“รักควีน รักการเข้าคิว” ทำไมการเข้าคิวถึงเป็นอัตลักษณ์คนอังกฤษ

การเข้าคิว หรือการต่อแถวรออย่างสงบ สุภาพ และอดทนคอย เป็นอุปนิสัยเฉพาะของประชาชนในสหราชอาณาจักรหรือไม่

ประเด็นนี้กลายเป็นคำถามที่ผู้คนพูดถึงในสื่อสังคมออนไลน์ หลังมีการเผยแพร่ภาพการต่อแถวยาว และเป็นแถวที่คดเคี้ยวไปตามท้องถนนในกรุงลอนดอน เพื่อรอถวายสักการะพระบรมศพ สมเด็จพระราชินีนาถเอลิซาเบธที่ 2 ที่เสด็จสู่สวรรคาลัยเมื่อวันที่ 8 ก.ย. และจะมีพระราชพิธีพระบรมศพในวันที่ 19 ก.ย. ที่จะถึงนี้

ตอนนี้ หีบพระบรมศพของสมเด็จพระราชินีนาถประดิษฐานอยู่ที่เวสต์มินสเตอร์ฮอลล์ ใจกลางกรุงลอนดอน เพื่อให้สาธารณชนเข้าถวายสักการะพระบรมศพเป็นเวลา 4 วัน ก่อนถึงพระราชพิธีพระบรมศพ ซึ่งจะมีประมุข ผู้นำประเทศ และบุคคลสำคัญของโลกไปร่วมงานราว 500 คน

รักควีน รักการเข้าคิว

ที่มาของภาพ, Reuters

เวลานี้ การต่อคิวยาวเรียบแม่น้ำเทมส์ เป็นความยาวเกือบ 7 กิโลเมตร ส่วนท้ายสุดของคิวอยู่ที่สะพานทาวเวอร์บริดจ์ ส่วนหน้าสุดคือเวสต์มินสเตอร์ฮอลล์

“เรายึดถือในประเพณีบริติชที่สำคัญ 2 อย่าง คือ รักควีน รักการเข้าคิว” อาร์คบิชอป หรืออัครมุขนายกแห่งยอร์ค สตีเฟน คอตเทรล บอกกับผู้คนที่กำลังต่อแถวยาว ซึ่งเป็นคำพูดที่สะท้อนถึงอารมณ์ของประชาชนหลายพันคนที่ต่อคิวอย่างอดทน ค่อย ๆ ขยับไปใกล้หีบพระบรมศพของควีน

หีบพระบรมศพในเวสต์มินสเตอร์ฮอลล์

ที่มาของภาพ, Reuters

แคลร์ ไลนาส อายุ 61 ปี อาจารย์ใหญ่ที่เกษียณอายุแล้ว ต่อคิวกับเพื่อนเป็นเวลานาน 12 ชั่วโมง แต่เป็นการรอคอยที่คุ้มค่า เพราะได้รับชมพิธีการผลัดเปลี่ยนเวรยามหน้าฮอลล์ด้วย ทำให้ได้ถวายสักการะพระบรมศพได้นานขึ้นอีก 2-3 นาที

“เป็นพิธีที่งดงาม เปี่ยมด้วยอารมณ์ ซักซ้อมกันมาอย่างดี และฉันต้องการกล่าวอำลาต่อพระองค์” แคลร์ กล่าว

  • ทางการสหราชอาณาจักรอำนวยความสะดวกให้กับประชาชนที่มาต่อแถวเข้าคิวเป็นอย่างดี ดังนี้
  • ห้องน้ำเคลื่อนที่กว่า 500 แห่ง ตามจุดต่าง ๆ
  • ร้านอาหารและห้างร้านต่าง ๆ เปิดนานขึ้น เพื่อให้ผู้เข้าคิวแวะมาใช้บริการ
  • พื้นที่ให้ต่อแถวเข้าคิว ไม่มีขั้นบันได เพื่ออำนวยความสะดวกให้แก่ผู้ใช้รถเข็น
  • เปิดให้ประชาชนตรวจสอบความยาวของคิวผ่านยูทิวบ์
Reuters

ที่มาของภาพ, Reuters

การอำนวยความสะดวกให้กับประชาชนที่เข้าคิว ไม่ถือเป็นเรื่องแปลก หากคุ้นชินกับธรรมเนียมของคนในสหราชอาณาจักร ยกตัวอย่าง ทัวร์นาเมนต์เทนนิสวิมเบิลดัน จะมีคู่มือหนา 30 หน้า พูดถึงการเข้าคิว เพื่อเข้ารับชมการแข่งขัน

เข้าคิวมีประวัติย้อนไปถึงสงครามโลกครั้งที่ 2

ความคลั่งไคล้ในการเข้าคิวของสหราชอาณาจักร มีประวัติย้อนกลับไปจนถึงช่วงกลางศตวรรษ

จอร์จ ออร์เวล ได้เขียนบทความชื่อ “เดอะ อิงลิช พีเพิล” (The English People) เพื่อพยายามทำความเข้าใจความคิดของนักท่องเที่ยวที่เดินทางมาสหราชอาณาจักรเป็นครั้งแรก

“ชาวต่างชาติในจินตนาการของเรา คงตกใจกับความเป็นสุภาพชนของคนอังกฤษ จากความเป็นระเบียบของฝูงชนอังกฤษ ไม่มีการผลักและทะเลาะกัน แต่ยินยอมต่อแถวด้วยดี”

สำหรับนักประวัติศาสตร์แล้ว ประเพณีการเข้าคิวเริ่มต้นขึ้นในช่วงการปฏิวัติอุตสาหกรรม ที่ซึ่งสังคมก้าวเข้าสู่สังคมเมืองและอุตสาหกรรมพร้อม ๆ กัน พื้นที่ชนบทแปรเปลี่ยนเป็นเมือง และเปลี่ยนวิถีชีวิตของผู้คน

เข้าคิวไปด้วยทำงานไปด้วย

ที่มาของภาพ, Reuters

แต่สิ่งที่สร้างชื่อเสียงให้คนสหราชอาณาจักรในฐานะ “นักต่อคิวแบบอารยชน” คือสงครามโลกครั้งที่ 2

ดร. เคต แบรดลีย์ อาจารย์สาขาประวัติศาสตร์สังคมและนโยบายสังคม มหาวิทยาลัยแห่งเคนท์ กล่าวกับบีบีซี เมื่อปี 2013 ว่า “การเข้าคิวเชื่อมโยงกับความยากลำบากแสนเข็ญ ที่คนจนต้องต่อคิวเพื่อรับสิ่งบรรเทาทุกข์และของบริจาค”

“โฆษณาชวนเชื่อในเวลานั้น คือ ประชาชนต้องทำหน้าที่ของตน และรอคิวของตนเอง มันเป็นวิธีที่รัฐบาลพยายามควบคุมสถานการณ์ในห้วงเวลาที่ไม่แน่นอน”

ชาวสหราชอาณาจักรเข้าคิวอย่างเป็นระเบียบ

ที่มาของภาพ, Reuters

แต่จากมาตรการจำเป็นในยุคสงคราม ทุกวันนี้ ประชาชนในสหราชอาณาจักรภาคภูมิใจกับการเข้าคิวอย่างเป็นระเบียบ สุภาพ และสมัครใจ

โพสต์ในทวิตเตอร์หนึ่งได้รับความสนใจเป็นอย่างมาก มีการแชร์ไปกว่า 25,000 ครั้ง และสะท้อนถึงความรู้สึกของประชาชนถึง “การเข้าคิว” ได้เป็นอย่างดี

“การเข้าคิวคือชัยชนะของความเป็นคนบริติช มันแสนจะยอดเยี่ยม…เราคือมารดาแห่งการเข้าคิว การเข้าคิวคือศิลปะ คือบทกวี เราเข้าคิวเพื่อให้คิวมันสิ้นสุด”

……

ข่าว บีบีซี ไทย ที่เผยแพร่ในเว็บไซต์ ประชาชาติธุรกิจ เป็นความร่วมมือของสององค์กรข่าว