6 เดือนของสงครามที่ยังไม่มีผู้เผด็จศึก

กราฟิกธงชาติรัสเซียและยูเครนมีเงาคนถือปืนบนธงชาติ

ที่มาของภาพ, Getty Images

24 สิงหาคม วันนี้เป็นวันชาติของยูเครน ครบ 31 ปี นับตั้งแต่ยูเครนเป็นประเทศเอกราชจากสหภาพโซเวียต แต่สำหรับปีนี้ยังเป็นวันครบหกเดือนที่รัสเซียเปิดฉากรุกรานยูเครน  ตลอดช่วงหกเดือนที่ผ่านมาได้เกิดความสูญเสียทั้งทรัพย์สิน และชีวิต

ผลพวงของสงครามไม่ได้จำกัดบริเวณอยู่เฉพาะพรมแดนยูเครนและรัสเซียเท่านั้น แต่ทั้งโลกได้รับผลกระทบทั้งจากราคาน้ำมัน เงินเฟ้อ ความมั่นคงด้านอาหาร รวมทั้งก่อให้เกิดวิกฤตผู้ลี้ภัย

บีบีซีไทยชวนทำความเข้าใจผลพวงของสงครามครั้งนี้ผ่านกราฟิก

1. ยูเครนก่อนถูกรัสเซียรุกราน

กราฟิก

ก่อนที่รัสเซียจะรุกรานยูเครนนั้น ในภูมิภาคดอนบาสทางตะวันออกมีกลุ่มแบ่งแยกดินแดนที่ฝักใฝ่รัสเซียคุมพื้นที่ส่วนใหญ่อยู่แล้ว ซึ่งนั่นก็เป็นเหตุผลที่นายปูติน ประกาศในวันที่ 21 ก.พ. ว่ารัสเซียจะทำสงครามเพื่อปลดปล่อยภูมิภาคดอนบาส และโดเนตสก์ ซึ่งเป็นดินแดนทางตะวันออกที่แยกตัวออกไป

ความเคลื่อนไหวนี้เรียกเสียงประณามจากยูเครน ชาติตะวันตก องค์การสนธิสัญญาแอตแลนติกเหนือ (นาโต)

แต่ท้ายที่สุดแล้วรัสเซียก็เคลื่อนทัพเข้าไปในยูเครน ประเทศที่ถูกรัสเซียผนวกเอาดินแดนไครเมียมาเป็นของรัสเซียตั้งแต่ปี 2014 จนถึงขณะนี้สงครามยังยืดเยื้อไม่จบ ผู้เชี่ยวชาญบางคนวิเคราะห์สถานการณ์ว่าคงไม่มีฝ่ายใดฝ่ายหนึ่งเผด็จศึกได้ภายในปีนี้

2: หกเดือนผ่านไป

กราฟิก

ในช่วงแรกของสงครามกองทหารรัสเซียพร้อมอาวุธยุทโธปกรณ์รุกคืบอย่างรวดเร็ว และยึดพื้นที่ทางตะวันออกไว้ได้ แต่ต่อมาก็ถูกกดดันให้ออกไปจากบริเวณใกล้ ๆ กรุงเคียฟและเมืองใหญ่อื่น ๆ ทางเหนือของยูเครน ที่รัสเซียยึดได้ในช่วงแรก

ในขณะนี้รัสเซียสามารถคุมภูมิภาคลูฮันสก์ได้ทั้งหมดและรุกคืบเล็กน้อยในภูมิภาคโดเนตสก์ ส่วนที่เมืองคาร์คิฟ เป็นพื้นที่หนึ่งที่ตกอยู่ภายใต้การถล่มโจมตีนานนับเดือน

ในเดือน พ.ค. รัสเซียสามารถยึดเมืองมาริอูโปล เมืองท่าสำคัญริมทะเลอะซอฟแห่งนี้ได้  ซึ่งช่วยให้รัสเซียสามารถเคลื่อนย้ายกำลังพลไปสมทบในปฏิบัติการยึดภูมิภาคดอนบาสได้เพิ่มขึ้น และโรงเหล็กอะซอฟสตาลก็ถูกยึดไว้ด้วย ตอนนั้นมีการอพยพกองกำลังยูเครนสองพันกว่านายไปอยู่ที่เมืองในเขตอิทธิพลของรัสเซีย

ในช่วงนั้นรัสเซียคุมบริเวณทะเลอะซอฟและชายฝั่งทางตะวันออกเฉียงใต้ของยูเครนไว้ได้ทั้งหมด และรัสเซียยังคุมไครเมียดินแดนที่ผนวกไว้ตั้งแต่ปี 2014 ด้วย แต่ในเดือน ส.ค.นี้ ไครเมียก็ถูกโจมตี เช่นกัน

ส่วนทางใต้นั้นเมืองแคร์ซอนเป็นเมืองแรกที่ถูกรัสเซียยึดไว้ ตอนนี้ยูเครนกำลังพยายามช่วงชิงเมืองนี้คืนมา โดยอาศัยอาวุธอานุภาพสูงอย่างอาวุธพิสัยไกลในการโจมตีซึ่งพุ่งเป้าไปที่สะพานข้ามแม่น้ำนีเปอร์  รัสเซียยังยึดโรงไฟฟ้านิวเคลียร์ซาปอริชเซีย ซึ่งตั้งอยู่ใกล้กับแม่น้ำนีเปอร์อยู่ และทำให้หลายฝ่ายห่วงว่าจะมีการโจมตีโรงไฟฟ้านิวเคลียร์ซึ่งจะสร้างความเสียหายร้ายแรง

3. ยอดผู้เสียชีวิต

กราฟิก

ถ้าดูในแง่ของชีวิตผู้คนที่สูญสิ้น อาจเป็นเรื่องที่ค่อนข้างซับซ้อน เพราะทั้งสองฝ่ายก็อ้างตัวเลขของตัวเองว่าแตะหลักหมื่น ซึ่งองค์การสหประชาชาติ (ยูเอ็น) เองก็ไม่รับรองว่าเป็นตัวเลขที่เชื่อถือได้  แต่จากการวิเคราะห์ข้อมูลจาก Armed Conflicted Location and Event Data Project องค์กรไม่แสวงหากำไรในสหรัฐฯ พบว่า นับจนถึงวันที่ 10 ส.ค. มีผู้เสียชีวิตในยูเครนแล้วมากกว่า 13,000 คน แต่ผู้เชี่ยวชาญหลายคนเชื่อว่าน่าจะมากกว่านั้น

4. จำนวนผู้อพยพลี้ภัย

กราฟิก

ส่วนในแง่ยอดผู้อพยพละทิ้งบ้านเรือนนั้น ยูเอ็นบอกว่า มีอย่างน้อย 12 ล้านคน มากกว่า 5 ล้านคนไปอยู่ในประเทศเพื่อนบ้าน และประเทศอื่น ๆ ในยุโรป และ 7 ล้านคนกระจายอยู่ยูเครนเอง อย่างไรก็ดี ผู้ลี้ภัยหลายพันคนได้เดินทางกลับไปยังยูเครนแล้ว โดยเฉพาะที่กรุงเคียฟ

สำนักงานข้าหลวงใหญ่เพื่อผู้ลี้ภัยแห่งสหประชาชาติ (ยูเอ็นเอชซีอาร์) ประเมินว่า มีผู้ลี้ภัยราว 6.4 ล้านคนที่อพยพจากยูเครนไปยังยุโรปนับตั้งแต่เกิดสงครามจนถึงวันที่ 17 ส.ค.

ชาวยูเครนจำนวนหนึ่งเดินทางจากภูมิภาคลูฮันสก์และโดเนตสก์ ไปยังรัสเซีย ขณะที่ประธานาธิบดีปูติน ระบุว่า ทหารรัสเซียได้อพยพผู้คนราว 140,000 คนออกจากเมืองมาริอูโปล โดยไมมีใครถูกบังคับให้เดินทางไปรัสเซีย อย่างไรก็ดี อาสาสมัครหลายกลุ่มเปิดเผยว่า ได้ช่วยคนยูเครนหนีออกมาจากรัสเซีย

ในเวลาเดียวกันยังมีผู้ลี้ภัยจำนวนมากที่อพยพจากยูเครนไปอยู่ประเทศเพื่อนบ้านอย่างโปแลนด์ และเยอรมนี

5. ความเสียหาย

กราฟิก

ความเสียหายที่เกิดขึ้นตลอดหกเดือนที่ผ่านมาเป็นสิ่งที่เห็นได้ชัด ทั้งจากบ้านเรือนประชาชน และตึกรามที่ถูกทำลาย

Kyiv School of Economics ประเมินว่า นับจนถึงวันที่ 8 มิ.ย. มีบ้านเรือนได้รับความเสียหายเป็นมูลค่า 39,000 ล้านดอลลาร์สหรัฐ และโครงสร้างพื้นฐานในยูเครนได้รับความเสียหายราว 104,000 ล้านดอลลาร์สหรัฐ และตัวเลขจะยังเพิ่มสูงขึ้นอีก

6. ผลกระทบต่อความมั่นคงด้านอาหารของโลก

กราฟิก

สงครามครั้งนี้ทำให้เกิดวิกฤตด้านอาหารไปทั่วโลก  การที่รัสเซียปิดท่าเรือต่าง ๆ ของยูเครน ทำให้ราคาอาหารพุ่งสูงขึ้น และเกิดการขาดแคลนอาหารจำนวนมากในประเทศที่ยากจนที่สุดบางส่วนของโลก

อย่างไรก็ดี ยูเครน รัสเซีย ตุรกี และสหประชาชาติ ได้ลงนามในข้อตกลงที่อนุญาตให้มีการส่งธัญพืชผ่านทะเลดำแล้ว

ภายใต้ข้อตกลงนี้ รัสเซียจะไม่โจมตีขณะที่มีการขนส่งสินค้าทางเรือ ขณะที่ยูเครนจะใช้เรือนาวีนำทางเรือขนส่งธัญพืชผ่านเข้าออกน่านน้ำของท่าเรือที่มีการติดตั้งกับระเบิดไว้

ขณะนี้เรือขนส่งธัญพืชได้เดินทางออกจากท่าเรือของยูเครนแล้ว แต่ฝ่ายที่วิพากษ์วิจารณ์เกรงว่า เรือหลายลำอาจไม่สามารถเดินทางกลับไปยังยูเครนได้เพราะไม่มีบริษัทผู้รับประกันยอมทำประกันความปลอดภัยให้

……..

ข่าว บีบีซี ไทย ที่เผยแพร่ในเว็บไซต์ ประชาชาติธุรกิจ เป็นความร่วมมือของสององค์กรข่าว