สงครามยูเครน : รัสเซียมีอาวุธนิวเคลียร์อยู่เท่าไร

  • ทีมวารสารศาสตร์เชิงภาพ
  • บีบีซี นิวส์
Promo image showing several missiles

ประธานาธิบดี วลาดิเมียร์ ปูติน ประกาศ “ระดมกำลังพลบางส่วน” ไปยังสมรภูมิยูเครน พร้อมขู่จะใช้ “สรรพกําลังทั้งหมดที่เรามี” เพื่อปกป้องดินแดนของรัสเซีย จนก่อให้เกิดความวิตกกังวลไปทั่วโลก

อย่างไรก็ตาม บรรดานักวิเคราะห์ชี้ว่า หากพิจารณาจากคำเตือนครั้งก่อน ๆ ของนายปูติน ก็น่าจะพอตีความได้ว่า ท่าทีล่าสุดของเขาน่าจะเป็นคำเตือนเพื่อป้องปรามไม่ให้ประเทศอื่นเข้าไปข้องเกี่ยวในสงครามยูเครนให้มากไปกว่านี้ ไม่น่าจะเป็นการส่งสัญญาณถึงความต้องการใช้อาวุธนิวเคลียร์แต่อย่างใด

โลกเรามีอาวุธนิวเคลียร์มาเกือบ 80 ปีแล้ว และหลายประเทศมองว่ามันคือเครื่องมือในการป้องปรามการโจมตีจากศัตรู และช่วยรับประกันความมั่นคงของชาติ

รัสเซียมีอาวุธนิวเคลียร์อยู่เท่าใด

กราฟิกแสดงจำนวนหัวรบนิวเคลียร์ของรัสเซีย

จำนวนอาวุธนิวเคลียร์ทั้งหมดที่ประเทศต่าง ๆ มี เป็นตัวเลขโดยประมาณ แต่สหพันธ์นักวิทยาศาสตร์อเมริกัน (Federation of American Scientists หรือ FAS) คาดว่า รัสเซียมีหัวรบนิวเคลียร์ ซึ่งเป็นอุปกรณ์จุดชนวนระเบิดนิวเคลียร์อยู่ 5,977 หัว ในจำนวนนี้ราว 1,500 หัวเป็นหัวรบที่ปลดประจำการแล้ว และกำลังจะรื้อถอนออกไป

หัวรบนิวเคลียร์ที่เหลืออีกราว 4,500 หัวนั้น ส่วนใหญ่เชื่อว่าเป็นอาวุธนิวเคลียร์เชิงยุทธวิธี เช่น ขีปนาวุธทิ้งตัว หรือจรวด ซึ่งสามารถเล็งเป้าโจมตีได้จากระยะไกล อาวุธเหล่านี้มักมีความเกี่ยวข้องกับการทำสงครามนิวเคลียร์

ส่วนที่เหลือเป็นอาวุธนิวเคลียร์ขนาดเล็กและมีอานุภาพการทำลายล้างน้อยกว่า ซึ่งมีพิสัยยิงสั้นสำหรับใช้ในสนามรบหรือในทะเล

อย่างไรก็ตาม นี่ไม่ได้หมายความว่า รัสเซียมีอาวุธนิวเคลียร์พิสัยไกลที่พร้อมใช้งานอยู่หลายพันลูก

บรรดาผู้เชี่ยวชาญประเมินว่า ปัจจุบันรัสเซียมีหัวรบนิวเคลียร์ที่ “ประจำการอยู่” กล่าวคือติดตั้งอยู่ที่ขีปนาวุธ และครื่องบินทิ้งระเบิด หรือเรือดำน้ำอยู่ราว 1,500 หัว

เทียบกับชาติอื่น

ปัจจุบันมี 9 ประเทศที่มีอาวุธนิวเคลียร์ในครอบครอง ได้แก่ จีน ฝรั่งเศส อินเดีย อิสราเอล เกาหลีเหนือ ปากีสถาน รัสเซีย สหรัฐฯ และสหราชอาณาจักร

กราฟิกแสดงจำนวนหัวรบนิวเคลียร์ของ 9 ประเทศ

จีน ฝรั่งเศส รัสเซีย สหรัฐฯ และสหราชอาณาจักร อยู่ในกลุ่ม 191 ชาติที่ร่วมลงนามในสนธิสัญญาไม่แพร่ขยายอาวุธนิวเคลียร์ (Nuclear Non-Proliferation Treaty หรือ NPT)

ภายใต้สนธิสัญญานี้ ประเทศที่ร่วมลงนามจะต้องลดการสะสมหัวรบนิวเคลียร์ และในทางทฤษฎีจะต้องมุ่งขจัดอาวุธที่มีอยู่ให้หมดสิ้นไป ซึ่งที่ผ่านมาได้ช่วยลดจำนวนการสะสมหัวรบนิวเคลียร์ทั่วโลกลงนับตั้งแต่ทศวรรษที่ 1970 และ 1980 เป็นต้นมา

อินเดีย อิสราเอล และปากีสถาน ไม่เคยร่วมลงนามใน NPT ขณะที่เกาหลีเหนือถอนตัวออกมาในปี 2003

อิสราเอลเป็นเพียงประเทศเดียวจากทั้ง 9 ประเทศที่ไม่เคยยอมรับอย่างเป็นทางการว่าดำเนินโครงการอาวุธนิวเคลียร์

ยูเครนไม่เคยมีอาวุธนิวเคลียร์ และถึงแม้จะมีข้อกล่าวหาจากประธานาธิบดีปูติน แต่ก็ไม่มีหลักฐานยืนยันว่ายูเครนพยายามที่จะครอบครองอาวุธชนิดนี้

อาวุธนิวเคลียร์มีอานุภาพทำลายล้างเพียงใด

อาวุธนิวเคลียร์ถูกออกแบบมาเพื่อสร้างความเสียหายขั้นสูงสุด

ระดับความรุนแรงของการทำลายล้างขึ้นอยู่กับหลายปัจจัยด้วยกัน เช่น

  • ขนาดของหัวรบ
  • การระเบิดอยู่เหนือพื้นดินแค่ไหน
  • สภาพแวดล้อมของจุดที่เกิดระเบิด
กราฟิกแสดงอำนาจทำลายล้างของอาวุธนิวเคลียร์

อย่างไรก็ตาม แม้แต่หัวรบนิวเคลียร์ขนาดเล็กที่สุดก็อาจทำให้มีผู้เสียชีวิตเป็นจำนวนมาก และก่อให้เกิดผลกระทบในระยะยาว

ระเบิดปรมาณูที่คร่าชีวิตผู้คนราว 146,000 คนในเมืองฮิโรชิมาของญี่ปุ่นในช่วงสงครามโลกครั้งที่ 2 มีขนาด 15 กิโลตัน

ในขณะที่หัวรบนิวเคลียร์ในปัจจุบันอาจมีขนาดได้ถึง 1,000 กิโลตัน

คาดว่าสิ่งมีชีวิตส่วนใหญ่จะตายลงทันทีในจุดที่ถูกระเบิดนิวเคลียร์ถล่มโดยตรง

โดยหลังจากเกิดแสงสว่างจ้าจากระเบิดที่อาจทำให้ตาบอดได้นั้น ก็จะมีลูกไฟขนาดยักษ์ตามมาพร้อม ๆ กับคลื่นกระแทกจากแรงระเบิดที่จะทำลายอาคารบ้านเรือน และสิ่งปลูกสร้างต่าง ๆ เป็นวงกว้างหลายกิโลเมตร

การป้องปรามด้วยอาวุธนิวเคลียร์คืออะไร

การป้องปรามด้วยอาวุธนิวเคลียร์มาจากทฤษฎีที่ว่า การมีอาวุธนิวเคลียร์อยู่ในการครอบครองจำนวนมาก จะช่วยป้องกันประเทศจากการโจมตีของศัตรู กล่าวคือยุทธศาสตร์นี้จะทำให้ศัตรูไม่กล้าใช้อาวุธนิวเคลียร์โจมตีก่อน เพราะจะต้องเผชิญการโต้กลับอย่างรุนแรงด้วยอาวุธนิวเคลียร์เช่นกัน

แม้หลายประเทศจะมีการทดสอบอาวุธนิวเคลียร์อยู่หลายครั้ง แต่ก็ไม่เคยมีชาติใดใช้อาวุธนิวเคลียร์ในการเผชิญหน้าทางทหารมาตั้งแต่ปี 1945

นโยบายของรัสเซียเองก็ยอมรับให้ใช้อาวุธนิวเคลียร์ได้เฉพาะการป้องปรามการโจมตีจากศัตรู และกำหนดเหตุผลในการใช้เอาไว้ 4 กรณี คือ

  • มีการยิงขีปนาวุธทิ้งตัวโจมตีดินแดนของสหพันธรัฐรัสเซียและชาติพันธมิตร
  • มีการใช้อาวุธนิวเคลียร์หรืออาวุธอานุภาพทำลายล้างสูงชนิดอื่นต่อสหพันธรัฐรัสเซียและชาติพันธมิตร
  • มีการโจมตีที่ทำการรัฐบาลและทหารที่สำคัญของสหพันธรัฐรัสเซียซึ่งเป็นภัยคุกคามต่อขีดความสามารถด้านอาวุธนิวเคลียร์ของชาติ
  • มีการรุกรานสหพันธรัฐรัสเซียโดยใช้อาวุธธรรมดาสามัญที่เป็นภัยคุกคามอย่างแท้จริงต่อการดำรงอยู่ของรัฐ
โปรดเปิดการใช้งาน JavaScript หรือบราวเซอร์ต่างออกไป เพื่ดูเนื้อหานี้

………

ข่าว BBCไทย ที่เผยแพร่ในเว็บไซต์ ประชาชาติธุรกิจ เป็นความร่วมมือของสององค์กรข่าว