาการทั้งสองจึงได้เสนอแนะทางออกที่น่าจะได้ผล ว่า รัฐบาลควรหาทางกระจายความเจริญ เปลี่ยนจากการให้ความสำคัญของเมืองเดี่ยว เป็นลักษณะกระจายไปยังภูมิภาคมากขึ้น และที่สำคัญต้องมีการจัดทำระเบียงสิ่งแวดล้อม (eco corri-dor) หรือสวนสาธารณะ เพื่อเสริมสร้างสุขภาพให้กับประชาชน

นอกจากนี้ การปรับปรุงระบบการระบายน้ำ การวางผังเมืองให้มีประสิทธิภาพ รวมไปถึงการสร้างคันหรือกำแพงกั้นน้ำ รวมไปถึงการปรับปรุงการพยากรณ์อากาศให้ข้อมูลถึงมือประชาชนเร็วที่สุด ก็จำเป็นไม่น้อย

เรื่องสิ่งแวดล้อมไม่ใช่เรื่องไกลตัว หลายคนทราบถึงปัญหามลพิษ แต่ไม่ค่อยเข้าถึงมาตรการจากรัฐ หรือข้อควรทำในการรักษาสภาพแวดล้อม จึงขออนุญาตตั้งคำถามว่า ภาครัฐมีมาตรการใดบ้างที่ช่วยลดมลพิษ หากไม่เช่นนั้นเมื่อคนในประเทศป่วย รัฐก็ต้องจ่ายงบประมาณด้านสาธารณสุขมากขึ้น ผลผลิตของประเทศก็ลดลง และจะกลายเป็นลูกโซ่

ไม่เช่นนั้น ก็ลองดูสิงคโปร์เป็นตัวอย่าง ที่พยายามต่อสู้ทั้งไฟป่า จนกระทั่งเรื่องฝุ่นจากถนน และการจัดการพื้นที่สีเขียวอย่างมีประสิทธิภาพ