เงินเฟ้อ : ทำไมไทยขึ้นดอกเบี้ยช้ากว่าสหรัฐฯ แล้วบาทจะอ่อนอีกแค่ไหน

  • วัชชิรานนท์ ทองเทพ
  • ผู้สื่อข่าวบีบีซีไทย

การทยอยปรับดอกเบี้ยนโยบายของสหรัฐฯ อย่างแข็งกร้าว กลายเป็นแรงกดดันต่อค่าเงินในภูมิภาค รวมทั้งค่าเงินบาทให้อ่อนค่าอย่างต่อเนื่อง ล่าสุดเช้านี้ค่าเงินบาทอ่อนค่าต่อเนื่องแตะ 38.30 บาทต่อดอลลาร์สหรัฐ

กลายเป็นโจทย์ที่ท้าทายสำหรับ ธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) ที่เพิ่งเริ่มขยับดอกเบี้ยนโยบายเป็นครั้งแรกในเดือน ส.ค. หลังจากคงดอกเบี้ยไว้ที่ 0.5% มาตั้งแต่เดือน พ.ค. 2563

ล่าสุด วันที่ 28 ก.ย. ที่ประชุมคณะกรรมการนโยบายการเงิน (กนง.) มีมติเป็นเอกฉันท์ให้ขึ้นอัตราดอกเบี้ยนโยบาย 0.25% ต่อปี จาก 0.75% เป็น 1.00% ต่อปี โดยให้มีผลทันที

นายปิติ ดิษยทัต เลขานุการ กนง. ให้เหตุผลว่า เศรษฐกิจไทยมีแนวโน้มฟื้นตัวต่อเนื่อง ตามแรงส่งของภาคท่องเที่ยวและการบริโภคภาคเอกชนเป็นสำคัญ ด้านอัตราเงินเฟ้อทั่วไปยังอยู่ในระดับสูงจากการส่งผ่านต้นทุนที่เพิ่มขึ้นในช่วงที่ผ่านมาแม้แรงกดดันด้านอุปทานจากราคาสินค้าโภคภัณฑ์มีแนวโน้มคลี่คลาย ในภาพรวมแนวโน้มเศรษฐกิจและเงินเฟ้อใกล้เคียงกับที่ได้ประเมินไว้ก่อนหน้า คณะกรรมการฯ เห็นว่าการทยอยปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยนโยบายยังเป็นแนวทางการดำเนินนโยบายที่เหมาะสม

ธนบัตร

ที่มาของภาพ, Getty Images

ในส่วนการอ่อนค่าของเงินบาทเทียบกับเงินสกุลดอลลาร์สหรัฐ กนง. มองว่าสอดคล้องกับสกุลเงินในภูมิภาค และจะติดตามพัฒนาการในตลาดการเงินและตลาดอัตราแลกเปลี่ยนอย่างใกล้ชิด โดยเฉพาะในช่วงที่ค่าเงินบาทมีความผันผวนสูง ภายใต้กรอบการดำเนินนโยบายการเงินที่มีเป้าหมายเพื่อรักษาเสถียรภาพราคา ควบคู่กับดูแลเศรษฐกิจให้เติบโตอย่างยั่งยืนและเต็มศักยภาพ และรักษาเสถียรภาพระบบการเงิน

อย่างไรก็ตาม จากผลพวงของการส่งสัญญาของธนาคารกลางของสหรัฐฯ หรือ เฟดที่จะทยอยปรับเพิ่มดอกเบี้ยนโยบายย่างต่อเนื่องเพื่อควบคุมภาวะเงินเฟ้อในสหรัฐฯ จนถึงปี 2567 กลายเป็นปัจจัยทำให้ค่าเงินบาทอ่อนค่าลงอ่อนสุดในรอบ 16 ปี จนทำให้สังคมกังวลและตั้งคำถามว่า ธปท. ปรับดอกเบี้ยนโยบายล่าช้าหรือไม่เพื่อรักษาระดับค่าของเงินบาท

นักเศรษฐศาสตร์จากธนาคารโลกและสถาบันวิจัยเพื่อการพัฒนาประเทศไทย (ทีดีอาร์ไอ) ให้ความเห็นไปในทิศทางเดียวกันว่า แนวทางการปรับดอกเบี้ยนโยบายของ ธปท. จำเป็นต้องอยู่ในสมดุลยภาพที่ดี (fine balance) ระหว่างการพยุงค่าเงินบาท และการกระตุ้นเศรษฐกิจในระหว่างที่เศรษฐกิจอยู่ในระยะฟื้นตัว

ATM

ที่มาของภาพ, Watchiranont Thongtep/BBC Thai

ดร. กิริฎา เภาพิจิตร ผู้อำนวยการวิจัย นโยบายเศรษฐกิจระหว่างประเทศและการพัฒนา และผู้อำนวยการโครงการวิเคราะห์เศรษฐกิจเชิงลึก จากทีดีอาร์ไอ บอกกับบีบีซีไทยว่า การตัดสินใจขึ้นอัตราดอกเบี้ยนโยบายของ กนง. ครั้งที่แล้ว เป็นผลมาจากข้อมูลพื้นที่ฐานในขณะนั้น

“การปรับเพิ่มดอกเบี้ย (นโยบายของไทย) ถ้าถามว่าช้าเกินไปไหม ณ ตอนนั้นที่เราปรับเพิ่มขึ้น ถ้าให้มอง คิดว่าไม่ได้ช้าไป วันนี้พอเราลองมองย้อนกลับจะดูเหมือนช้าไป ข้อมูล ณ วันนี้เศรษฐกิจไทยยังไม่ได้ฟื้นตัวอย่างเต็มที่ ถ้าขึ้นดอกเบี้ยไปแรง ๆ อาจจะทำให้ประชาชนเดือนร้อน” ดร. กิริฎาอธิบาย

นอกจากนี้ อดีตนักเศรษฐศาสตร์อาวุโสให้กับธนาคารโลกรายนี้กล่าวเพิ่มเติมอีกว่า ส่วนปัญหาเงินเฟ้อส่วนใหญ่ก็มาจากต้นทุนภายนอกที่ไทยนำเข้ามา เช่น พลังงานเชื้อเพลิง เหล็ก และปุ๋ย การขึ้นดอกเบี้ยในประเทศไปก็ไม่ได้ช่วยลดเงินเฟ้อไม่ได้

“อย่างไรก็ตาม สิ่งหนึ่งที่ไม่ได้อยู่ในการคาดการณ์คือ การที่สหรัฐฯ ขึ้นดอกเบี้ยนโยบายที่แรงและถี่ อย่างที่ประกาศมา ที่จะทำให้เงินทุนไหลออกปริมาณมากเหมือนวันนี้ ดังนั้นการทยอยปรับดอกเบี้ย 0.25% ในขณะนั้นถือว่าเป็นการตัดสินใจที่เหมาะสมกับช่วงเวลานั้น”

หนี้ครัวเรือนไทย

ที่มาของภาพ, AFP/Getty Images

ประเทศไทยเผชิญภาวะของแพงสูงสุดในรอบ 14 ปี โดยดัชนีเงินเฟ้อทั่วไปเมื่อเดือน ส.ค. อยู่ที่ 7.86% สูงกว่าเป้าที่ ธปท. ตั้งไว้ของทั้งปี 2565 ราว 1% – 3% แล้วปรับใหม่เป็น 6.3%

ด้านนายอาทิตยา มัตตู หัวหน้านักเศรษฐศาสตร์ประจำภูมิภาคเอเชียตะวันออกและแปซิฟิกของธนาคารโลก บอกกับบีบีซีไทยว่า ธปท. จะต้องหาจุดสมดุลที่เหมาะสมในการจัดการเรื่องดังกล่าว ไม่ว่าจะเป็นปัญหาเงินเฟ้อที่มีผลโดยตรงจากราคาพลังงานที่เพิ่มขึ้น ตามมาด้วยราคาอาหารที่เพิ่มสูงขึ้น อย่างไรก็ตาม หากพิจารณาอัตราเงินเฟ้อพื้นฐานแล้วยังถือว่าอยู่เกณฑ์ต่ำ

“หาก ธปท. คงอัตราดอกเบี้ยให้ต่ำจะเป็นการช่วยกระตุ้นเศรษฐกิจ แต่หากปรับเพิ่มขึ้นก็จะส่งผลกระทบต่อความต้องการภายในประเทศ แม้ว่าจะช่วยให้ลดแรงกดดันจากเงินทุนที่ไหลออกและอัตราแลกเปลี่ยนเงินตราระหว่างประเทศ” นายมัตตู กล่าว

ดอกเบี้ยนโยบายไทยเทียบสหรัฐฯ มีความต่างมากสุดในอาเซียน

แม้ว่าการปรับเพิ่มดอกเบี้ยนโยบายของสหรัฐฯ จะส่งผลกระทบต่อค่าเงินทั้งภูมิภาค แต่ประเด็นที่เป็นข้อถกเถียงกันคือ ความต่างระหว่างดอกเบี้ยนโยบายของไทย เมื่อเทียบกับอัตราดอกเบี้ยของสหรัฐฯ มีช่องว่างมากที่สุด และหากสหรัฐฯ ปรับอัตราดอกเบี้ยเพิ่มขึ้นเรื่อย ๆ ช่องว่างดังกล่าวยิ่งจะถ่างมากขึ้น ในขณะที่ไทยปรับขึ้นแบบค่อยเป็นค่อยไป

บีบีซีไทยตรวจสอบข้อมูลอัตราดอกเบี้ยนโยบายในประเทศกลุ่มอาเซียนที่สำคัญ อย่าง เวียดนาม, อินโดนีเซีย, ฟิลิปปินส์, มาเลเซีย และไทย เพื่อเปรียบเทียบกับอัตราดอกเบี้ยของสหรัฐฯ พบว่า อัตราดอกเบี้ยของไทยซึ่งอยู่ที่ 0.75% (ก่อนที่ ธปท. จะปรับเพิ่มดอกเบี้ยนโยบายล่าสุด) จะมีความต่างอยู่ที่ 2.25-2.50% หลังจากที่เฟดปรับเพิ่มดอกเบี้ยนโยบายมาเป็น 3.00-3.25% เมื่อช่วงกลางเดือนที่ผ่านมา

กราฟิก

ส่วนอัตราดอกเบี้ยนโยบายประเทศเพื่อนบ้าน ได้แก่ เวียดนามยังคงอัตราดอกเบี้ยไว้ที่ 4.00% ขณะที่ธนาคารกลางอินโดนีเซียเพิ่งปรับเพิ่มดอกเบี้ยนโยบายค่อนข้างรุนแรงจากเดือน ส.ค. ถึง 0.50% มาอยู่ที่ 4.25% เมื่อวันที่ 22 ก.ย. ที่ผ่านมา มาอยู่ในระดับเดียวกันกับฟิลิปปินส์ที่เริ่มทยอยปรับดอกเบี้ยขึ้นมาตั้งแต่เดือน พ.ค. ที่อยู่ในระดับ 2.25%

ขณะที่มาเลเซียก็ทยอยปรับขึ้นดอกเบี้ยมาเป็นระยะนับตั้งแต่ช่วงเดือน พ.ย. เช่นกัน จากเดิมที่คงอัตราดอกเบี้ย 1.75% ติดต่อมาหลายเดือน และค่อยปรับขึ้นเป็น 2.00% ในเดือน พ.ย. และล่าสุดเมื่อวันที่ 6 ก.ย. มาอยู่ที่ 2.50%

“อัตราดอกเบี้ยนโยบายของไทยเทียบกับสหรัฐฯ เราน่าจะมีความห่างมากที่สุดแล้วในภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ หากพิจารณาจากข้อมูลข้างต้น เมื่อมองย้อนกลับไปแล้วอาจจะมองว่า ไทยปรับอัตราดอกเบี้ยช้าไป” ดร. กิริฎาอธิบาย

ปรับขึ้น 0.25% กับ 0.50% ส่งผลต่างกันอย่างไร

จากการคาดการณ์ของศูนย์วิจัยกสิกรไทยที่เผยแพร่เมื่อวันที่ 27 ก.ย. ได้วิเคราะห์ว่า หากกนง. มีมติปรับขึ้นดอกเบี้ยนโยบายที่ 0.25% คงส่งผลให้ค่าเงินบาทยังคงเผชิญแรงกดดันให้อยู่ในทิศทางอ่อนค่าอย่างต่อเนื่อง

อย่างไรก็ดี หากในระยะข้างหน้า เฟดไม่ได้มีการส่งสัญญาณปรับขึ้นดอกเบี้ยเร็วและแรงกว่าที่ตลาดรับรู้ไปแล้ว ขณะที่หากการฟื้นตัวของภาคการท่องเที่ยวไทยเป็นไปตามคาดอาจส่งผลให้ดุลบัญชีเดินสะพัดพลิกกลับมาเกินดุลได้ในช่วงปลายปีนี้ ซึ่งก็อาจเป็นปัจจัยหนุนต่อทิศทางค่าเงินบาทในระยะข้างหน้า อย่างไรก็ตาม หากทิศทางเงินเฟ้อสหรัฐฯ ยังคงไม่ลดลงอย่างชัดเจนและเฟดยังคงต้องเร่งการปรับขึ้นดอกเบี้ยนโยบายอย่างต่อเนื่องไปในการประชุมในไตรมาสสุดท้ายของปีนี้ ค่าเงินบาทคงเผชิญแรงกดดันให้อ่อนค่าอย่างต่อเนื่องไปจนถึงสิ้นปีนี้และการพลิกภาพกลับมาแข็งค่าของค่าเงินบาทคงล่าช้าออกไปกว่าเดิม

ดร.กิริฎา เภาพิจิตร

ที่มาของภาพ, TDRI

ขณะที่ ดร. กิริฎา มองว่า การปรับเพิ่มดอกเบี้ย 0.25% อาจจะไม่ส่งผลมากนักต่อการพยุงค่าเงินบาท รวมไปจนถึงกลายเป็นแรงจูงใจให้ธนาคารพาณิชย์ปรับเพิ่มดอกเบี้ยเงินกู้ (MLR) ขึ้น เนื่องจากสภาพคล่องทางการเงิน (liquidity) ถือว่าอยู่ในระดับดี โดยเฉลี่ย ณ เดือน ก.ค. สัดส่วนสินเชื่อจะอยู่ราว 78% ขณะที่เงินฝากอยู่ 22% และหลังจาการปรับดอกเบี้ยนโยบายครั้งที่แล้ว ธนาคารพาณิชย์ได้ปรับเพิ่มดอกเบี้ยเงินฝากเพื่อระดมเงินฝากไปแล้วก่อนหน้านี้ ซึ่งจะทำให้สภาพคล่องยังมีเพียงพอ

“ส่วนในกรณีที่ กนง. ปรับอัตราดอกเบี้ยนโยบายเพิ่มอีก 0.50% อาจจะมีผลกระทบมากกว่า และจูงใจธนาคารพาณิชย์ปรับเพิ่มดอกเบี้ยฝั่งเงินกู้เพิ่มขึ้น ในอดีต หาก กนง. ปรับเพิ่มดอกเบี้ยนโยบาย ธนาคารพาณิชย์จะปรับเพิ่มดอกเบี้ยเงินกู้ (MLR)ราว 60% ของดอกเบี้ยนโยบาย” เธออธิบาย

ส่วนผลกระทบต่อลูกหนี้เงินกู้อาจจะไม่กระทบมากนัก แต่นักเศรษฐศาสตร์รายนี้กังวัลคือ ระดับของภาวะเงินเฟ้อมากกว่า ที่กระทบกำลังซื้อของทุกคน

“ถ้าปรับดอกเบี้ยเพิ่มขึ้นน้อย ก็จะไม่มีผลต่อเม็ดเงินที่ไหลออกไป ทำให้ส่งผลร้ายต่อค่าเงินบาทที่อ่อนค่าเพราะการแข็งค่าของเงินดอลลาร์สหรัฐฯ โดยเฉพาะที่ช่องว่างระหว่างดอกเบี้ยนโยบายของไทยและสหรัฐฯ ยังห่างกันอยู่อย่างนี้” เธออธิบาย

ทิศทางค่าเงินบาทจะเป็นอย่างไร

หัวหน้านักเศรษฐศาสตร์ประจำภูมิภาคเอเชียตะวันออกและแปซิฟิกของธนาคารโลก บอกว่า “เป็นเรื่องยากที่จะคาดการณ์เกี่ยวกับอัตราเงินบาทในอนาคต แต่หากว่าเงินทุนจากตลาดหุ้นและพันธบัตรลดลง ในขณะที่การท่องเที่ยวเริ่มฟื้นตัว ก็อาจจะทำให้ค่าเงินบาทแข็งค่าขึ้น

ขณะที่ศูนย์วิจัยกสิกรไทยระบุว่า หากการฟื้นตัวของภาคการท่องเที่ยวไทยเป็นไปตามคาดอาจส่งผลให้ดุลบัญชีเดินสะพัดพลิกกลับมาเกินดุลได้ในช่วงปลายปีนี้ ซึ่งก็อาจเป็นปัจจัยหนุนต่อทิศทางค่าเงินบาทในระยะข้างหน้า

ผู้บริโภค

ที่มาของภาพ, Getty Images

ในการแถลงข่าวของ กนง. วันนี้ (28 ก.ย.) เลขานุการ กนง.มองว่า ทิศทางการอ่อนค่าของเงินบาทจะไม่ส่งผลกระทบต่อภาพรวมของเศรษฐกิจ ส่วนภาวะเงินเฟ้อน่าจะคลี่คลายลงในปลายปีนี้และกลับไปสู่ระดับช่วงที่คาดการณ์ในปีหน้า

ส่วนการคาดการณ์จำนวนนักท่องเที่ยวชาวต่างชาติในปีนี้น่าจะอยู่ที่ 9.5 ล้านคน และเพิ่มขึ้นเป็นสองเท่าในปีหน้าด้วยจำนวน 21 ล้านคน

….

ข่าว บีบีซี ไทย ที่เผยแพร่ในเว็บไซต์ ประชาชาติธุรกิจ เป็นความร่วมมือของสององค์กรข่าว