ควีนเอลิซาเบธที่ 2 : ตั้งแต่หงส์และโลมาไปจนถึงถนนในลอนดอน ทรัพย์สมบัติที่ตกทอดมายังกษัตริย์ชาร์ลส์ที่ 3

สมเด็จพระราชินีนาถเอลิซาเบธที่ 2 ซึ่งทรงเป็นกษัตริย์ที่ครองราชย์ยาวนานที่สุดของสหราชอาณาจักร เป็นทราบกันดีถึงชีวิตที่มีสีสันของพระองค์ ในฐานะที่เป็นสตรีที่ร่ำรวยที่สุดคนหนึ่งในสหราชอาณาจักร พระองค์ทรงรับมรดกตกทอดเป็นพระราชวังต่าง ๆ เครื่องราชกกุธภัณฑ์ และอสังหาริมทรัพย์หลายแห่ง พระองค์ยังทรงเป็นเจ้าของสิ่งของหลายอย่างที่คาดไม่ถึงและมีความพิเศษ ซึ่งขณะนี้ได้ตกทอดไปยังกษัตริย์ชาร์ลส์ที่ 3 กษัตริย์พระองค์ใหม่ของสหราชอาณาจักรแล้ว

ฉลองพระองค์

“สมเด็จพระราชินีนาถเอลิซาเบธที่ 2 และสมเด็จพระราชินีเอลิซาเบธ พระราชชนนี ไม่ทรงปรารถนาที่จะเป็นผู้กำหนดแฟชั่น นั่นปล่อยให้เป็นงานของคนอื่นที่มีงานสำคัญน้อยกว่า” เซอร์นอร์แมน ฮาร์ตเนลล์ นักออกแบบของราชวงศ์อังกฤษกล่าวในการให้สัมภาษณ์กับนิวยอร์กไทมส์ (New York Times) ในปี 1953

สมเด็จพระราชินีนาถเอลิซาเบธที่ 2 มักฉลองพระองค์สีน้ำเงิน ทำให้มีการคาดเดากันว่า เป็นสีโปรดของพระองค์ อย่างตอนที่เสด็จเยือนซาอุดีอาระเบีย พระองค์ทรงสวมผ้าโพกพระเกศาสีเดียวกับฉลองพระองค์

ที่มาของภาพ, Getty Images

นั่นคือปีที่มีการจัดพระราชพิธีบรมราชาภิเษกของสมเด็จพระราชินีนาถเอลิซาเบธที่ 2 แต่เมื่อเวลาผ่านไป รูปแบบฉลองพระองค์ของสมเด็จพระราชินีนาถเอลซาเบธที่ 2 ก็ได้กลายเป็นมาตรฐานสำหรับผู้นำหญิงในโลกตะวันตก

พระองค์ทรงสวมรองพระบาทที่มีพระปราษณี (ส้น) สูง 2 นิ้ว และชายฉลองพระองค์กระโปรงต่ำกว่าพระชานุ (เข่า) โดยขอบฉลองพระองค์กระโปรงจะมีน้ำหนักทิ้งตัวลง เพื่อหลีกเลี่ยงไม่ให้เกิดเหตุเสื่อมเสียพระเกียรติ

พระมาลา (หมวก) มีปีกเล็กและสูง สมเด็จพระราชินีนาถเอลิซาเบธที่ 2 มักจะทรงสวมพระมาลา ผ้าคลุมพระเกศา หรือรัดเกล้า อยู่เสมอ เมื่อเสด็จพระราชดำเนินไปนอกพระราชวัง โดยสีที่ทรงโปรดคือ สีเหลืองเลม่อน หรือสีแสด กลายเป็นแบบอย่างการแต่งกายของผู้หญิงที่มีอำนาจ

เชื่อว่า สีน้ำเงินเป็นสีที่พระองค์ทรงโปรดที่สุด และพระองค์ทรงมักเลือกฉลองพระองค์สีน้ำเงินในการเสด็จร่วมงานกีฬาต่าง ๆ

ยังไม่แน่ชัดว่า หลังจากพระองค์สวรรคต ฉลองพระองค์ของสมเด็จพระราชินีนาถเอลิซาเบธที่ 2 จะได้รับการเก็บรักษาไว้ที่ไหน แต่ฉลองพระองค์ของสมเด็จพระราชินีนาถวิกตอเรียและสมาชิกราชวงศ์ที่ประชาชนชื่นชอบอย่างไดอาน่า เจ้าหญิงแห่งเวลส์ ได้รับการจัดแสดงอยู่ตามพิพิธภัณฑ์หลายแห่ง

กระเป๋าทรงถือ

บางทีของใช้ที่ผู้คนคุ้นตามากที่สุดของพระองค์คือ กระเป๋าทรงถือ

มีการคาดเดากันมานานถึงสิ่งของที่อยู่ในกระเป๋าทรงถือของสมเด็จพระราชินีนาถเอลิซาเบธที่ 2

ที่มาของภาพ, Getty Images

พระองค์ทรงมีกระเป๋าทรงถือ 1 ใบเวลาเสด็จออกงานต่าง ๆ และแม้แต่ในพระราชกรณียกิจทางการสุดท้าย พระองค์ก็ทรงถือกระเป๋าทรงถือด้วยเช่นกัน

กระเป๋าของพระองค์เป็นของยี่ห้ออังกฤษที่ชื่อว่า Launer และว่ากันว่า พระองค์ทรงมีทั้งหมด 200 ใบ ซึ่งทุกใบมีการทำสายให้ยาวขึ้น เพื่อช่วยให้พระองค์ทรงจับมือกับผู้เข้าเฝ้าได้อย่างสะดวก

เจรัลด์ บอดเมอ เจ้าของ Launer กล่าวว่า สมเด็จพระราชินีนาถเอลิซาเบธที่ 2 ทรงเป็น “สตรีที่ยอดเยี่ยมเปี่ยมไปด้วยพระบารมี”

“พระองค์ตรัสกับผมในหลายโอกาสที่ผมได้เข้าเฝ้าว่า พระองค์ทรงรู้สึกว่า ทรงฉลองพระองค์ไม่ครบ ถ้าไม่มีกระเป๋าทรงถือ” เขากล่าวกับบีบีซี

มีการคาดเดากันมานานเกี่ยวกับสิ่งของที่อยู่ในกระเป๋าทรงถือของพระองค์ นักวิจารณ์บางส่วนอ้างว่า พระองค์ทรงมีธนบัตรใบละ 5 ปอนด์พับเก็บไว้ข้างในอยู่เสมอ เพื่อบริจาคให้กับโบสถ์ในวันอาทิตย์ นอกจากนี้ก็มีลิปสติก และพระฉาย (กระจก) ด้วย

อีกหลายคนบอกว่า ทรงมีโทรศัพท์เคลื่อนที่เพื่อทรงใช้โทรหาพระราชนัดดาของพระองค์ด้วย

สมเด็จพระราชินีนาถเอลิซาเบธที่ 2 ทรงถือกระเป๋าทรงถือ 1 ใบในทุกโอกาส

ที่มาของภาพ, Getty Images

บทความของบีบีซี คัลเจอร์ (BBC Culture) ในปี 2018 ระบุว่า เชื่อว่าสมเด็จพระราชินีนาถทรงใช้กระเป๋าทรงถือในการสื่อสารเป็นนัยกับข้าราชบริพารของพระองค์ด้วย ยกตัวอย่าง ถ้าพระองค์ทรงวางกระเป๋าทรงถือไว้บนโต๊ะเสวยพระกระยาหารค่ำ เป็นการส่งสัญญาณว่า พระองค์ทรงมีพระราชประสงค์ให้การรับประทานอาหารยุติลง

หงส์และโลมา

ตามกฎหมายแล้ว หงส์ใบ้สีขาวที่ไม่มีสัญลักษณ์บ่งบอกความเป็นเจ้าของในอังกฤษและเวลส์ ถือเป็นของกษัตริย์

สมเด็จพระราชินีนาถเอลิซาเบธที่ 2 ทอดพระเนตรการสำรวจประชากรหงส์ในปี 2009 พร้อมกับเดวิด บาร์เบอร์ นักตีตราหงส์ (คนที่อยู่ทางซ้ายของพระองค์)

ที่มาของภาพ, Getty Images

ในแต่ละปี จะมีการสำรวจประชากรหงส์ในแม่น้ำเทมส์ในลอนดอน และนำมาตีตรา

โดยการสำรวจประชากรหงส์มีความเป็นมาตั้งแต่ศตวรรษที่ 12 ซึ่งกษัตริย์ทรงอ้างความเป็นเจ้าของของหงส์ใบ้ที่ไม่มีสัญลักษณ์ทุกตัวในแหล่งน้ำเพื่อที่จะให้มั่นใจว่า มีวัตถุดิบพร้อมสำหรับจัดงานเลี้ยง

“แน่นอนว่า ปัจจุบันไม่มีการรับประทานหงส์อีกต่อไป และมีแต่การอนุรักษ์และการศึกษา” เดวิด บาร์เบอร์ นักตีตราหงส์ของกษัตริย์กล่าว

เขาเป็นนักตีตราหงส์ของสมเด็จพระราชินีนาถเอลิซาเบธที่ 2 มานาน 30 ปี จนถึงช่วงที่พระองค์เสด็จสวรรคต

นอกจากนี้โลมาที่พบในระยะ 3 ไมล์ หรือประมาณ 4.8 กิโลเมตร จากชายฝั่งก็ถือเป็นของกษัตริย์เช่นกัน

การเป็นเจ้าของตามกฎหมายเช่นนี้เริ่มมาตั้งแต่ปี 1324 เมื่อกษัตริย์เอ็ดเวิร์ดที่ 2 ทรงเป็นกษัตริย์อังกฤษ กฎหมายบัญญัติไว้ว่า “กษัตริย์ทรงเป็นเจ้าของวาฬและสเตอร์เจียนที่จับได้ในทะเลหรือที่อื่นในราชอาณาจักร”

บทบัญญัตินี้ยังคงมีผลบังคับใช้ในปัจจุบัน โดยวาฬและโลมาได้รับการยอมรับว่า เป็น “สมาชิกราชวงศ์ที่เป็นปลา” (Fishes Royal)

หลังจากที่สมเด็จพระราชชนนีสวรรคต กษัตริย์ชาร์ลส์ที่ 3 ทรงได้รับมรดกเป็นสัตว์ตามธรรมชาติเหล่านี้ด้วย

ม้า

มีการพูดถึงความรักสุนัขของสมเด็จพระราชินีนาถเอลิซาเบธที่ 2 กันมาก โดยว่ากันว่า พระองค์ทรงมีสุนัขคอร์กี้ทรงเลี้ยงมากกว่า 30 ตัวตลอดพระชนม์ชีพของพระองค์

แต่ยังมีสัตว์อีกชนิดหนึ่งที่อยู่ในพระทัยของพระองค์เช่นกัน เชื่อกันว่า พระองค์ทรงเป็นเจ้าของม้าจำนวนมาก

สมเด็จพระราชินีนาถเอลิซาเบธที่ 2 ทรงโปรดการทรงม้าตั้งแต่ยังทรงพระเยาว์

ที่มาของภาพ, Getty Images

สมเด็จพระราชินีนาถเอลิซาเบธที่ 2 ทรงเรียนการทรงม้าด้วยการขี่ม้าพันธุ์เล็กจากหมู่เกาะเชตแลนด์ที่ชื่อว่า เพ็กกี้ ซึ่งเป็นม้าพระราชทานจากกษัตริย์จอร์จที่ 5 สมเด็จพระอัยกาของพระองค์ในโอกาสที่เจ้าหญิงเอลิซาเบธ ในขณะนั้นทรงมีชันษาครบ 4 ปี

ต่อมา พระองค์ทรงได้รับ รอยัล สตัด (Royal Stud) ศูนย์ผสมพันธุ์ม้าแข่งที่พระตำหนักซานดริงแฮม เป็นมรดกตกทอด โดยที่นี่ได้ผลิตม้าที่ชนะการแข่งขันให้แก่พระองค์หลายตัว

เซอร์ไมเคิล สเตาต์ นักฝึกม้า ซึ่งได้ควบคุมการฝึกหัดม้าหลวงที่ชนะการแข่งขันมากกว่า 100 ตัว ถวายสมเด็จพระราชินีนาถเอลิซาเบธที่ 2 กล่าวว่า เขาดีใจที่ได้ถวายงานแก่พระองค์

“ผมพบว่า การฝึกหัดม้าถวายสมเด็จพระราชินีนาถฯ ไม่มีแรงกดดันเลย เพราะพระองค์ทรงเข้าพระทัย ทรงมีความรู้อย่างลึกซึ้งและทรงต้องการเรียนรู้เพิ่มเติม” เขากล่าว

สมเด็จพระราชินีนาถเอลิซาเบธที่ 2 ทรงมักจะพระราชทานชื่อม้าของพระองค์เพื่อสื่อความหมายที่ชัดเจน เช่น ดิวตี้ บาวด์ (Duty Bound อาจแปลได้ว่า ภาระหน้าที่), คอนสติติวชัน (Constitution อาจแปลได้ว่า รัฐธรรมนูญ) และดิสครีชัน (Discretion อาจแปลได้ว่า ดุลยพินิจ)

“ตัวอย่างเล็ก ๆ อย่างหนึ่งในการใส่ใจรายละเอียดของพระองค์คือ พระองค์จะไม่ทรงใช้พระสุคนธ์ (น้ำหอม) เมื่อเสด็จเยือนสนามม้า เพื่อทอดพระเนตรม้าของพระองค์ เพราะกลิ่นของพระสุคนธ์สามารถกระตุ้นม้าหนุ่มที่เทสโทสเตอโรนพลุ่งพล่านได้” แคลร์ บอลดิง ผู้ประกาศ ซึ่งมีปู่ พ่อ และพี่ชาย ถวายการฝึกม้าแก่สมเด็จพระราชินีนาถเอลิซาเบธที่ 2 กล่าว

ในฐานะเจ้าของ สมเด็จพระราชินีนาถเอลิซาเบธที่ 2 ทรงเคยชนะการแข่งขันม้าแข่งที่เก่าแก่ของอังกฤษ หรือ บริติช คลาสสิก (British Classic) 4 ใน 5 การแข่งขัน

รถยนต์พระที่นั่ง

ในการเสด็จประกอบพระราชกรณียกิจอย่างเป็นทางการ สมเด็จพระราชินีนาถเอลิซาเบธที่ 2 ทรงใช้ราชรถม้าหรือรถยนต์พระที่นั่งเบนท์ลีย์ (Bentley) ที่สั่งทำสำหรับพระองค์ โดยมีข้าราชบริพารขับรถถวาย

สมเด็จพระราชินีนาถเอลิซาเบธที่ 2 ทรงมักพระเกษมสำราญเมื่อทรงขับรถ

ที่มาของภาพ, Getty Images

อย่างไรก็ตาม มักจะพบเห็นพระองค์ทรงขับรถยนต์แลนด์ โรเวอร์ (Land Rover) ในพระราชกรณียกิจที่ไม่เป็นทางการเป็นประจำ

การขับรถคือกิจกรรมที่ทรงโปรดปรานอย่างหนึ่งของสมเด็จพระราชินีนาถเอลิซาเบธที่ 2 และเจ้าชายฟิลิป พระราชสวามีซึ่งสวรรคตไปแล้ว ทั้งสองพระองค์ทรงโปรดรถยนต์ของจากัวร์ (Jaguar) และแลนด์ โรเวอร์ (Land Rover) ซึ่งเป็นบริษัทของอังกฤษมาก แต่ปัจจุบันกลายเป็นของทาทา บริษัทของอินเดีย

ก่อนที่จะเสด็จขึ้นครองราชย์ เจ้าหญิงเอลิซาเบธทรงเคยอาสาขับรถบรรทุกและซ่อมเครื่องยนต์ในช่วงสงครามโลกครั้งที่ 2

บางครั้งพระองค์ทรงใช้ทักษะในการขับรถสร้างความบันเทิงแก่พระราชอาคันตุกะ

ในเดือน ก.ย. 1998 สมเด็จพระราชินีนาถเอลิซาเบธที่ 2 พระราชทานเลี้ยงพระกระยาหารกลางวันแก่เจ้าชายอับดุลเลาะห์ มกุฎราชกุมารแห่งซาอุดีอาระเบียในขณะนั้นที่ปราสาทบัลมอรัล หลังจากนั้นทรงเชิญมกุฎราชกุมารแห่งซาอุดีอาระเบียเดินทางชมปราสาทที่มีเนื้อที่ 20,000 เฮกเตอร์ หรือประมาณ 125,000 ไร่

จากบันทึกความทรงจำของเชอราร์ด คูเพอร์-โคลส์ อดีตนักการทูตอังกฤษ ระบุว่า เจ้าชายอับดุลเลาะห์ซึ่งทรงมีท่าทีลังเลพระทัยในตอนแรก ทรงตอบรับคำเชิญและทรงประทับนั่งที่ที่นั่งผู้โดยสาร

จากนั้นเจ้าชายจากซาอุดีอาระเบียก็ทรงประหลาดพระทัย เมื่อสมเด็จพระราชินีนาถเอลิซาเบธที่ 2 ทรงขึ้นรถโดยประทับนั่งที่นั่งคนขับ พระองค์ทรงขับไปตามที่ราบสูงของสกอตแลนด์และ “ทรงมีพระราชปฏิสันถารอยู่ตลอดเวลา”

เจ้าชายอับดุลเลาะห์ทรงกังวลพระทัย และทูลขอร้องให้สมเด็จพระราชินีนาถเอลิซาเบธที่ 2 ทรงชะลอความเร็วลง

เหตุการณ์นี้เกิดขึ้นนานก่อนที่ผู้หญิงจะได้รับอนุญาตให้ขับรถในซาอุดีอาระเบีย

รายงานของสื่ออังกฤษประเมินว่า รถยนต์ที่สมเด็จพระราชินีนาถเอลิซาเบธที่ 2 ทรงสะสมมีมูลค่ามากกว่า 10 ล้านดอลลาร์สหรัฐ (ประมาณ 360 ล้านบาท) และระบุว่า พระองค์ทรงเป็นเจ้าของรถแลนด์ โรเวอร์ มากกว่า 30 คัน ตลอดพระชนม์ชีพของพระองค์

ถือครองที่ดิน

การจัดอันดับเศรษฐีของซันเดย์ ไทมส์ (Sunday Times) ในปี 2022 ได้ประเมินว่า สมเด็จพระราชินีนาถเอลิซาเบธที่ 2 ทรงมีทรัพย์สินส่วนพระองค์มูลค่ามากกว่า 370 ล้านปอนด์ (ประมาณ 15,500 ล้านบาท) ส่วนใหญ่มาจากอสังหาริมทรัพย์ อัญมณี แสตมป์ และผลงานศิลปะ

อสังหาริมทรัพย์ขนาดใหญ่บางส่วน อย่างปราสาทบัลมอรัล ซึ่งสมเด็จพระราชินีนาถเอลิซาเบธที่ 2 เสด็จสวรรคต เป็นทรัพย์สินส่วนพระองค์ของราชวงศ์อังกฤษ

ที่มาของภาพ, Getty Images

กษัตริย์ของอังกฤษพระองค์นี้ยังคงถือครองพระตำหนักอีกหลายแห่งและที่ดินสาธารณะอีกจำนวนมากมายมหาศาล ภายใต้สำนักงานทรัพย์สินส่วนพระมหากษัตริย์ (Crown Estate) ซึ่งไม่ใช่ทรัพย์สินส่วนพระองค์และไม่สามารถนำไปขายได้

สำนักงานทรัพย์สินส่วนพระมหากษัตริย์รวมถึงสนามแข่งม้าแอสคอต (Ascot) ในมณฑลเบิร์กเชียร์ และพื้นที่ส่วนใหญ่ของถนนรีเจนต์ (Regent Street) ในกรุงลอนดอนด้วย

สำนักงานนี้ยังเป็นเจ้าของพื้นดินใต้ทะเล 12 ไมล์ทะเลนับจากชายฝั่งส่วนใหญ่ของสหราชอาณาจักร นั่นหมายความว่า บริษัทจำนวนมากที่สร้างฟาร์มกังหันลมนอกชายฝั่งจะต้องจ่ายเงินส่วนแบ่งให้แก่กษัตริย์อังกฤษ

ปัจจุบัน กษัตริย์อังกฤษทรงมีสิทธิ์ในผลกำไรของสำนักงานทรัพย์สินส่วนพระมหากษัตริย์ 25% เพิ่มขึ้นจากระดับ 15% ในปี 2017 เพื่อช่วยจ่ายค่าบูรณะปฏิสังขรณ์พระราชวังบักกิงแฮมนาน 10 ปี

ผลกำไรจะเข้าสู่พระคลัง ซึ่งจะนำไปจ่ายเงินปีส่วนพระมหากษัตริย์ (Sovereign Grant)

มรดกตกทอดของราชวงศ์

สมเด็จพระราชินีนาถเอลิซาเบธยังทรงได้รับมรดกตกทอดที่เป็นของใช้ส่วนพระองค์จากกษัตริย์พระองค์ก่อน ๆ ด้วย โดยได้มีการเก็บรักษาไว้ที่งานสะสมศิลปะหลวงของพระราชวงศ์อังกฤษ (Royal Collection) ซึ่งคาดว่า ได้มีการพระราชทานต่อให้กับกษัตริย์ชาร์ลส์ที่ 3

สมเด็จพระราชินีนาถวิกตอเรีย ทรงทำให้ชุดแต่งงานสีขาวได้รับความนิยม

ที่มาของภาพ, Getty Images

โดยของใช้ส่วนพระองค์เหล่านี้รวมถึงฉลองพระองค์อภิเษกสมรสของสมเด็จพระราชินีนาถวิกตอเรีย

สมเด็จพระราชินีนาถวิกตอเรียทรงได้รับการยอมรับว่า เป็นผู้ที่ทำให้ชุดแต่งงานสีขาวได้รับความนิยม ซึ่งเป็นสัญลักษณ์ของความบริสุทธิ์และความถูกต้อง

งานสะสมศิลปะหลวงของพระราชวงศ์อังกฤษ ยังมีฉลองพระองค์ชุดเกราะที่กษัตริย์เฮนรีที่ 8 ทรงเคยสวมด้วย

พระองค์ทรงไม่เห็นด้วยกับสมเด็จพระสันตะปาปาและได้แยกคริสตจักรแห่งอังกฤษ (Church of England) ออกมาให้เป็นอิสระ ทรงแต่งตั้งพระองค์เองเป็นพระประมุขของคริสตจักรแห่งอังกฤษ โดยบทบาทนี้จะตกทอดต่อไปยังกษัตริย์พระองค์ต่อ ๆ ไปด้วย

อัญมณี

เมื่อคนจำนวนมากนึกถึงราชวงศ์ ก็มักจะนึกถึงทองคำหรือเพชรระยิบระยับ

อัญมณีล้ำค่าบนพระมงกุฎ รวมถึงเพชรเม็ดใหญ่ที่สุดในโลกบางส่วน

ที่มาของภาพ, Getty Images

จักรวรรดิอาณานิคมของอังกฤษเป็นจักรวรรดิที่ใหญ่ที่สุดในประวัติศาสตร์ของมนุษยชาติ ทำให้ราชวงศ์อังกฤษได้ครอบครองเพชรที่เนื้อดีที่สุดและอัญมณีล้ำค่าที่สุดบางส่วน

โดยมีการวิพากษ์วิจารณ์กันเกี่ยวกับวิธีที่อัญมณีจำนวนมากเหล่านี้ตกมาอยู่ในพระหัตถ์ของกษัตริย์อังกฤษ และได้มีการเรียกร้องขอให้อังกฤษส่งอัญมณีล้ำค่าบนพระมงกุฎคืนให้แก่ประเทศต้นกำเนิด รวมถึงเพชรคัลลิแนน (Star of Africa) และเพชรโคอินัวร์ (Koh-i-Noor)

จริง ๆ แล้ว กษัตริย์อังกฤษไม่ได้ทรงเป็นเจ้าของอัญมณีล้ำค่าเหล่านี้ แต่ทรงครอบครองไว้แทนคนทั้งประเทศ และทรงสวมใส่เฉพาะในโอกาสพิเศษ เช่น พระราชพิธีบรมราชาภิเษกและการเสด็จเปิดรัฐสภา

อย่างไรก็ตาม มีอัญมณีอีกชุดหนึ่งที่สมเด็จพระราชินีนาถเอลิซาเบธที่ 2 ทรงเป็นเจ้าของ ไม่ได้เกี่ยวข้องกับอัญมณีบนพระมงกุฎ โดยอัญมณีส่วนใหญ่เหล่านี้ได้ตกทอดสู่กษัตริย์ชาร์ลส์ที่ 3

ยกตัวอย่าง สมเด็จพระราชินีนาถทรงเคยพระราชทานพระบรมราชานุญาตให้สมเด็จพระราชินีคามิลลา พระชายาของกษัตริย์ชาร์ลส์ที่ 3 ทรงสวมรัดเกล้าที่เจิดจรัสที่สุดองค์หนึ่งของงานสะสมศิลปะหลวงของพระราชวงศ์อังกฤษ และต่อไปนี้เราอาจจะเห็นสมาชิกราชวงศ์พระองค์อื่น ๆ ทรงสวมใส่เครื่องประดับชิ้นอื่น ๆ รวมถึงสร้อยพระศอ (สร้อยคอ) และพระกุณฑล (ตุ้มหู) ไข่มุก ที่ครั้งหนึ่งเคยเป็นเครื่องประดับที่สมเด็จพระราชินีนาถเอลิซาเบธที่ 2 ทรงสวมใส่จนเป็นที่จดจำของผู้คน

การฝังพระบรมศพ

แม้ว่ากษัตริย์ชาร์ลส์ที่ 3 น่าจะทรงครอบครองชุดอัญมณีต่าง ๆ เกือบทั้งหมดของสมเด็จพระราชินีนาถเอลิซาเบธที่ 2 แต่ผู้เชี่ยวชาญคาดเดาว่า จะมีการนำอัญมณี 2 ชิ้นฝังพร้อมกับพระบรมศพของสมเด็จพระราชินีนาถเอลิซาเบธที่ 2 ด้วย

ลิซา เลวินสัน หัวหน้าฝ่ายสื่อสารที่สภาเพชรธรรมชาติ (Natural Diamond Council) เชื่อว่า เครื่องประดับ 2 ชิ้นนั้นคือ พระธำมรงค์ทองคำของเวลส์ในพิธีอภิเษกสมรส 1 วง และพระกุณฑลไข่มุก 1 คู่

ถ้าเรื่องนี้เกิดขึ้นจริง คนบางส่วนก็มองว่า นี่คือการแสดงออกถึงความเรียบง่ายของสมเด็จพระราชินีนาถเอลิซาเบธที่ 2 เป็นครั้งสุดท้าย

สมเด็จพระราชินีนาถเอลิซาเบธที่ 2 ทรงส่งต่อทรัพย์สมบัติต่าง ๆ ให้แก่กษัตริย์ชาร์ลส์ที่ 3 พระราชโอรส

ที่มาของภาพ, Getty Images

…..

ข่าว บีบีซี ไทย ที่เผยแพร่ในเว็บไซต์ ประชาชาติธุรกิจ เป็นความร่วมมือของสององค์กรข่าว